ปัดฝุ่น “ปุ๋ยแห่งชาติ” ลดนำเข้า ดันต้นทาง “เหมืองโพแทช” หลังชะงัก7ปี

เหมืองแร่โพแทช

สปีดโครงการปุ๋ยแห่งชาติ หลังต้นทุนนำเข้าแม่ปุ๋ยพุ่ง “กพร.” หวังไทยพึ่งตัวเองลดนำเข้าปุ๋ยเคมี 63,000 ล้านบาท นักลงทุนเหมืองแร่โพแทช 3 ราย “ไทยคาลิ-อาเซียนโปแตชชัยภูมิ” ประทานบัตร ติดหล่ม 7 ปี ฝันผลิต 53 ล้านตันเคว้ง

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไทยมีแผนที่จะสร้างโรงงานแม่ปุ๋ยด้วยตนเอง หรือโครงการปุ๋ยแห่งชาติโดยจะใช้วัตถุดิบที่ผลิตขึ้นในประเทศนำมาเป็นส่วนผสมสำคัญในการผลิตปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยโพแทสเซียม ลดการพึ่งพาโพแทสเซียมคลอไรด์จากต่างประเทศทั้งหมด

ซึ่งโพแทสเซียมคลอไรด์ได้มาจากการสกัดแร่โพแทช ที่ปัจจุบันในประเทศไทยมีเหมืองแร่อยู่ 3 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2558 มีอายุ 25 ปี ปริมาณการผลิต 2.15 ล้านตัน/อายุโครงการ แผนการผลิต 100,000 ตัน/ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาน้ำใต้ดินเข้ามาในอุโมงค์ก่อนถึงชั้นแร่

รายที่ 2.บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) อยู่ใน ต.บ้านตาล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2558 มีอายุ 25 ปี ปริมาณการผลิต 17.33 ล้านตัน/อายุโครงการ แผนการผลิต 1,100,000 ตัน/ปี ซึ่งโครงการได้มีการทดลองทำเหมืองโดยก่อสร้างอุโมงค์ถึงชั้นแร่แล้ว แต่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงการ

ส่วนรายที่ 3.บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด อยู่ใน ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี ได้ยื่นประทานบัตรเรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างการพิจารณา ปริมาณการผลิต 33.67 ล้านตัน/อายุโครงการ แผนการผลิต 2,000,000 ตัน/ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบถามความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (สศช.และ ทส.) ก่อนนำเรื่องเข้า ครม. ก่อนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรต่อไป

“2 รายที่ได้ประทานบัตรไปแล้ว เป็นเรื่องภาคเอกชนที่ยังไม่สามารถนำแร่ขึ้นมาได้ ส่วนรายที่ 3 กำลังดำเนินการอยู่ แต่เรื่องมีความซับซ้อนมาก มีสัญญากันมาก่อน และมี พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 ที่ยังมีข้อขัดแย้งกันอยู่ รวมทั้งเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ อยู่ด้วย จึงต้องแก้ปัญหาให้ครบทุกจุดอย่างรอบคอบก่อน จึงจะพิจารณาอนุญาตได้ เพื่อไม่ให้เกิดประเด็นพิพาทกันในภายหลัง”

ทั้งนี้ จึงถือได้ว่าปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการทำเหมืองแร่โพแทช เพื่อนำมาสกัดเป็นโพแทสเซียมคลอไรด์ และนำไปผลิตปุ๋ยเคมีใช้ในประเทศ โดยสารตั้งต้นวัตถุดิบทั้งหมดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 100% โดยปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) มีการนำเข้าปุ๋ยเคมีโพแทสเซียมคลอไรด์ทั้งหมด 789,594 ตัน

สำหรับแหล่งนำเข้า อันดับ 1 จากแคนาดา 301,895 ตัน รองลงมาจากเบลารุส 193,075 ตัน อิสราแอล 88,895 ตัน รวมถึงจากรัสเซียอีก 6,838 ตัน เป็นต้น

และเป็นครั้งแรกที่ไทยไม่มีการนำเข้าจากจีน แต่นำเข้าจากลิทัวเนียและอุซเบกิสถานเพิ่มเข้ามา โดยนับตั้งแต่ปี 2557-2564 พบว่าไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีกว่า 5,170,374 ตัน มูลค่าถึง 63,507 ล้านบาท

“ปัจจุบันไทยเรานำเข้าปุ๋ยเคมีเกือบทั้งหมด ทั้งตัว N P K โดยมีการนำเข้าทั้งเป็นแม่ปุ๋ยและปุ๋ยผสม ถามว่าถ้าทั้ง 3 รายนี้ไม่สามารถขุดแร่โพแทชขึ้นมาถลุงได้ ไทยเราก็ยังต้องนำเข้าตลอดไป ไม่สามารถเกิดโรงงานแม่ปุ๋ยใช่หรือไม่ ต้องบอกว่าไม่ เพราะถ้าพูดเฉพาะโพแทชนี่เกิดแน่ ๆ เพียงแต่ว่าเมื่อไหร่แค่นั้นเอง ยิ่งราคาปุ๋ยโพแทชสูงขึ้น ความคุ้มค่าในเรื่องการลงทุนก็จะมีมากขึ้น”

“และยิ่งตอนนี้สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมไม่ค่อยดี การนำทรัพยากรขึ้นมาใช้ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพยุงเศรษฐกิจ อีกทั้งประเทศไทยภาคเกษตรกรรม มีความสำคัญต่อคนเป็นจำนวนมาก ตอนนี้ภาครัฐโดยเฉพาะรัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ส่วนการร้องเรียนต่าง ๆ แม้ว่าจะยังมีอยู่บ้าง แต่ถ้าเทียบกับการที่ต้องซื้อปุ๋ยแพงหรือขาดแคลนปุ๋ย กระแสสังคมคงจะสนับสนุนการทำเหมืองโพแทชมากกว่า”

แหล่งข่าวจากภาคอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ล่าสุดนายสมัย ลี้สกุล ซึ่งเป็นกรรมการและประธานกรรมการ บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งใน ส.อ.ท. และได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เมื่อเดือน มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา เป้าหมายเพื่อเป็นหัวหอกในการผลักดันโครงการเหมืองโพแทชให้เกิดขึ้นในประเทศไทยให้ได้