“สกสว.” หนุนงานวิจัย ใช้งานได้จริง-ลดเหลื่อมล้ำ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้จัดมอบรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2561 ภายใต้เป้าหมายที่ว่า ผลงานวิจัยต้องสามารถนำไปใช้ได้จริงและเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ความท้าทายเพื่อต่อยอดงานวิจัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ภายในงานดังกล่าวมีการกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “คนไทยต้องหลุดพ้นจากวังวนกับดักรายได้ปานกลางให้ได้” โดย “ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร” ประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระบุว่าขณะนี้ไทยยังต้องเผชิญกับรายได้ที่ขาดหายไปจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้เงินหายไปจากระบบประมาณ 5 แสนล้านบาท รวมกับงบประมาณที่มีขีดจำกัด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยกัน “หางบฯวิจัย” มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันอาจจะเรียกได้ว่า การวิจัยต่าง ๆ ล้วนพึ่งพางบประมาณจากสกสว.เท่านั้น นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นคือ จากการคาดการณ์อนาคตในปี 2600 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านคน ซึ่งประชากรที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศจีน อินเดียและแอฟริกา ทำให้เกิดปัญหาตามมาไม่ว่าจะเป็นการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะผันแปรแบบสุดขั้ว เกิดปัญหาเป็นลูกโซ่ตามมาอีกคือ ภาวะโลกร้อน การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกตามด้วยโรคภัย ปัญหาแหล่งน้ำ การใช้น้ำ การเพาะปลูก และกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากร

“หวังว่าการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำจะไม่ใช่คำตอบทางการเงินอย่างเดียว แต่เป็นไปด้วยความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ภาครัฐต้องเปลี่ยนบทบาทจากคนใช้ทรัพยากรมาเป็นคนที่ make it happen ต้องส่งเสริมคนไทยให้เป็นผู้ประกอบการที่ดี ไม่ทะเลาะกันเอง พัฒนาจนเป็น trading nation อยากฝากนักวิชาการไว้ว่าเราได้รับการศึกษาจากโลกตะวันตก แต่ไม่ชอบศึกษาโลกตะวันออก เราต้องรู้จักประเทศตะวันออกมากขึ้น ศึกษาประเทศเหล่านี้ให้ดีแล้วจะได้เปรียบ”

“ดร.กฤษณพงศ์” กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับการผลักดันด้านงานวิจัยต่อจากนี้นั้น สกสว.จะสนับสนุนให้ครอบคลุมทุกศาสตร์ นอกจากนี้จะต้องพัฒนาศักยภาพนักวิจัยให้มีคุณภาพในระดับสากลอีกด้วย เพื่อสร้างรากฐานสำคัญให้กับระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และได้กำหนดนโยบายยุทธศาสตร์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พร้อมกับจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ ววน.

สำหรับเกณฑ์คัดเลือกผลงานวิจัยคือ ต้องเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จ เกิดประโยชน์ได้อย่างชัดเจนในปีงบประมาณ 2561 สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงการที่เกี่ยวข้อง เกิดการพัฒนาในวงกว้าง ซึ่งในปีนี้มีผลงานได้รับรางวัลรวม 13 ผลงาน เช่น ผลงานด้านนโยบาย อนาคตสิมิลันบนความสมดุลของการท่องเที่ยว ด้านสาธารณะคือ การบูรณะโบราณสถานเพื่อรากฐานการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ด้านพาณิชย์ หุ่นยนต์สำหรับการขูดหน้ายางรถยนต์อัตโนมัติในกระบวนการผลิต ยางหล่อดอกการผลิตเนื้อไก่ กรดยูริกต่ำจากไก่ลูกผสมพื้นเมืองเพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันในตลาดอาหารสุขภาพในระดับอุตสาหกรรม การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นสารเคมีมูลค่าเพิ่ม และเสื้อดมกลิ่นกายอัจฉริยะ

มาที่รางวัลด้านชุมชนและพื้นที่นั้นประกอบด้วยงานวิจัย การฟื้นฟูดินปนเปื้อนสารอันตรายด้วยอนุภาคนาโน เพื่อการผลิตพืชอาหารปลอดภัย โดยชุมชนเพื่อชุมชน : กรณีนำร่องนาข้าวปนเปื้อนแคดเมียม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก รวมถึงบางชะนีโมเดล กระบวนการปรับตัวของชาวนาในพื้นที่ทุ่งรับน้ำ เป็นต้น ในขณะที่รางวัลด้านวิชาการ เช่น นโยบายต่างประเทศไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านในยุคสงครามเย็น : สี่กรณีศึกษาเปรียบเทียบ และนวัตกรรมอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าเคมี จากวัสดุผสมของกราฟีนแอโรเจล เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าผลงานวิจัยดีเด่นของปี 2561 นี้ ได้นำไปใช้ประโยชน์เพื่อตอบโจทย์สังคมและพัฒนาเศรษฐกิจในทิศทางที่ดี


ต่อจากนี้ สกสว.จะต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของ ววน.ให้สอดคล้องกับงบประมาณการสนับสนุนส่งเสริมระบบนิเวศเพื่อขับเคลื่อนระบบ ววน.ของประเทศ รวมถึงการส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้าต่อไป