เทรนด์อีวี เปลี่ยนโลก ยานยนต์ไฟฟ้าโตสวนทางเศรษฐกิจ

เทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อมบวกกับพฤติกรรมผู้บริโภคสู่การใช้ “พลังงานสะอาด” กำลังเป็นจุดเปลี่ยนที่ท้าทายสำหรับประเทศไทย บนเวทีเสวนาหัวข้อ “Seamless Mobility” ในงาน Inclusive Growth Days empowered by OR ที่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน เรื่องนี้ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่สำคัญ

EV เทรนด์ยานยนต์เพื่อโลก

รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และนายกสมาคมกิตติมศักดิ์ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ฉายภาพอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ว่า

รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล
รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล

ในปี 2564 ยอดขายรถยนต์สันดาปทั่วโลกเริ่มลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการเผชิญวิกฤตโควิด-19 แต่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเติบโตขึ้นเท่าตัว จาก 3 ล้านคัน เพิ่มเป็น 6.5 ล้านคัน ทั้งเริ่มเห็นผู้ผลิตรถยนต์จำนวนไม่น้อย อาทิ เทสลา และเมอร์เซเดส-เบนซ์ ต่างก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว

“การที่ยุโรปประกาศเป้าหมายยกเลิกขายรถยนต์น้ำมันภายในปี 2035 หมายความว่าจะมีผลถึงตลาดเอเชีย ตั้งแต่ยักษ์ใหญ่อย่างจีน รวมถึงไทยด้วย”

สำหรับประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตรถยนต์อันดับต้น ๆ ของโลกจึงควรรักษาสถานะของตนเองไว้ด้วยการต่อยอดเป้าหมายในปี 2035 และแผน 30@30 ที่จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทย และรถจักรยานยนต์ประเภทรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ให้สามารถแข่งขันได้

โดยต่อไปเทคโนโลยีแบตเตอรี่จะเป็นหัวใจสำคัญและโอกาสในการลงทุนของสตาร์ตอัพ ซึ่งเริ่มมีผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหลายรายกล้าลงทุนทำให้ตลาดคึกคัก และเริ่มมีผู้เล่นมากขึ้น เพราะจุดเปลี่ยนรถยนต์ EV คือพัฒนาการแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยแก้ปัญหามลพิษได้

ต่อจิ๊กซอว์ขับเคลื่อนธุรกิจ

ด้าน นายศิวภูมิ เลิศสรรค์ศรัญย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คาร์ซัม (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรถยนต์มือสองครบวงจร กล่าวถึงตลาดรถยนต์ไฟฟ้าว่า ในมุมของผู้บริโภคมีความตื่นตัว และรับรู้ข้อมูลแล้ว หากมีตัวเลือกที่น่าสนใจก็พร้อมเปลี่ยนมาใช้รถ EV จึงเป็นโจทย์ของธุรกิจ ว่าทำอย่างไรให้เกิดการใช้เป็นวงกว้าง

แต่ยังมี 3 ปัจจัยท้าทาย คือ การใช้งาน (functionality) ความสะดวกในการใช้ และการชาร์จ (convenience) และราคาหรือความสามารถในการซื้อ (affordability) หากราคายังสูงก็จะมีแต่ผู้ที่มีกำลังซื้อที่สามารถเข้าถึงได้

“ผู้ประกอบการแต่ละฝ่ายกำลังแชร์ข้อมูลระหว่างกัน เพราะเหมือนต่างฝ่ายต่างถือจิ๊กซอว์กันคนละตัว หากสามารถต่อเชื่อมกันน่าจะแก้ปัญหานี้ได้”

สอดคล้องกับความเห็นของ นายวริศร เรียงประยูร กรรมการผู้จัดการ เอ มอเตอร์ส กรุ๊ป ที่มองว่า กลุ่มที่ชื่นชอบรถยนต์ EV มี 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ชื่นชอบเทคโนโลยี และกลุ่มคนรักสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันวงจรชีวิตของรถยนต์ EV ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยราคายังค่อนข้างสูง และไม่มีตัวเลือกหลากหลาย ขณะที่จุดชาร์จแบบ DC ยังมีไม่มากพอ

ซึ่งภาครัฐมีแผนการส่งเสริมชัดเจน แต่เรื่องความหลากหลายของรถยนต์ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการที่จะก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้มากขึ้น หากตัวเลือกมากขึ้นจะทำให้ราคาถูกลง ส่งผลให้ตลาดเติบโต ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการเติบโตก้าวกระโดดด้วย

