การจัดการศึกษาท้องถิ่น มุ่งส่งเสริมการพัฒนาสู่อนาคต

หลายครั้งที่เรารู้สึกว่าการศึกษาไทยย่ำอยู่กับที่ ทั้งที่จริงแล้วทุกอย่างเป็นโครงสร้างที่มีการพัฒนาต่อเนื่อง เพียงแต่ “เห็นผล” หรือ “ได้ผล” แค่ไหน ขึ้นอยู่กับมุมมองและข้อมูลที่ได้รับ ทั้งนี้เพื่อการพัฒนาคนอย่างต่อเนื่อง ภายในงานเสวนา “การจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21” โดยมหกรรมการศึกษาท้องถิ่นระดับประเทศ ครั้งที่ 11 จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งมีวิทยากรได้แก่ รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน,ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และ ดร.ตวง อันทะไชย สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงแตกความคิดในหลายเรื่องที่น่าสนใจ

เบื้องต้น “รศ.ดร.เอกชัย” บอกว่าสิ่งแรกที่เราอยากเห็นเยาวชนไทยในศตวรรษที่ 21 คือต้องมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ มีความสามารถในการสื่อสารภาษาไทยให้คล่องในระดับอนุบาล 3 มีความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และมีความสามารถในการพัฒนาตนเอง และจะต้องมีความมุ่งมั่นมานะอดทนเป็นตัวของตัวเอง

“ที่สำคัญ ควรมีความคิดอ่านด้วยเหตุผล ไม่ถูกชักจูงง่าย จนนำไปสู่พลเมืองที่เข้มแข็ง นอกจากนั้น จะต้องมีจิตสาธารณะ อันเป็นการปลูกฝังในเรื่องการเป็นคนดี มีคุณธรรม และมีจริยธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าเด็กถูกฝึกทักษะแก้ปัญหา และการตัดสินใจ เด็กจะรู้ว่าอะไรควรปรับปรุงแก้ไข และเขาจะพึ่งพาตัวเองได้ในอนาคตต่อไป โดยเฉพาะการปรับตัวสู่โลกอนาคต”

ขณะที่ “ศ.วุฒิสาร” มองเรื่องการศึกษาระดับท้องถิ่นจะเตรียมรับมืออย่างไร โดยผมมีความเชื่อพื้นฐานว่าระบบการศึกษาไทยไม่ได้ขาดงบประมาณ งบประมาณการศึกษาไทย ปีง61ได้งบประมาณจากรัฐบาลราว 5 แสนกว่าล้านบาท เมื่อเทียบกับสัดส่วนจีดีพีที่ 4.8 สูงกว่าญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ดังนั้น การขาดงบประมาณไม่ใช่คำตอบแต่เราขาดครูจริงไหม

“ผมคิดว่าเราขาดการกระจายครู สัดส่วน 74 เปอร์เซ็นต์ของระบบการศึกษาคือเลเบอร์อินเทนซีฟ คือต้องใช้ครู ปัญหาเรื่องดิจิทัล เราใช้ AI ซึ่งขาดความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเก่งอย่างไร แต่ AI ไม่สามารถตอบได้ว่าควรหรือไม่ควรทำอะไร หรือรู้กาลเทศะได้ ครูจึงต้องจัดบทบาทใหม่ ครูจะต้องปรับวิธีการใหม่ เพราะการขาดแคลนครูก็ไม่ใช่ปัญหา ครูต้องปรับบทบาทใหม่ และเราคิดว่าการจัดระบบการศึกษาเป็นภาระที่หนัก ซึ่งไม่ใช่ข้อจำกัด”

“ดังนั้น สิ่งที่การศึกษาระดับท้องถิ่นควรทำคือควรจัดการศึกษาเพราะมีต้นทุนที่ดีแล้ว ท้องถิ่นมีความรับผิดชอบทางสังคม ต้องทำให้ดี ที่สำคัญ องค์กรท้องถิ่นมีความยืดหยุ่น และมีความเป็นเอกภาพ หัวใจสำคัญคือมีอิสระที่คิดออกแบบ จัดการเรียนการสอน การค้นหาเด็กในโรงเรียน ผมมองว่าหัวใจสำคัญต้องมีเลนส์ที่ละเอียด ต้องค้นหาข้ออ่อนของเด็ก เพื่อรีบพัฒนาศักยภาพของเขา ที่สำคัญ องค์กรท้องถิ่นต้องเชื่อมโยงการศึกษาให้ได้ ต้องจัดการเรียนการสอนให้เด็กสามารถใช้ชีวิตให้อยู่รอด หลักคิดคือนำปัญหาของชุมชนมาเป็นฐาน และให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการใช้ชีวิตจริง ๆ นำไปสู่การสร้างอาชีพ และท้องถิ่นควรทำเรื่องการศึกษานอกโรงเรียน”

สำหรับ “ดร.ตวง” มองเรื่องโอกาสแห่งการเรียนรู้ ในศตวรรษที่ 21 โดยบอกว่าเมื่อเรารู้ว่าเด็กเชี่ยวชาญอะไร โรงเรียนต้องสอนตอบโจทย์ให้ได้ ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของชาติ สิ่งสุดท้ายถ้าโลกเป็นแบบนี้ องค์กรส่วนท้องถิ่น หากจัดการการเรียนการสอนตัวเองได้ อยากให้เราเข้าใจระบบการศึกษาก่อน ไม่ได้หมายถึงแค่ในโรงเรียน แต่หมายถึงบริษัทห้างร้าน ชุมชน ทุกอย่างถูกตีเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ เราสามารถเปลี่ยนไปเรียนในสถานประกอบการไปสอนในสถานที่ที่เด็กสนใจ จะเกิดกระบวนการการเรียนรู้ที่เด็กสนใจ และเรียนรู้ได้เร็วเพราะเขาชอบ

เพราะการศึกษาสร้างคนและสร้างชุมชนได้ อย่าคาดหวังปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองไทย เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงโลกได้