“ม.กรุงเทพ”เปิดสาขาอีเวนต์ ผนึกมือโปรวงการสื่อร่วมร่างหลักสูตร

ม.กรุงเทพ อัพเกรดหลักสูตรใหม่ สาขาผลิตอีเวนต์และการผลิตสื่อนวัตกรรม ดึงดูดนักเรียนด้วยการเรียนจากงานในสถานที่จริง พร้อมดึงมือโปรวงการอีเวนต์-สื่อ ร่วมร่างหลักสูตรและเทรนด์ ช่องวัน 31 เครือแกรมมี่-ทีวี เอเชีย ไทยแลนด์ มองตลาดอีเวนต์ยังขยายอีกมาก กระแสดีมีนักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเรียนมากขึ้น

“ผศ.ณัฐา ฉางชูโต” หัวหน้าหลักสูตรการผลิตอีเวนต์ และการจัดการนิทรรศการและการประชุม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการเปิดหลักสูตรใหม่คือการผลิตอีเวนต์ และการจัดนิทรรศการและประชุม เนื่องจากรูปแบบการสื่อสารแบบอีเวนต์ได้รับความสนใจอย่างมาก ทั้งยังสามารถตอบโจทย์การทำตลาดในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นงานแสดงสินค้า เทศกาลดนตรี และเฟสติวัล รวมไปถึงการจัดงานแฟนมีตติ้ง และคอนเสิร์ตเกาหลีที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

โดยจุดแข็งของหลักสูตร คือ 1) ม.กรุงเทพได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการจัดอีเวนต์เข้ามาช่วยร่างหลักสูตร ฉะนั้น นักศึกษาที่เรียนจบจากสาขาดังกล่าวจะมีทักษะตรงตามที่ผู้ประกอบการต้องการมากที่สุด

2) นักศึกษาจะได้ความรู้แบบครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบโปรเจ็กต์ ระบบแสง สี เสียง ด้วยตัวเอง รวมไปจนถึงการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค

3) ผู้สอนมาจากบริษัทชั้นนำในแวดวงการจัดอีเวนต์ เช่น บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด และอื่น ๆ 4) นักเรียนได้ฝึกทำงานจริงตามขั้นตอนต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่การออกแบบ การทำข้อเสนอ หรือ proposal และได้ลอง pitching กับบริษัทที่สนใจ ซึ่งจะทำให้ได้เรียนรู้อย่างแท้จริง ที่สำคัญยังได้ประสบการณ์หน้างาน ซึ่งจะทำให้นักศึกษามีความเชี่ยวชาญและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นอย่างดี

และ 5) ผู้ที่สนใจเข้าเรียนยังสามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) โดยในส่วนของการทดลองจัดอีเวนต์นั้นจะเริ่มจากภายในมหาวิทยาลัยในสเกลเล็ก ๆ ก่อน อย่างเช่น งาน Open House ที่มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 10,000 คน

“การมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามาช่วยสอน ทำให้รายละเอียดที่เป็นแค่กระดาษจากการคิดและวางแผนของนักศึกษามาสู่การทำงานจริง และในแต่ละระดับชั้นปีการเรียนการสอนก็จะลงลึกในรายละเอียดมากขึ้น พร้อมกับทดลองทำงานกับบริษัทอีเวนต์ หากผลงานเข้าตาอาจจะถูกทาบทามให้ร่วมทำงานในบริษัทชั้นนำในด้านนี้อีกด้วย โดยนักศึกษารุ่นแรกที่เปิดสอนรวม 290 คน ได้ลองทำงานให้กับหลายบริษัท เช่น งานของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น”

ผศ.ณัฐากล่าวอีกว่า มูลค่าทางการตลาดของธุรกิจอีเวนต์ในปัจจุบันอยู่ที่ 290,000 ล้านบาท และมองว่าในอนาคตยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคธุรกิจจะมีการทำรีแบรนดิ้ง หรือเปิดตัวองค์กร และสินค้าใหม่ ๆ เนื่องจากเหมาะกับไลฟ์สไตล์ และความบันเทิงของคนไทย รวมถึงยังมองความเป็นไปได้อีกว่า การเรียนสาขาผลิตอีเวนต์ทำให้นักศึกษาสามารถต่อยอดไปยังธุรกิจอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น การจัดงานปาร์ตี้เฉพาะกลุ่ม การจัดงานแต่งงาน และการทำทัวร์ทั้งในและต่างประเทศได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คาดหวังจากหลักสูตรนี้ คือ แม้นักศึกษาจะอยู่ในระหว่างเรียน แต่ก็สามารถ “ทำงานได้จริง”ท่ามกลางผู้ที่เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรมอีเวนต์ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ

นอกเหนือจากหลักสูตรดังกล่าวข้างต้นแล้ว มหาวิทยาลัยกรุงเทพยังเปิดหลักสูตรนานาชาติในสาขา “Innovative Media and Production” โดย “ทชภณ ประภานนท์” หัวหน้าหลักสูตรการผลิตสื่อนวัตกรรม คณะนิเทศศาสตร์ กล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล จึงพัฒนาหลักสูตรที่เน้นให้นักศึกษาเชี่ยวชาญในการผลิต ทั้ง “คอนเทนต์และโปรดักชั่น”

พร้อมทั้งพัฒนาให้นักศึกษามีความเป็นนักสร้างสรรค์ (creator) และเพื่อให้เห็นภาพในธุรกิจสื่อดิจิทัลมากขึ้น มหาวิทยาลัยกรุงเทพจึงร่วมมือกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญ คือ สถานีโทรทัศน์ช่องวัน 31 บริษัท วัน สามสิบเอ็ด จำกัด ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และบริษัท ทีวี เอเชีย ไทยแลนด์ ที่ลงนามข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) เพื่อส่งบุคลากรมาช่วยสอน และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทดลองทำงานจริงอีกด้วย

ทั้งนี้ ได้เริ่มทดลองเปิดหลักสูตรแล้ว ซึ่งผลตอบรับดีมากเนื่องจากมีนักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างประเทศ เช่น จากจีน และเวียดนาม สนใจเข้ามาเรียน ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจเข้าเรียนถึง 57 คน ถือว่าเกินจากเป้าหมายที่วางไว้แค่ไม่เกิน 40 คน ทำให้หลักสูตรต้องเจอกับปัญหาครูต่างชาติไม่เพียงพอเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนนักศึกษา ในเบื้องต้นจึงแก้ปัญหาด้วยการให้ผู้สอนชาวไทยที่เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษจัดหาครู “พิเศษ” ชาวต่างชาติจากสถาบันอื่นมาเป็นอาจารย์พิเศษแทนไปก่อน ในช่วงที่อยู่ระหว่างกำลังสรรหาครูต่างชาติ

“ผมมองว่าสาขานิเทศศาสตร์ยังไม่ตาย แต่จะปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีมากกว่า และอาจจะท้าทายความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพนี้ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะหากมีข้อจำกัดด้านเวลาที่ใช้สื่อสาร ยิ่งทำให้ตลาดนี้มีความต้องการมากขึ้นในอนาคต”

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยกรุงเทพมีความร่วมมือกับบริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาภาคอินเตอร์ได้ฝึกประสบการณ์จริงในสาขาต่าง ๆ ของยูนิโคล่ พร้อมทั้งร่วมทีมการตลาด และเมื่อจบการศึกษาแล้วต้องการเข้าร่วมงานกับยูนิโคล่สามารถสมัครเพื่อร่วมงานได้