ปุ๋ยซาอุฯ 8 แสนตัน จ่อเข้าไทยดันราคาขึ้น 40%

ปุ๋ยซาอุฯ 8 แสนตันฉลุย 10 บริษัทเร่งทำรายละเอียดนำเข้า วอนกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ เร่งรับรองสูตร หากช้าหวั่นสินค้าขาดตลาด จับตาผู้ผลิตปรับราคาขึ้นเฉลี่ย 30-40% พาณิชย์เปิดตัวเลขนำเข้า 4 เดือนแรก พุ่ง 74% ยอดทะลุ 3.7 หมื่นล้าน ด้านเกษตรกร-ชาวสวนดิ้นช่วยตัวเอง 14 จังหวัดใต้จับมือซื้อปุ๋ยลอตใหญ่

ปัญหาปุ๋ยแพง ปุ๋ยขาดแคลน ที่ลากยาวมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลายลงในเร็ววัน และเมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมการค้าภายในได้อนุญาตให้โรงงานปรับราคาปุ๋ยตามต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า ป้องกันปัญหาปุ๋ยขาดแคลน อีกด้านหนึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเจรจากับหลายประเทศเพื่อนำเข้าปุ๋ยลอตใหญ่ราคาพิเศษ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร

รอรับข่าวดี ปุ๋ยซาอุฯ 8 แสนตัน

นายกองเอกเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจเกษตรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในสัปดาห์นี้ สมาคมพร้อมด้วยหอการค้าไทย และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประชุมร่วมกับผู้ส่งออกปุ๋ยซาอุดีอาระเบีย เพื่อจัดทำรายละเอียดการสั่งนำเข้าปุ๋ย

ตามที่รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ (จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้มีการเจรจาหลักการในเรื่องการนำเข้าไปก่อนหน้านี้ จาก 3 บริษัท คือ บริษัท SABIC, MA’ADEN (Saudi Arabian Mining Co.) และบริษัท ACO Group เบื้องต้นคาดว่าจะมีการนำเข้าแม่ปุ๋ยทั้งยูเรีย โพแทสเซียม และฟอสเฟต ช่วงแรกปริมาณรวม 8 แสนตันเศษ

หลังจากการประชุมรอบนี้ได้ข้อสรุปแล้ว บริษัทปุ๋ยที่มีความประสงค์จะนำเข้า 10 บริษัท จะทำรายละเอียดความต้องการนำเข้าในแต่ละราย การจัดการเรือขนส่ง ช่วงเวลาการขนส่ง รวมถึงราคาที่แต่ละรายจะตกลงซื้อขาย จากนั้นกรมการค้าภายในจะพิจารณาราคาจำหน่ายที่เหมาะสมในลำดับต่อไป

ส่วนราคาปุ๋ยตามที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ได้อนุญาตให้โรงงานปุ๋ยปรับราคาได้ตามต้นทุนการนำเข้าไปก่อนหน้านี้ ผู้ผลิตก็ได้แจ้งไปยังผู้ค้าปุ๋ยไปแล้วว่าจะมีการปรับขึ้นราคาหน้าโรงงานตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ตามหลักการพิจารณาของกระทรวงพาณิชย์

ที่จะดูจากวัตถุดิบที่นำเข้า แหล่งที่มา แต่ละช่วงที่สั่งเข้ามา และปริมาณที่นำเข้าลอตต่อลอต จากนั้นให้กรมการค้าภายในพิจารณาราคาจำหน่าย โดยจะให้โรงงานปุ๋ยมีกำไรระดับหนึ่งที่สามารถประคองธุรกิจได้

ทั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายรองนายกฯที่ใช้สูตร วิน-วินโมเดล เพื่อให้โรงงานอยู่ได้ และเกษตรกรจะต้องไม่ขาดแคลนปุ๋ย โดยเฉพาะช่วงที่ต้องการใช้ปุ๋ยมากในช่วงนี้ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีผลผลิตอาหารเพียงพอ และที่สำคัญจะสามารถเพิ่มผลผลิต ทำรายได้จากส่งออกได้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตอาหารกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมการค้าปุ๋ยฯระบุว่า ระดับราคาที่ปรับขึ้นไม่สามารถระบุได้ว่าจะปรับขึ้นแต่ละสูตรแต่ละรายในเรตเท่าไร เพราะขึ้นอยู่กับต้นทุนการนำเข้าของแต่ละโรงงาน

