เหมืองโพแทชดันเศรษฐกิจอีสานเกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยถูก

เหมืองโพแทช

ภาคเอกชนมั่นใจโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรฯ ทำเศรษฐกิจภาคอีสานฟื้น ช่วยอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอีกเพียบ อุ้มเกษตรกรแก้ปัญหาปุ๋ยระยะยาว ย้ำต้องอยู่บนเงื่อนไขครบทุกด้าน ทั้งความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ กพร.ย้ำตั้ง 11 กองทุน 3,500 ล้านบาท ไว้ดูแลชุมชน-สิ่งแวดล้อม ตลอด 25 ปี

แหล่งข่าวสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้โครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี เดินหน้าโครงการต่อจนนำไปสู่การอนุมัติประทานบัตร เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา เอกชนมองว่ารัฐพิจารณาจากเศรษฐกิจโดยรวม ที่ขณะนี้ภาคการเกษตรไทยได้รับผลกระทบจากปุ๋ยราคาแพงและการขาดแคลนปุ๋ยเคมีอย่างหนัก

ผลพวงเกิดจากสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้ไม่สามารถนำเข้าปุ๋ยเคมีได้ ดังนั้นรัฐจึงต้องการช่วยเกษตรกรและเศรษฐกิจระยะยาว โดยไทยต้องพึ่งพาตนเองและใช้ทรัพยากรในประเทศที่มีให้เกิดความคุ้มค่าให้ได้

โครงการเหมืองแร่โพแทชคือหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาเรื่องปุ๋ยเคมีระยะยาว เอกชนส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้เกิดและเดินหน้าโครงการ เพราะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกมาก แต่การเกิดขึ้นจะต้องอยู่ภายใต้กรอบการดำเนินงานที่ถูกต้องและคำนึงถึงองค์ประกอบทุกส่วนเป็นสำคัญ คือ

1.ความปลอดภัยของตัวเหมือง ทั้งการขุดเจาะที่ไม่ทำให้ดินยุบ โครงสร้างที่แข็งแรง 2.สิ่งแวดล้อม เมื่อมีการทำเหมืองแล้วจะต้องไม่เกิดผลกระทบกับแหล่งน้ำ ดิน ฝุ่น การปนเปื้อนจากเกลือ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐจะต้องกำชับกับบริษัทให้มาก

“โครงการเกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องจะตามมา ไม่ว่าการจ้างแรงงานก่อสร้าง วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ระหว่างการทำงาน เครื่องจักร วัสดุก่อสร้าง เหล็ก ปูน ทราย มีการซื้อขายในพื้นที่ มันจะทำให้ระบบเศรษฐกิจในจังหวัดดีขึ้น เรามองว่าบวกมากกว่าลบ อีสานตอนบนจะเป็นอีกพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในอนาคต ธุรกิจปุ๋ย ธุรกิจเกี่ยวข้องกับเกลือ อะไรที่เกี่ยวเนื่องกันจะมาหมด

เราไม่อยากให้เขาขุดแล้วขนไปขายจีน ไม่อยากให้เอาทรัพยากรเราไป ไม่อยากให้เขาจ่ายแค่ค่าภาคหลวง แต่เราจะต้องได้ประโยชน์จากแร่โพแทชนี้ นั่นคือการผลิตปุ๋ยใช้เองในประเทศ”

นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา นายวรวุฒิ หิรัญยไพศาลสกุล ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง “ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการและเงื่อนไขตามที่กฎหมายและสัญญากำหนดไว้และเงื่อนไขที่กำหนดเพิ่มเติมเป็นเงื่อนไขในประทานบัตร” เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งบริษัทจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขและมาตรการอย่างเคร่งครัด เช่น ดำเนินตามมาตรการป้องกันผลกระทบจากฝุ่นเกลือ กองเกลือ น้ำเค็ม และการลดระดับของผิวดินที่กำหนดเพื่อป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม

และต้องตั้งกองทุนเพื่อการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม 11 กองทุน เป็นเงินกว่า 3,500 ล้านบาท ตลอดอายุโครงการ 25 ปี นับจากปี 2565 และให้มีคณะทำงานประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมตรวจสอบกำกับดูแลการทำเหมือง

นอกจากนี้ต้องทำประกันภัยความรับผิดต่อชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลภายนอก และวางหลักประกันการฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทำเหมืองและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง

“ขั้นตอนกว่าจะเปิดดำเนินงานได้จริง ต้องอยู่ที่ความพร้อมของบริษัท ซึ่งเงินลงทุนตามที่ระบุไว้คือประมาณ 36,000-40,000 ล้านบาท ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งยังมีอีกหลายขั้นตอนกว่าเขาจะเปิดทำเหมือง และยังมีอีกหลายมาตรการที่เขาต้องทำตามที่เรากำหนด และต้องทำตามที่ได้สัญญาไว้กับชาวบ้านและชุมชนด้วย ส่วนเรื่องกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีที่ได้ยื่นหนังสือร้องคัดค้านการออกประทานบัตรต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี

และยื่นเรื่องมาที่ กพร. เรารับทราบและส่งหนังสือชี้แจงกลับไปแล้ว ด้วยโครงการนี้เขาปฏิบัติถูกต้อง นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะไปสู่อีกหลาย ๆ ขั้นตอน แต่ท้ายที่สุดประเทศไทยจะได้ผลิตปุ๋ยโพแทช โดยคนไทย บริษัทไทยแล้ว”

สำหรับการทำเหมืองแร่ตามกฎหมายจะต้องมีการตั้งกองทุนเยียวยา และชดเชยให้กับชุมชนโดยรอบ โดยเงินเยียวยาก้อนแรก 1,200 ล้านบาท จะจ่ายเป็นรายปี 24 งวด จะเริ่มจ่ายงวดแรกภายใน 3 เดือน งวดแรก 10% ส่วนงวดที่เหลือก็แบ่งสัดส่วนเท่า ๆ กัน ขณะเดียวกันยังมีกองทุนพัฒนาและด้านอื่น ๆ อีกตลอดอายุสัมปทาน 25 ปี โดยรวมแล้วจะใช้เงินประมาณ 3,000 ล้านบาท

ดังนั้นแล้ว เหมืองแร่โพแทชในประเทศไทยจะมีทั้งหมด 3 แห่ง คือ 1.บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จ.นครราชสีมา ได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2558 อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาน้ำใต้ดินเข้ามาในอุโมงค์ก่อนถึงชั้นแร่ 2.บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) จ.ชัยภูมิ ได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2558 มีการทดลองทำเหมืองโดยก่อสร้างอุโมงค์ถึงชั้นแร่แล้ว


แต่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงการ และ 3.บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นรายล่าสุดที่ได้ประทานบัตร