เอกชัย ยิ้มสกุล
เอกชัย ยิ้มสกุล

ขณะที่ นายเอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด มองว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีรถ EV ไม่ถึง 1% ของจำนวนรถที่ใช้อยู่ประมาณ 1,200-1,300 ล้านคันทั่วโลก จึงยังเหลือพื้นที่ให้ตลาดเติบโตได้อีกมาก ในส่วนของประเทศไทยถือเป็นช่วงเริ่มต้น

และทุกภาคส่วนมีเวลาเตรียมตัวเพื่อรองรับการมาถึงอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งควรได้รับการสนับสนุนอย่างแรงจากภาครัฐ โดยสร้างสมดุลระหว่างการรักษาการเป็นซัพพลายเชนรถยนต์สันดาปอันดับ 10 ของโลก ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก พร้อมไปกับการปรับสู่เทรนด์โลก

ยักษ์พลังงาน “โกกรีน”

ด้านผู้ผลิตพลังงาน นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทุกการเปลี่ยนผ่านต้องใช้เวลาจากที่ทั่วโลกใช้พลังงานฟอสซิลมายาวนาน ซึ่งในส่วนของบ้านปูได้มีการลงทุนพลังงานสะอาด ภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter มีเป้าหมายว่าภายในปี 2025 จะสร้างรายได้จากพลังงานสะอาดคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50%

เช่นเดียวกับ นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) กล่าวว่า บริษัทกำลังอยู่ในปฐมบทของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดยมีเป้าหมายในปี 2030 จะมีสัดส่วนของการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable) เกินครึ่ง

เพราะภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากเกิดผลกระทบที่รุนแรงขึ้นมาในวันหนึ่ง ประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบเป็นอันดับ 9 ของโลก และจะมี GDP ติดลบ 40% เทียบได้กับเผชิญโควิด 4-5 ปีติดต่อกัน

ศุภชัย เอกอุ่น
ศุภชัย เอกอุ่น

ด้าน นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. กล่าวว่า กฟภ.มีหน้าที่จัดหาพลังงานให้ทุกคน และเป็นต้นแบบในการริเริ่มนำพลังงานสะอาดมาใช้ นำร่องจากโครงการ Micro-grid ในต่างจังหวัด เพื่อสร้างพลังงานสะอาดที่ทุกคนในทุกชุมชนเข้าถึงได้ และในอนาคตมองว่า พื้นที่เป้าหมาย EEC จะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ ในการลงทุนพลังงานสะอาดของไทย

จุดพลุ Seamless Mobility

นางธารินี สุทธิปริญญานนท์ นายกสมาคมการค้าผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมันพลังไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสถานีบริการน้ำมันไม่ได้ให้บริการแค่การเติมน้ำมัน แต่ให้บริการครบทุกด้าน ตอบโจทย์ The World of Seamless Mobility หรือโลกแห่งการเคลื่อนที่อย่างไร้รอยต่อได้ชัดเจน

ด้าน นายบุญมา พนธนกรกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน โออาร์ กล่าวว่า โออาร์มีแผนขยายจุดชาร์จอีวีเพิ่มขึ้นจากภายในปีนี้ที่ 450 แห่ง ไปจนครบ 7,000 จุดชาร์จทั่วประเทศภายในปี 2030 เพื่อให้ลูกค้ามีความมั่นใจต่อการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

และอีกด้านได้พัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ในราคาถูก ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 15-20% หมายความว่าผู้ใช้จะคืนทุนค่าติดตั้งได้ภายในระยะเวลา 5-6 ปี

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเคลื่อนที่แบบไร้รอยต่อต้องเชื่อมโยงระบบการขนส่งแต่ละที่ด้วย เพราะไม่ใช่แค่ความสะดวกแต่ต้องส่งผลต่อภาพรวมของระบบเศรษฐกิจประเทศ โดยมี “ดาต้า” เป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมต่อจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายองค์กร

ชัดเจนว่าการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานจากน้ำมันไปสู่พลังงานสะอาด เป็นทั้งแนวโน้มและภาพสะท้อนทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์-พลังงานในอนาคต ที่ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมมือกัน หากต้องการให้เกิดการเปลี่ยนผ่านการขับเคลื่อนแบบไร้รอยต่อ (Seamless mobility) จะช่วยสร้างการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน (Inclusive)