“ภาคเอกชนต้องขอให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งพิจารณารับรองสูตรปุ๋ยที่นำเข้าจากซาอุฯโดยเร็ว หากพิจารณาเร็วจะสามารถนำเข้าได้เร็ว จากปกติใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน และขอให้รัฐกำกับดูแลปัญหาการทำปุ๋ยปลอม และมาตรการการจำหน่ายปุ๋ยราคาพิเศษเพื่อป้องกันไม่ให้นำกลับมาหมุนเวียนขายซ้ำในตลาดอีก”

โรงผสมปุ๋ยจ่อขึ้นราคา 40%

แหล่งข่าวจากสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทยกล่าวในเรื่องนี้ว่า สัปดาห์นี้กระทรวงพาณิชย์ หอการค้าฯ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย จะมีการประชุมร่วมกันถึงแนวทางในการนำเข้าวัตถุดิบปุ๋ยจากซาอุดีอาระเบีย เพื่อเป็นวัตถุดิบเสริม และหลังจากกรมการค้าภายในอนุมัติให้ผู้ผลิตปุ๋ยสามารถปรับขึ้นราคาได้ตามต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าที่ปรับสูงขึ้น

คาดว่ากลุ่มผู้ผลิตปุ๋ยจะมีการพิจารณาปรับราคาขึ้นเฉลี่ย 30-40% เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เช่น ปุ๋ยยูเรีย ปรับขึ้นจาก 600 เหรียญสหรัฐ/ตัน เป็น 900 เหรียญสหรัฐ/ตัน และขณะนี้ปรับลดลงเหลือ 700 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่แม่ปุ๋ยสูตรฟอสฟอรัส ปรับขึ้นประมาณ 20% และที่ปรับขึ้นไปสูงสุดและไม่ปรับราคาลดลงเลย คือ สูตรของโพแทสเซียม ประมาณ 50%

ขณะนี้ภาคเอกชนก็รู้สึกกังวลกับสถานการณ์ต้นทุนการผลิตปุ๋ยที่ปรับสูงขึ้น และแม้ว่าจะได้รับอนุญาตให้มีการปรับราคาแล้ว แต่ก็ยังห่วงว่าเกษตรกรจะลดการใช้ปุ๋ย และจะทำให้ยอดขายในช่วงครึ่งปีหลังลดลงจากช่วงครึ่งปีแรก

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ไทยนำเข้าปุ๋ยช่วง 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) 2565 มูลค่า 37,262.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74.51% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แหล่งนำเข้าหลัก คือ จีน มูลค่า 10,050.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% มาเลเซีย 3,891.47 ล้านบาท เพิ่ม 137% กาตาร์ 3,489.91 ล้านบาท เพิ่ม 309% ซาอุดีอาระเบีย 3,373.33 ล้านบาท เพิ่ม 153.74% และรัสเซีย 2,697.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 243%

เกษตรกรดิ้นทุกทางลดต้นทุน

นายชูศักดิ์ กองทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทวีทองการเกษตร จำกัด ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เคมีเกษตรใน จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ราคาปุ๋ยเคมีที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรโดยตรงที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมาก ทำให้เกษตรกรปรับตัวเพื่อลดต้นทุน

ด้วยการหันมาใช้ปุ๋ยไม่เต็มสูตรแทน หรือลดปริมาณการใช้ปุ๋ยลง แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่หันไปใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากนัก เนื่องจากต้องใช้ปริมาณปุ๋ยต่อไร่มากกว่าปุ๋ยเคมีหลายเท่า และทำให้มีต้นทุนสูงและเห็นผลช้า

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ราคาปุ๋ยบางสูตรเริ่มมีราคาลดลง เช่น ปุ๋ยสูตร 46-0-0 เดือน พ.ค.-มิ.ย. ราคาลดลงมาเหลือกระสอบ (50 กก.) ละ 1,400 บาท จากเดิม 1,600-1,700 บาท แต่ถือว่ายังสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการนำเข้าวัตถุดิบปุ๋ยสูตรนี้จากซาอุดีอาระเบีย

