“มธบ.” ปั้นโมดูลใหม่ดึงเด็กจีน เลือกสาขาที่ชอบ-ต่อยอดธุรกิจ

โลกเปลี่ยนเร็ว ใครช้าก็ตกขบวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจการศึกษา ที่มีตัวแปรอย่างอัตราการเกิดของประชากรที่น้อยลงและการแข่งขันสูงที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ส่งผลให้สถานศึกษาต่าง ๆ ต้องปรับตัวและพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและตรงกับความต้องการคนของภาคธุรกิจ

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู” รองอธิการบดีสายงานภาคีสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี หรือ CIBA มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กับกลยุทธ์ดึงนักศึกษาให้เข้ามาสมัครเรียนทั้งนักศึกษาภายในและจากต่างประเทศ

การจะตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของนักศึกษาไทย มาจากหลักสูตรการเรียนการสอนที่ตรงกับความต้องการหรือความสนใจของนักศึกษา และตามมาด้วยองค์ประกอบอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนที่ทันสมัย รวมถึงสภาพแวดล้อมด้วย ดร.พัทธนันท์บอกว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้นำเสนอหลักสูตรใหม่ต่อสภามหาวิทยาลัยคือ

“หลักสูตรแนวใหม่หรือจับวิชาเป็นโมดูล” (หลักสูตรนานาชาติ) ที่จะวัดนักศึกษาออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ 2) ทักษะด้านนวัตกรรม และ 3) ทักษะด้านดิจิทัล ซึ่งนอกจากจะต้องเรียนตามที่กำหนดแล้ว นักศึกษาต้องเรียนใน 3 กลุ่มนี้ด้วย

“มธบ.เน้นการสร้างนักศึกษาให้เป็น “นวัตกร” เพื่อให้สามารถไป adapt สร้างนวัตกรรมในสาขาวิชาที่นักศึกษาเลือกเรียนได้ จากเดิมที่เข้ามาเรียนสาขาใด ก็ต้องเรียนให้ตรงตามสาขาของตัวเองเท่านั้น แต่หลักสูตรใหม่ นักศึกษาจะเป็นผู้ blend สิ่งที่นักศึกษาสนใจ เช่น การตลาด ระบบโลจิสติกส์ การจัดการองค์กร ธุรกิจ startup รวมถึงธุรกิจการเงิน การลงทุน ไปจนถึงการบริหารองค์กร”

เมื่อถามถึงวิธีการวัดผลของหลักสูตรดังกล่าว “ดร.พัทธนันท์” ระบุว่า สำหรับนักศึกษาในกลุ่มนี้จะใช้วิธี “วัดผลรวม” หลังจากเรียนวิชาในกลุ่มแล้วนักศึกษาสามารถ “สร้างชิ้นงาน” ได้หรือไม่ เพราะการสอบแบบทั่วไปวัดผลไม่ได้ หากนักศึกษาทำได้ นั่นหมายความว่าเมื่อเรียนจบออกไป บัณฑิตจาก มธบ.สามารถทำงานได้ทันที และยังนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ ให้กับองค์กรด้วย

เพื่อให้เข้าใจหลักสูตรใหม่ของ มธบ.มากขึ้น “ดร.พัทธนันท์” ขยายความให้ฟังว่า นโยบายของมหาวิทยาลัยต้องการเป็น “startup university” หลักสูตรจะทำให้นักศึกษาได้เห็นทีละ step และอาจจะทำให้นักศึกษาเกิดไอเดียใหม่ และมีความเป็น “เฉพาะทาง” ที่ตรงกับความต้องการของนักศึกษา

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เมื่อนักศึกษาเข้าสู่ชั้นปีที่ 3 จะเลือกวิชาจากคณะใดก็ได้เพื่อเป็น “กลุ่มวิชาเอก” เช่น หากเลือกเรียนสาขาแฟชั่นดีไซน์เพื่อออกไปเป็นผู้ประกอบการก็อาจจะต้องมีความรู้ถึงช่องทางการจำหน่าย เช่น ต้องมีความรู้ด้านแอปพลิเคชั่น นำไปสื่อสารกับผู้สร้างแอปพลิเคชั่นให้สร้างตรงกับความต้องการและช่องทางโปรโมตสินค้า หรืออาจจะเรียนในวิชาการเงิน ระบบโลจิสติกส์แบบง่าย ๆ

