นักศึกษาม.หอการค้าฯ คว้ารางวัลในงาน ASEAN Data Science Explorers 2018

เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) ร่วมกับ SAP จัดการแข่งขัน “ASEAN Data Science Explorers 2018” ณ ประเทศสิงคโปร์ ประกอบด้วยนักศึกษา 10 ประเทศจากอาเซียน ซึ่งจากการแข่งขันปรากฎผลว่า “อัมรินทร์ อุดมผล และ “ธีระพงษ์ ศรีสุพรรณ” นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ ม.หอการค้าไทย ตัวแทนนักศึกษาประเทศไทยที่ชนะเลิศการแข่งขันจากเวทีในประเทศ ได้รับรางวัล “WINNER SOCIAL MEDIA CHALLENGE”

จากผลงานการศึกษาเชิงข้อมูลในหัวข้อ สุขภาพจิตของเยาวชนทั่วภูมิภาคอาเซียน มุ่งขยายผลงานให้รัฐบาลแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียนตระหนักถึงปัญหาการฆ่าตัวตายของเยาวชนอายุระหว่าง 13 – 17 ปี  โดยกระตุ้นให้ครอบครัวและโรงเรียนให้ความสำคัญปัญหานี้ รวมถึงหาแนวทางสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับครอบครัวและโรงเรียนแก้ไขปัญหา

“อัมรินทร์ อุดมผล” เล่าว่า ในการแข่งที่ประเทศสิงคโปร์ผมเลือกทำหัวข้อสุขภาพจิตของเยาวชนทั่วภูมิภาคอาเซียน โดยได้เข้าไปดูข้อมูลจำนวนของเด็กแรกเกิด จำนวนคนเสียชีวิต ซึ่งบางประเทศมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงมาก ซึ่งเมื่อเริ่มศึกษาข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ พบว่า ในอาเซียนมีข้อมูลสุขภาพจิตเยาวชนค่อนข้างน้อยมาก

“เมื่อเริ่มสนใจในเรื่องนี้พร้อมกับเจอผลสำรวจของประเทศเวียดนามว่ามีเด็กที่เคยคิดจะฆ่าตัวตายเป็นจำนวน 10% ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียน โดยอิงจากข้อมูลปี 2015 และไม่มีข้อมูลที่ระบุแน่ชัดถึงสาเหตุของการฆ่าตัวตาย หลังจากนั้น นำข้อมูลไปใส่ไว้ในแพลตฟอร์ม เพื่อดูกราฟว่าเป็นอย่างไร เพื่อนำไปสู่การออกแบบแนวทางแก้ปัญหาการฆ่าตัวตาย”

“ผลการศึกษาที่ได้มา พบว่าควรเริ่มจากรัฐบาลในแต่ละประเทศ โดยกระตุ้นให้ครอบครัวและโรงเรียนตระหนักถึงปัญหาการฆ่าตัวตายของเยาวชนอายุ 13 -17 ปี ให้มากขึ้น หลังจากนั้นครอบครัวและโรงเรียนจะต้องคอยให้คำปรึกษา สอน และแนะนำกับตัวเยาวชนว่ามีวิธีการป้องกันปัญหาอย่างไร หรือเมื่อเจอปัญหานี้แล้วสามารถปรึกษาได้จากใครบ้าง”

ขณะที่ “ธีระพงษ์ ศรีสุพรรณ” กล่าวเสริมว่า ภูมิภาคอาเซียนยังไม่ค่อยตระหนักถึงเรื่องนี้มากนัก เพราะขาดการสนับสนุนจากรัฐบาล หรือบุคคลที่มีอำนาจที่สามารถออกมาเป็นนโยบายได้ ซึ่งเยาวชนถือว่าเป็นปัจจัยหลักหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศ

“เราจึงมองว่าถ้าเราไม่ทำอะไรเลยก็อาจเกิดผลแย่ต่อประเทศต่างๆ ซึ่งการหาปัญหาในครั้งนี้จะช่วยทำให้ทราบว่า เราควรเน้นแก้ปัญหาที่จุดไหนเป็นหลัก โดยอิงจากตัวเลขที่เราได้มา”

“ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ บางประเทศมีข้อมูลบอกชัดเจนว่าเด็กผู้หญิงหรือผู้ชายที่มีความคิดที่จะฆ่าตัวตายมากกว่ากัน แต่ไทยยังไม่มีข้อมูลด้านนี้เลย ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลหันมาใส่ใจเยาวชนให้มากกว่านี้ หรือมีแผนงานในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น”