Education Communication ไดเร็กชั่นใหม่ “ปิโก”

ตลอดระยะเวลากว่า 12 ปีที่ผ่านมาของงาน “มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู (EDUCA)” ที่จัดโดย บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จ และการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของงานด้านการศึกษาระดับประเทศ ที่สะท้อนผ่านเสียงตอบรับ และการเข้าร่วมงานจากครู บุคลากรทางด้านการศึกษาในจำนวนเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี จากปีแรก 6,000-7,000 ที่นั่ง ขยับมาเป็นปีละไม่ต่ำกว่า 30,000 ที่นั่ง และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

เพราะการจัดงาน EDUCA ในแต่ละปีมุ่งสื่อสารเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยให้มีคุณภาพ โดยปิโก (ไทยแลนด์) นำศักยภาพ และความเชี่ยวชาญด้านการสื่อสารที่มีอยู่มาสร้างคุณค่าร่วมแก่สังคม ทั้งยังค้นคว้า และเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านการศึกษาในระดับสากลที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาเนื้อหา ตลอดจนการรวบรวมผู้ที่มีอุดมการณ์เดียวกันทั้งครู ครูใหญ่ คณาจารย์ ครุศึกษา มาร่วมกันทำงานเพื่อพัฒนาครูและเด็ก

สำหรับล่าสุด ปิโก (ไทยแลนด์) จัดงาน EDUCA พลังของชุมชนแห่งการเรียนรู้ งานเครือข่ายด้านการศึกษา (education networking) ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ได้แก่ ครู อาจารย์ และนักการศึกษาไทยที่มีชื่อเสียงกว่า 100 ท่านมาร่วมงาน เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดและประสบการณ์ด้านการศึกษา และวิชาชีพครู พร้อมกันนี้ ปิโก (ไทยแลนด์) ยังประกาศยกระดับวิสัยทัศน์ใหม่ จาก Research Based Education Event สู่การนำความเชี่ยวชาญด้านการสื่อสารไปขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้มีคุณภาพภายใต้บทบาท education communicationด้วยการเปิดแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ เพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้ในทุกระดับ

“ศีลชัย เกียรติภาพันธ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู (EDUCA) กล่าวว่าการจัดงาน EDUCA ตลอดระยะที่ผ่านมาเป็นพื้นที่เชื่อมโยงองค์ความรู้ระดับประเทศ และระดับโลกให้กับครู เพื่อให้ครูนำไปต่อยอดในห้องเรียนของตัวเอง ทำให้การเรียนรู้มีความหมายมากขึ้น

ที่สำคัญครูสามารถเลือกเวิร์กช็อปได้ตามที่ตัวเองสนใจ โดยมีความหลากหลายของหัวข้อที่แบ่งตามระดับชั้นเรียน และกลุ่มสาระการเรียนรู้ รวมถึงกลุ่มผู้บริหารที่มีฟอรั่มครูใหญ่ (principal forum) โดยเฉพาะงาน EDUCA จึงเรียกได้ว่าเป็นการร่วมพัฒนากลุ่ม change agent ของระบบการศึกษาไทย ทั้งครู ครูใหญ่ และคณาจารย์ครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์

“จากการจัดที่ผ่านมาถือว่าเราสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการศึกษาไทยหลายด้าน ทั้งจากผู้เข้าร่วมงานอย่างกลุ่มครูที่มีความกระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ทุกปี เพื่อนำสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ รวมถึงประสบการณ์ไปพัฒนาเด็กและห้องเรียน ขณะที่ครูใหญ่รู้ถึงหน้าที่ของตัวเอง ที่เป็นมากกว่าการบริหารโรงเรียนคือต้องมองให้ครอบคลุมไปถึงมิติอื่น ๆ ของการเรียนรู้ ทั้งในส่วนของนักเรียนและครู”

“ไม่เพียงเท่านี้ ยังทำให้เกิดการรวมกลุ่มผู้อำนวยการ ผู้นำ หรือที่เรียกว่า Thailand Principal Forum ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของโรงเรียน 200 แห่งที่มาจากหลายสังกัดในการร่วมกันขับเคลื่อนให้ชุมชนเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ (school as learning community : SLC)ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยในระยะยาวต่อไป”

“ศีลชัย” กล่าวอีกว่า การจัดงาน EDUCA ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะเป็นรูปแบบที่เนื้อหามาจาก Research Based Event เป็นหลัก และในระยะหลังปิโกเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอื่น ๆ ทั้งงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ งานที่เกี่ยวข้องกับสตาร์ตอัพ จึงทำให้ปิโก้เข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องการสื่อสาร โดยเฉพาะการสื่อสารทางด้านการศึกษามากขึ้น