ในหลักสูตรใหม่นี้ยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่มีความโดดเด่นเรื่อง startup ที่เป็น international startup เช่น ในประเทศอินโดนีเซีย ที่มีความร่วมมือมาตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั้งในประเทศเกาหลีใต้ ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น ที่มีการส่งเด็กเข้าไปเรียนแบบให้ทุน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และในแต่ละประเทศก็จะร่วมมือกันตามความถนัดของแต่ละที่ เช่น หากนักศึกษาสนใจด้านธุรกิจความงามก็จะส่งไปเรียนที่เกาหลีใต้ หากสนใจด้านเทคโนโลยีก็จะส่งไปเรียนที่จีน ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ก็ต้องไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะมีความเป็น “innovator” สูงมาก รวมถึงยังบวกรวมความคิดสร้างสรรค์ในสินค้าต่าง ๆ ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนหลักสูตรใหม่ของ มธบ. หรือหากนักศึกษาต้องการศึกษาแนวคิดจากมหาวิทยาลัยของฝั่งตะวันตก มธบ.มีความร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยในประเทศเนเธอร์แลนด์ และเยอรมนีอีกด้วย

“หลักสูตรนี้ได้อาจารย์วรพัทธ์ ภู่เจริญ อดีตวิศวกรของนาซ่า มาช่วยดูเนื้อหาทั้งหมด เพื่อบ่มเพาะนักศึกษาให้เป็นนวัตกรอย่างที่ต้องการ เพราะฉะนั้นนักเรียนที่จบออกไปภายใต้การสอนนี้จะตอบโจทย์โลกอนาคตได้ คนอาจจะต้องอยู่กับหุ่นยนต์ และอาจมีความสามารถที่จะทำงานได้หลายอย่าง และอาจจะเป็นฟรีแลนซ์-หรือทำงานแบบ part time ที่ทำงานให้มากกว่า 1 บริษัทในเวลาเดียวกัน ทำให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่แล้วยังตอบโจทย์โลกอนาคตด้วย ที่สำคัญโมดูลนี้ใช้ได้กับทุกคณะ อยู่ที่ว่านักศึกษาจะเลือกอะไร รวมถึงเด็กที่จะอยู่ภายใต้หลักสูตรนี้จะเลือกเรียนสาขาใดก็ได้ที่เปิดสอนอยู่ ในขณะเดียวกันมองในมุมกลับสำหรับนักศึกษาในหลักสูตรอื่น ๆ ที่ไม่ใช่หลักสูตรนี้ก็สามารถเข้ามาเรียนได้เช่นกัน”

ทั้งนี้ มธบ.ไม่ได้วัดแค่เพียงการปฏิบัติได้จริงเท่านั้น ยังได้คิดวิธีการวัดทักษะแบบใหม่ ที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศก็ใช้ในการวัดความคิดสร้างสรรค์ โดยวัดจากทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ทักษะด้านการสื่อสาร การใช้เทคโนโลยีด้วยความเชี่ยวชาญ ความคิดสร้างสรรค์ และสามารถการทำงานร่วมกับทีมได้ ซึ่งทักษะทั้งหมดนี้จะถูกฝังไว้ที่นักศึกษา

“ดร.พัทธนันท์” ยังบอกอีกว่า หลักสูตรดังกล่าวยังสามารถตอบโจทย์นโยบายภาครัฐ เรื่อง “Active Learning” คือ เปลี่ยนจากการให้ความรู้ในชั้นเรียนที่นักศึกษาสามารถรับรู้ได้เพียง 10% มาสู่การฝึกปฏิบัติที่นักศึกษาได้รับความรู้ได้ถึง 90% ส่วนอีก 10% ที่เหลือนักศึกษาจะต้องนำไปต่อยอดเองในอนาคต นั่นก็คือการเป็นผู้ประกอบการที่สามารถประยุกต์เทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในธุรกิจของตัวเองได้ สำหรับหลักสูตรดังกล่าว นอกเหนือจากจะเน้นไปที่ระดับปริญญาโทแล้ว ยังนำมาใช้กับหลักสูตรปริญญาตรี

“เราไม่ได้มีเป้าหมายเฉพาะแค่เด็กไทย เราขายเด็กต่างชาติด้วย เพราะหลักสูตรนี้เราใช้ถึง 3 ภาษา คือ ภาษาไทย จีน และอังกฤษ เพราะเราเชื่อมั่นว่าจะได้รับความสนใจจากนักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะนักศึกษาจีน ที่เรามองว่ามี passion ที่อยากเป็นเจ้าของกิจการ”