วิกฤตปุ๋ยแพง โอกาสปรับรูปแบบทำเกษตร จี้รัฐปัดฝุ่นแผนพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์แห่งชาติ

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ลากยาวกระทบราคาปุ๋ยเคมีแพงเป็นประวัติการณ์ ลามกระทบต้นทุนทำเกษตร ความมั่นคงอาหารโลก วงเสวนา BioThai เกษตรกรชี้ เป็นโอกาสดี จุดเปลี่ยนส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ลดต้นทุน

วันที่ 22 มิถุนายน 2565 นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มูลนิธิชีววิถี (Bio thai) กล่าวในงาน เสวนา “ปุ๋ยแพง (ระบบเกษตรกรรมและอาหาร) ก็ไม่พัง” ว่า

ราคาปุ๋ยเคมีเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์โดยช่วงรอบปีที่ผ่านมาราคาปุ๋ยเคมีเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดทั้งนี้เนื่องจากหลายปัจจัยรวมกันได้แก่ การขึ้นราคาของแก๊สธรรมชาติและน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของการผลิตปุ๋ยเคมี สงครามในยูเครน ประกอบกับการจำกัดการส่งออกของผู้ผลิตปุ๋ยที่สำคัญ เช่น รัสเซีย และจีน

อย่างไรก็ตาม ราคาปุ๋ยเคมีเริ่มมีราคาสูงขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เช่น ราคาปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) เพิ่มขึ้นจาก 13,400 บาท/ตัน เมื่อเมษายนปี 2564 เป็น 28,000 บาท/ตัน ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 และปุ๋ยโพแทสเซียม (0-0-60) เพิ่มขึ้นจาก 12,250 บาท/ตัน เป็น 30,000 บาท/ตัน เป็นต้น (ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) โดย เมื่อสถิติเมื่อปี 2564 ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่ากว่า 70,102.7 ล้านบาท

ราคาปุ๋ยเคมีจึงส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ปลูกพืชและอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารเนื่องจากการปลูกพืชสำคัญเช่น ข้าว ยางพารา อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น อาศัยการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นแหล่งอาหารสำคัญของพืช และต้นทุนของปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชคิดเป็น 25-35% ของต้นทุนการปลูกพืชทั้งหมด

ขณะที่วิกฤตอาหารในระดับโลกที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรส่วนใหญ่มีราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด อ้อย และปาล์มน้ำมัน อาจเป็นโอกาสของเกษตรกรที่ปลูกพืชบางกลุ่ม แต่ผลประโยชน์ดังกล่าวอาจถูกลดทอนจากต้นทุนปุ๋ยเคมีและสารเคมีที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 79% ของเกษตรกรทั้งหมด ได้แก่เกษตรกรที่ปลูกข้าว และยางพาราจะได้รับผลกระทบอย่างหนักเนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นแต่ราคาในตลาดโลกกลับไม่ได้ปรับขึ้นตามราคาของสินค้าอื่น

“จากการวิเคราะห์ของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ เช่น Aaron Smith แห่ง University of California เห็นว่าราคาปุ๋ยที่สูงขึ้นจะทำให้การใช้ปุ๋ยต่อพื้นที่ลดลง มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ

แต่นักเกษตรและนักสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยเสนอแนะว่าในสถานการณ์เช่นนี้ เกษตรกรรายย่อยและนโยบายระดับชาติควรให้ความสำคัญในการปรับเปลี่ยนระบบเกษตรกรรม และวิถีเกษตรกรรมปัจจุบันไปสู่เกษตรกรรมเชิงนิเวศ และการให้ความสำคัญเกี่ยวกับการหมุนเวียนทรัพยากรในไร่นา การใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ การใช้พืชตระกูลถั่วคลุมดิน และการจัดระบบการปลูกพืช มากขึ้น”

นางจันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ กล่าวว่า ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตปุ๋ยเคมีนำเข้าราคาแพงส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ซ้ำเติมให้อาหารมีราคาแพง และส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารแต่ในทางกลับกันกับเป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย

นายชนวน รัตนวราหะ อดีตรองอธิการบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จริง ๆ แล้วประเทศไทยมีพันธุ์ข้าวที่ดียอดเยี่ยม และสามารถพึ่งตัวเองทางการเกษตรและผลิตอาหารสู่โลกมาโดยตลอดจนได้รับการขนานนามว่า “Rice Bowl of South East Asia”

ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีจากตะวันตกนอกจากราคาแพงแล้วอาจไม่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทยที่เป็นเขตร้อนเท่ากับการใช้วิธีตามธรรมชาติ การหันมาพึ่งเกษตรอินทรีย์จึงเหมาะสมและเป็นโอกาสของการทำเกษตรในขณะนี้และควรลดการส่งออกปุ๋ยอินทรีย์ให้ส่งเสริมการใช้ในประเทศให้มากที่สุด

นายอาทิตย์ ศุขเกษม กล่าวว่า ในวันที่ปุ๋ยเคมีมีราคาแพง เป็นโอกาสดีที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ไทยมีทรัพยากรเหลือใช้จากการเกษตรมากกว่า 700 ล้านตัน ไม่ว่าจะเป็นฟางจากนาข้าวหรือมูลสัตว์ หากนำมาใช้เพียง 10% ก็จะเกิดประโยชน์มหาศาล แม้ว่าดินในไทยจะมีสารอินทรีย์ค่อนข้างต่ำ แต่กรมพัฒนาที่ดินมี โครงการหมอดินอาสา หรือ ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด.14 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและสามารถเข้าไปขอรับด้วยตัวเอง และถัดจากนี้เกษตรกรควรเน้นที่การผลิตเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ

นายปรัชญา ธัญญาดี กล่าวเสริมว่า อินทรีย์วัตถุในดินก็เปรียบเสมือนหัวใจของคน มีขนาดเล็กแต่มีความสำคัญต่อดินมาก ในอดีต การส่งเสริมการใช้อินทรีย์วัตถุถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ แต่ปัจจุบันเราแทบไม่เห็นการส่งเสริมเรื่องนี้เท่าที่ควร ด้านนายภัทธาวุธ จิวตระกูล กล่าวว่า

ดินในประเทศไทยขาดการอนุรักษ์ดูแลมาต่อเนื่องยาวนาน การทำสวนที่ผิดวิธี เช่น ปล่อยให้มีวัชพืชที่แย่งธาตุอาหาร ไถพรวนกำจัดหญ้าหรือใช้สารเคมี ล้วนเป็นปัจจัยให้ดินแย่ลง การปลูกพืชคลุมดินจะช่วยลดการสูญเสียธาตุอาหาร เพิ่มอินทรีย์วัตถุ ตรึงไนโตรเจน ทำให้ทรัพยากรในดินอยู่ได้ยาวนาน โดยเฉพาะถั่วสายพันธุ์พันธุ์มูคูน่าที่ให้ผลผลิตซากพืชสูงกว่าถั่วชนิดอื่นถึง 3 เท่า

ขณะที่นายชัยพร พรหมพันธุ์ ได้เล่าประสบการณ์การทำนาลดต้นทุนไม่ใช่เรื่องยาก ตนเองใช้การไถกลบฟางแทนการเผา ไม่ใช้สารเคมี ร่วมกับใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายชนิดเมธาไรเซียม โนมูเรีย ซึ่งลงทุนในราคาเพียงหลักร้อยแต่ใช้กับนาข้าวได้ถึง 50-60 ไร่

นางสาวปรานี ไชยชาญ จากสวนทุเรียจันหอม เสริมถึงเทคนิคการทำสวนทุเรียนอินทรีย์ว่าทำได้ไม่ยากโดยใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือนจากขี้วัวและน้ำหมักปลาซึ่งมีสารอาหารสูงมาก โดยสามารถทำให้สวนทุเรียนติดลูกได้ภายใน 3 ปี ด้านนายจตุพร เทียรมา เน้นย้ำว่า ในสถานการณ์ปุ๋ยแพง สิ่งที่เกษตรกรควรเรียนรู้อันดับแรกคือ ระบบนิเวศของดินในพื้นที่ตนเอง 4 ปัจจัย คือ ความชื้น อากาศ และอาหารที่สมบูรณ์ร่วมกับอุณหภูมิที่เหมาะสม  หากมีดินที่ดีจะเป็นต้นทุนที่ดีในการเพาะปลูก

ในขณะที่นายอุบล อยู่หว้า เน้นย้ำว่าเกษตรกรควรวางแผนการทำเกษตรของตัวเองในระยะยาว การปลูกพืชแต่ละชนิดควรนำไปสู่ความยั่งยืน ไม่ทำร้ายระบบนิเวศ และถึงเวลาแล้วที่ต้องพาตัวเองออกจากการเป็นเหยื่อของวงจรการใช้สารเคมี

นายนคร ลิมปคุปตถาวร เล่าถึงการทำเกษตรแบบ Biodynamic Farming ที่เน้นการพึ่งปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุด และไม่แทรกแซงธรรมชาติ โดยการทำใช้ปุ๋ยใช้เองจากเมล็ดพันธุ์ที่หลากหลาย (ปุ๋ยพืชสด) จะช่วยสร้างหน้าดินตามธรรมชาติ ทำให้สภาพดินดีขึ้น อ่อนนุ่ม ร่วนซุย เก็บกักคาร์บอนไว้ในดินได้มากทำให้ได้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ และต้องก้าวข้ามแนวคิด “การทดแทนสารเคมี” แต่ต้องเรียนรู้การทำงานกับดิน เน้นฟื้นฟูและบำรุง