นอกจากนี้ยังนำเข้าปุ๋ยเคมีจากมาเลเซียและเวียดนามด้วย แต่ปริมาณไม่มากนัก ขณะที่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ที่นำเข้าจากรัสเซีย ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ราคาปรับขึ้นจาก 1,400-1,500 เป็น 1,800 บาท และราคายังมีแนวโน้มปรับเพิ่มต่อเนื่อง

นางรุ่งนภา กาญจนเสน ชาวนาในพื้นที่ ต.ท่าทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ได้รับผลกระทบมากจากราคาปุ๋ยเคมีที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะปุ๋ยยูเรียราคาสูงถึง 1,600 บาท/กระสอบ ตนทำนา 28 ไร่ เดิมจ่ายค่าปุ๋ยเพียง 8,000 บาท แต่ปัจจุบันต้องจ่ายเพิ่มเป็น 22,400 บาท จึงเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยสูตรเพื่อลดต้นทุน แม้ว่าประสิทธิภาพจะไม่ได้เท่าปุ๋ยยูเรีย

นายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อยถ้ำพรรณรา (วคยถ.) จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาปุ๋ยเคมียังทรงตัวอยู่ในเกณฑ์สูงจากราคาที่ปรับขึ้นเมื่อต้นปี 2565 จาก 900 บาท/กระสอบ เป็น 1,600-1,700 บาท/กระสอบ เกษตรกรไม่มีกำลังซื้อจึงปรับลดต้นทุน ด้วยการหันมาใช้ปุ๋ยเคมีธาตุอาหารรองที่มีราคาถูกกว่าปุ๋ยเคมี 2-3 เท่า

นายอรุณ ไพชำนาญ ประธานกรรมการ กลุ่มเกษตรกรทำนาตะโหมด ต.ตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย 14 จังหวัดภาคใต้ กำลังหารือกันเพื่อซื้อปุ๋ยลอตใหญ่เพื่อให้ได้ส่วนลดแต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะลดเท่าใด

ส่งออกยังมั่นใจผลผลิตข้าวไม่ลด

นายวันนิวัต กิติเรียงลาภ รองเลขาธิการ บริษัท พงษ์ลาภ จำกัด เปิดเผยว่า ชาวนาอาจจะใช้ปุ๋ยลดลง และหากชาวนาหันมาใช้เกษตรอินทรีย์แทน แต่ยังไม่กระทบต่อปริมาณผลผลิตในการทำนารอบแรกของปีนี้ ส่วนการทำนา รอบ 2 และ 3 เชื่อว่าจะมีผลกระทบผลผลิตบ้าง ซึ่งทางสมาคมปุ๋ยฯร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เร่งนำเข้าปุ๋ย มาอย่างต่อเนื่องทำให้มั่นใจว่าปุ๋ยภายในประเทศจะไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน

สำหรับการส่งออกข้าว 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) มีปริมาณ 2,291,916 ตัน เพิ่มขึ้น 52.7% มูลค่า 39,445.8 ล้านบาท หรือ 1,203.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 36.4% จากปีก่อน

ด้านสถานการณ์ของบริษัทผู้ประกอบการปุ๋ยเคมีรายใหญ่อย่าง บริษัทไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) หรือ TCCC พบว่า ปิดบัญชีงวดสิ้นปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,578 ล้านบาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.22% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่ปิดบัญชีงวดไตรมาส 1/2565 ขาดทุนสุทธิ 80 ล้านบาทลดลง 126% YoY

โดย นายทาคาฮิโระ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ TCCC ได้รายงาน ตลาดหลักทรัพย์ ว่า สาเหตุที่ TCCC ขาดทุนเกิดจากการควบคุมราคาขายปุ๋ยเคมีของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถจำหน่ายปุ๋ยตามราคาต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นได้ ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

อย่างไรก็ตามแม้ว่า ราคาวัตถุดิบจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากอุปทานของปุ๋ยเคมีทั่วโลก “น้อยกว่า” อุปสงค์ ประกอบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการจำหน่ายปุ๋ยในไตรมาสที่ 2/2565 ด้วยเหตุนี้บริษัทจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะควบคุมการดำเนินการผลิตเพื่อรักษาอัตรากำไรให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อไป