“จากแนวทางดังกล่าว เราจึงนำศักยภาพ และความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ทั้งในเรื่องของทรัพยากร องค์ความรู้ เนื้อหา และเครือข่าย มาผนวกรวมกับการสื่อสาร เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเป็นแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ทางด้านการศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศ สตาร์ตอัพ เพราะโลกของวิทยากรที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และอนาคตต้องถูกรวบรวมแพลตฟอร์ม เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกสถานที่ ฉะนั้น องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่จะถูกนำมารวบรวม และสื่อสารออกไปให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง”

“การปรับทิศทาง และวิสัยทัศน์ครั้งนี้ เรามองเรื่องโอกาสเป็นสำคัญ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มหลักของเราที่มีอยู่ในด้านการศึกษา สามารถนำไปเสริมความแข็งแกร่งให้กับแพลตฟอร์มอื่น ๆ เพราะวันนี้ถ้าเราถอยตัวเองลงมา แล้วมองเรื่องการศึกษาในภาพรวมจะพบว่าเรื่องที่เราทำอยู่ทั้งหมดถือว่าอยู่ในอีโคซิสเต็มเดียวกัน และวันนี้ปิโกเองมีทรัพยากรที่ดีในด้านต่าง ๆ เป็นจำนวนมากทั้งรูปแบบและเนื้อในด้านการศึกษา เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สามารถนำมารวบรวมและให้บริการได้ ตรงนี้จะทำให้ธุรกิจของปิโกสามารถขยายและเติบโตอีกต่อไปได้”

“ในอีกทางหนึ่งการปรับตัวครั้งนี้ ผมยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยของดิสรัปชั่น โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี แต่เราไม่ได้มองว่าเป็นผลกระทบ เพราะปัจจัยที่เกิดขึ้นเรากลับนำมาใช้ประโยชน์สำหรับธุรกิจ เพราะเทคโนโลยี หรือวิทยาการเพียงอย่างเดียวไม่ได้สามารถทำให้มนุษย์เป็นคนที่สมบูรณ์ได้ ซึ่งสิ่งที่ปิโกทำเรื่องการศึกษามากว่า 12 ปี ทำให้เรามีพื้นฐานของทักษะความรู้ ความเชี่ยวชาญ ข้อมูลต่าง ๆ จึงสามารถเลือกเอาข้อมูลมาใช้ตอบโจทย์ความต้องการสังคมได้อย่างยั่งยืน เหมือนกับการนำเอาสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้การทำงานด้านนี้มาสื่อสาร และทำความเข้าใจเพื่อยกระดับการศึกษาไทยให้มีความก้าวหน้าต่อไป”

ถึงตรงนี้ “ศีลชัย” บอกว่าโจทย์ยากของการศึกษาไทยวันนี้คือผู้ที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายในด้านการศึกษากำลังหลงทาง เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าถ้านโยบายด้านการศึกษาของประเทศถูกผลักหรือให้น้ำหนักไปด้านวิทยาการ หรือเทคโนโลยีมากไปจะไม่สามารถตอบโจทย์ความไปทั้งหมดของประเทศได้

“ผมกลับมองว่าทิศทางในการพัฒนาการศึกษาของไทยคือการสร้างชุมชนการเรียนรู้ที่มีขนาดเล็ก ๆ ที่รู้ถึงทิศทาง หรือความต้องการของตัวเองในการผลิตบุคลากรที่ตอบโจทย์คุณค่าของตัวเองและชุมชน เพราะบ้านเรามีความสวยงามในเรื่องของความหลากหลายทางด้านภาษา ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม ที่มีความเฉพาะตัว ฉะนั้น โรงเรียนต้องตระหนักถึงหน้าที่ในการผลิตบุคลากรที่มีคุณค่า มีคุณภาพ ไม่ใช่แค่เพียงทำหน้าที่สอนเท่านั้น”


การปรับวิสัยทัศน์ใหม่ที่มุ่งไปสู่ education communication ครั้งนี้จึงเป็นเสมือนการสื่อสารและเชื่อมโยงองค์ความรู้ในทุกระดับ ด้วยกระบวนการ วิธีการ และแพลตฟอร์มการนำเสนอใหม่ ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของคน และสถานการณ์ทางด้านศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป