สถาบันไผ่กู้ชาติ พลิกวิกฤตไผ่สู่ตลาดโลก

ไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่มาแรงในช่วงศตวรรษที่ 21 ส่งผลให้เกษตรกรปลูกไผ่เป็นจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าพวกเขายังเข้าไม่ถึงองค์ความรู้พื้นฐานที่จำเป็น

ด้วย “ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เล็งศักยภาพของมหาวิทยาลัยรังสิตว่ามีความพร้อมในด้านองค์ความรู้หลากหลายศาสตร์ ทั้งวิชาการ วิชางาน วิชาคน จะสามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ส่งต่อไปยังเกษตรกรได้ จึงได้ริเริ่มจัดตั้ง “สถาบันไผ่กู้ชาติ” (Bamboo For Nation) และบรรจุวิชา “ไผ่ศาสตร์” เพิ่มเข้ามาในการเรียนการสอนของคณะต่าง ๆ เพื่อเป็นการบูรณาการความรู้และสร้างนวัตกรรมร่วมกัน

“ดร.อาทิตย์” กล่าวว่า สถาบันไผ่กู้ชาติเป็นเสมือนศูนย์กลางพัฒนา ยกระดับความเป็นอยู่และความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกรไทย โดยผลักดันพืชท้องถิ่นอย่างไผ่ ซึ่งเป็นพืชที่หาได้ง่ายทุกพื้นที่ของประเทศไทย และมีคุณประโยชน์อนันต์

“สถาบันไผ่กู้ชาติได้รับเกียรติจาก สภลท์ บุญเสริมสุข นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการส่วนความร่วมมือด้านการป่าไม้ระหว่างประเทศ กรมป่าไม้ และผู้ทรงคุณวุฒิมากมายที่มีความรู้และประสบการณ์ในการร่วมพัฒนาไผ่ให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ มาเป็นที่ปรึกษาในการก่อตั้งสถาบันไผ่กู้ชาติ ร่วมเดินหน้าจัดตั้งศูนย์กลางองค์ความรู้ การต่อยอดนวัตกรรม การส่งเสริมการตลาด สิ่งแวดล้อม และความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ของภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อช่วยพัฒนาไผ่ให้สามารถนำกลับมาเป็นพืชที่น่าสนใจ น่าปลูก เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่พลิกฟื้นเศรษฐกิจและความอุดมสมบูรณ์ของป่าประเทศไทยได้จริง”

ในด้านของวิชาไผ่ศาสตร์ เราจะบูรณาการเข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอนในคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยรังสิต โดยจะมุ่งเน้นปรัชญาชาวบ้านเกี่ยวกับไผ่ตั้งแต่ฐานราก ความรู้พื้นฐานตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ การปลูก การเก็บเกี่ยวผลผลิต การแปรรูป การขนส่ง การสร้างตลาด สร้างผลิตภัณฑ์ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมจากไผ่ ฯลฯ เพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน รวมถึงเน้นส่งต่อองค์ความรู้สู่ชุมชนเพื่อผลักดันไปยังตลาดนานาชาติ

นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญอีกประการนั่นคือเมื่อไผ่ตอบโจทย์เศรษฐกิจได้แล้ว ประเทศไทยยังได้ป่ากลับคืนมา เพราะไผ่สามารถช่วยในการรักษาสภาพป่าต้นน้ำ สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ระบบนิเวศอีกด้วย

ด้าน “ศ.(พิเศษ) วิชา มหาคุณ” คณบดีคณะนิติศาสตร์ ในฐานะประธานสถาบันไผ่กู้ชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ไผ่เป็นเรื่องที่รัฐสามารถนำมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติได้ หากรัฐบาลให้ความสำคัญและเล็งเห็นประโยชน์จากการสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมเดินหน้าสนับสนุนและผลักดันให้เกิดตลาดกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย มีนโยบายเยียวยาค่าใช้จ่ายแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปลูกไผ่อย่างจริงจังในช่วงระยะทดลองเหมือนกับประเทศจีน

“เราต้องสร้างความเข้าใจว่าพื้นที่ไหนเหมาะกับการปลูก การคัดเลือกสายพันธุ์สำหรับการแปรรูปให้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมต้องจับมือกันอย่างเป็นระบบ มองเห็นอนาคตของไผ่ในทิศทางเดียวกัน”

ฉะนั้นบทบาทของสถาบันไผ่กู้ชาติจึงอยากทำให้เกิดโมเดล หรือเป็นต้นแบบองค์ความรู้ให้แก่ประชาชน สร้างความมั่นใจให้กับทั้งคนปลูกและคนรับซื้อ ไม่ได้มีเจตนาให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มบุคคลใดหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เรียกว่าไผ่กู้ชาติ ปลูกเพื่อรัฐ

ฉะนั้นการจะพลิกวิกฤตพืชอย่างไผ่ไทยให้เกิดในตลาดโลกได้นั้น จะประสบความสำเร็จหรือไปถึงเป้าหมายไม่ได้เลย หากเราปล่อยให้เกษตรกร หรือหน่วยงานบางหน่วยเดินหน้าเพียงลำพัง และต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน วิจัยคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกัน