การศึกษาศตวรรษ 21 เน้นสร้างทักษะทุกช่วงวัย

ต้องยอมรับความจริงว่าโลกของการศึกษามีการพัฒนาอยู่ตลอด ไปพร้อม ๆ กับเทคโนโลยี และธุรกิจต่าง ๆในอนาคต ดังนั้น การพัฒนาการศึกษาของเยาวชนจะต้องมีความสอดคล้องกับแนวคิดของโลกในปัจจุบัน และอนาคต ที่จะต้องมีทักษะในการใช้ชีวิต ทักษะในการสร้างอาชีพ และทักษะในการบริหารจัดการด้วย

สิ่งสำคัญ พวกเขาจะต้องมีไอคิว และคุณธรรม จริยธรรม ประกอบกัน

“ดร.ทอแสงรัศมี ถีถะแก้ว” รองคณบดีสถาบัน RSU Gen.ed. กล่าวว่าการเตรียมความพร้อมให้เด็กในศตวรรษที่ 21 ควรร่วมกันทั้งที่บ้าน และโรงเรียน เพื่อให้เด็กมีการพัฒนาสมอง และร่างกายไปพร้อม ๆ กัน ส่วนการเรียนการสอนแบบบูรณาการควรเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้สมองทั้งซีกซ้าย ที่เกี่ยวกับการคิดอย่างมีเหตุผล และซีกขวาที่เกี่ยวข้องกับด้านอารมณ์ และความรู้สึกไปพร้อม ๆ กัน ทั้งนั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุล

“เนื่องจากปัจจุบันพบว่าการออกแบบหลักสูตรการเรียนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยที่มีความสอดคล้องกับแนวคิดการศึกษาในศตวรรษที่ 21อาทิ หลักสูตร International Baccalaureate Programme หรือ IB Programme (IB) เป็นหลักสูตรการศึกษา 3 ระดับที่ได้ถูกจัดตั้งโดยInternational Baccalaureate Organization (IBO) เป็นระบบการศึกษาที่ใช้แพร่หลายทั่วโลกมากกว่า 125 ประเทศ หลักสูตรมีระบบการศึกษาในรูปแบบใหม่ที่เป็นที่ยอมรับจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก”

“IB Programme แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1.หลักสูตรการศึกษาระดับต้น (IB Primary Years Programme, PYP) สำหรับเด็กนักเรียนอายุระหว่าง 3-12 ปี 2.หลักสูตรการศึกษาระดับกลาง (IB Middle Years Programme, MYP) สำหรับนักเรียนอายุระหว่าง 11-16 ปี และหลักสูตรการศึกษาระดับประกาศนียบัตรนานาชาติ (IB Diploma Programme, IBDP) สำหรับนักเรียนอายุระหว่าง 16-19 ปี

“ดังนั้น กิจกรรมเสริมสร้างความรู้แตกต่างกันไปตามบริบทของโรงเรียน และกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ โดยระดับที่โตขึ้นจะเน้นความรู้ในด้านภาษาที่หนึ่ง ภาษาที่สอง สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และศิลปะ วิชาเลือกอื่น ๆ รวมถึงการเรียนรู้ด้านปรัชญา จริยธรรมประสาทสัมผัส ควบคู่ไปกับความรู้ทางวิชาการด้วย”

“ดร.ทอแสงรัศมี” อธิบายต่อว่า องค์ประกอบ และหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ คือ การสร้างทักษะชีวิต สำหรับเด็กทุกช่วงวัยได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยมีผู้ปกครอง ครู อาจารย์ คอยเป็นโค้ชช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหาย ทั้งยังช่วยชี้แนะ แต่ไม่ชี้นำ เพื่อเติมความมั่นใจอันเป็นต้นทุนให้กับเขามีทักษะชีวิตเพื่อเติบโตสู่โลกที่ซับซ้อนมากขึ้น

“เพราะเด็กปฐมวัยในศตวรรษที่ 21ไม่ควรเรียนแยกวิชา เช่น วิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์, ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ แต่ควรเรียนรวม และจะต้องประสานองค์ความรู้ สู่การวิเคราะห์ สังเคราะห์จากการมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แบบนี้เด็กไทยจะมีพัฒนาการสู่การเป็นเด็กสองภาษาได้ และมีสมองที่เปิดรับภาษา หรือความรู้อื่น ๆ
ควบคู่กับความสามารถในการคิด คำนวณ ประมวลผล สู่การนำเสนอ ทั้งการพูดแสดงความคิดเห็น สรุปประเด็น และการประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“เด็กปฐมวัยที่กำลังเติบโต และเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาที่มีการปรับตัวแล้วตามทักษะดังกล่าว เราจะเห็นปรากฏการณ์การออกแบบวิชาที่แปลก หรือวิชาที่ไม่คาดคิดมาก่อนในการเรียนระดับมหา’ลัย อาทิ วิชาด้านการคิดอย่างสร้างสรรค์ หรือวิชาชีพทางเลือก, วิชาด้านทักษะชีวิต, วิชาด้านการใช้ชีวิตในสังคม, ศาสตร์และศิลป์ในการดำรงชีวิต ซึ่งล้วนได้รับความสนใจจากแวดวงสังคม”

“นี่คือปรากฏการณ์การปฏิรูปการศึกษาที่บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนพ่อแม่ ผู้ปกครอง และนักเรียนนักศึกษา ต้องหันมาให้ความสนใจวิชาเหล่านี้ มิใช่เป็นการสร้างกระแสทางการตลาดเพื่อดึงดูดเด็กให้เข้ามาเรียนวิชาแปลก ๆ แต่เป็นการตกผลึกจากทีมคณาจารย์ถึงทักษะชีวิตที่คนรุ่นใหม่ควรต้องมี และนำไปปรับใช้เพื่อการอยู่รอดในโลกปัจจุบันและอนาคตได้”

เพราะผลลัพธ์จากห้องเรียนยุคใหม่ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่เกิดกับตัวผู้เรียนเพียงประการเดียว แต่หากเป็นผู้สอน หรือโค้ชที่จะได้เรียนรู้นวัตกรรมความคิด ที่เกิดใหม่ในห้องเรียนนั้นด้วยเช่นกัน จนทำให้เกิดความตื่นตัวในการออกแบบกิจกรรมหลากหลาย และเข้าถึงเด็กยุคใหม่ที่จะเป็นประชากรในโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ต่อไป