ท่อเหล็กจีนทะลักท่วมประเทศ ร้อง “พาณิชย์” รีดเอดีป้องอุตฯ 6 หมื่นล้าน

เหล็ก

ตลาดท่อเหล็ก 6.6 หมื่นล้านสะเทือน “สินค้าจีน-เกาหลี” ถล่มตลาด ส.ผู้ผลิตท่อโลหะฯ นำทีมร้องพาณิชย์ ทบทวนภาษีเอดี หลังเก็บครบ 5 ปี หวั่นเหล็กนำเข้าผิดมาตรฐานถล่มราคากระทบอุตสาหกรรมภายใน-ผู้ใช้เสียหาย 1.2 หมื่นล้าน ซ้ำเติมวิกฤตโลก

นายกวินพัฒน์ นิธิเตชเศรษฐ์ นายกสมาคมผู้ผลิตท่อและแปรรูปเหล็กแผ่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) ซึ่งมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน

เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนให้ต่ออายุมาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) สินค้าท่อเหล็กจากประเทศจีน และเกาหลี รวม 26 รายการ ก่อนที่มาตรการเอดีดังกล่าว ที่ได้เรียกเก็บมาเป็นเวลา 5 ปี จะสิ้นสุดลงในวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาพิจารณาแล้วเสร็จไม่เกิน 9 เดือนนับจากประกาศเปิดทบทวน

“ช่วง 1-2 ปีผ่านมามีการนำเข้าท่อเหล็กจากจีนที่ราคาต่ำกว่าไทยเฉลี่ย 1-1.50 บาท มาจำหน่ายในประเทศ ส่งผลกระทบผู้ประกอบการมาก โดยปกติเราใช้อยู่ประมาณ 150,000 ตันต่อเดือน คิดว่าสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมนี้ประมาณ 20% หรือ 12,000 ล้านบาท”

นำเข้าเหล็ก

แต่ที่สำคัญ เราเคยซื้อท่อเหล่านั้นมาทดสอบพบว่า คุณภาพมาตรฐานยังต่ำกว่าท่อของไทย เช่น ค่าผิวเคลือบต่างจากท่อที่ไทยผลิตเท่าตัว ย่อมมีผลต่อผู้บริโภคที่ซื้อไปใช้งาน บางรายไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสเป็ก หรือคุณภาพท่อนั้นเป็นอย่างไร อายุการใช้งานจะสั้นไม่เกิน 2 ปีหากเป็นท่อของไทยอายุการใช้งานมากกว่า 3 ปี ดังนั้นจึงยื่นขอให้คงเอดีไว้ ส่วนสินค้าที่ภายในผลิตไม่ได้ เคยได้รับการยกเว้น เช่น กลุ่มปิโตรเลียม ให้ยกเว้นดังเดิม

รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้ สมาชิกสมาคมประกอบด้วย บริษัท เอเชีย เมทัล จำกัด (มหาชน) บริษัท บี.เอสเมทัล จำกัด บริษัท คอทโก้เมททอลเวอร์คส จำกัด บริษัท เค แอนด์ เอส สตีลไพพ์ จำกัด และบริษัท สหไทยสตีล ไพพ์ จำกัด (มหาชน) ยื่นให้เปิดไต่สวนเอดีเหล็กนำเข้าจากจีนและเกาหลีเมื่อปี 2558 ซึ่งในครั้งนั้น ทตอ.พิจารณาเรียกเก็บเอดีจากบริษัทจีน 10 ราย ในอัตรา3.22-31.02% ของราคาซีไอเอฟ ส่วนบริษัทอื่นของจีนเก็บในอัตรา 66.01% และเรียกเก็บภาษีเอดีจากบริษัทเกาหลี 4 ราย อัตรา3.49-53.88% ของราคาซีไอเอฟ ตั้งแต่ปี 2560

แหล่งข่าวผู้ผลิตท่อเหล็กอีกรายกล่าวว่า หากดูเฉพาะภาพรวมการนำเข้าปีนี้ 5 เดือนแรก ลดลง 16% (ตามกราฟิก) อาจจะทำให้เข้าใจผิดว่าตัวเลขนำเข้าลดลงแล้วไม่ได้สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรม แต่จริง ๆ แล้วผลจากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ตลาดเหล็กชะลอตัว ตัวเลขนี้ไม่สะท้อนความเป็นจริง

และที่สำคัญตอนนี้เขาหันไปหลบเลี่ยงเอดีโดยการผสมส่วนผสมชนิดอื่นนำเข้าเพื่อให้ไม่ถูกเรียกเก็บเอดี
“สินค้าเหล็กจีนยังมีความได้เปรียบไทยตั้งแต่มีวัตถุดิบต้นน้ำ มีแร่เหล็ก โครงสร้างการผลิตฮอตโรลคอยด์หรือโคลด์โรลคอยด์ ได้เปรียบเราหมด และยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ราคาจีนกับเราต่างกันถึง 5-10%”

หากมีการพิจารณาต่ออายุเอดีจะช่วยให้เอกชนแข่งขันได้และยังช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ผลิตท่อเหล็ก ซึ่งปัจจุบันต่างก็ได้รับผลกระทบจากตลาดเหล็กที่ชะลอตัว การผลิตลดลง ราคาเหล็กในตลาดโลกหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครน ลดลงมาเหลือ 30 บาทจากตอนที่สั่งซื้อ 40 บาท รายที่มีสต๊อกก็อาจขาดทุนสต๊อกในช่วงไตรมาส 3 นี้