ตัดวงจรวิจัยขึ้นหิ้ง “สุวิทย์” ดันโมเดลใหม่ไทยไร้ขยะ

ตัดวงจรวิจัยขึ้นหิ้ง

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้การบริหารของ “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” ได้หยิบยกเรื่องนโยบายของรัฐบาลในการจัดการขยะพลาสติกในภาพรวมของประเทศให้เป็นศูนย์ภายในปี 2570 ที่สำคัญยังนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100% เข้ามาในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ circular economy โดยชูเรื่อง BCG โมเดล คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (green economy) เข้ามาใช้ขับเคลื่อนร่วมด้วย เมื่อมีหลักการที่ชัดเจนแล้วนั้น ดร.สุวิทย์จึงมากำหนดโครงการ Zero Waste Thailand หรือโครงการประเทศไทยไร้ขยะ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไว้แล้วประมาณ 8,384 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการวิจัยทั้งในส่วนที่เป็นแนวคิดเพื่อช่วยแก้ปัญหาและการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาจัดการกับขยะที่มองเห็นแล้วว่าในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

ก่อนหน้านี้กระทรวงการอุดมศึกษาฯได้เชิญภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญภายใต้โครงการ Zero Waste เข้ามาหารือคือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าไทย และสภาการเกษตรแห่งชาติ ซึ่งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดขยะขึ้นในระบบ ได้พร้อมใจกันที่จะขับเคลื่อนให้โครงการไปถึงเป้าหมายด้วย “ดร.สุวิทย์” ระบุว่า ต้องการใช้การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญในการสนับสนุนและให้ความรู้ต่อกลุ่มเป้าหมายการคัดแยกขยะ และการนำไปใช้ประโยชน์ซ้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ฉะนั้นโจทย์สำคัญที่จะใช้พิจารณาการนำเสนอโครงการวิจัยนั้นจะต้อง

1) ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วม 2) ต้องตอบโจทย์ประเทศ คือความยืดหยุ่นของการจัดสรรงบประมาณ และ 3) การวิจัยต้องให้คำตอบได้รอบด้าน โดยวางเป้าหมายที่จะให้งบฯสนับสนุนอยู่ที่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท/ปี ตลอดระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้

“จะเห็นว่าเราต้องการเห็นการวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ปัญหาเรื่องขยะที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหากติดขัดในด้านงบประมาณก็จะทำให้ประสบความสำเร็จยาก ต้องสนับสนุนด้วย multiyear/block grant หรืองบประมาณที่ให้ครอบคลุมติดต่อกัน เพื่อให้การวิจัยคล่องตัวและสามารถนำไปใช้ได้จริง”

เมื่อย้อนดูข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในปี 2561 นั้น มีจำนวนรวม 27.8 ล้านตัน มีพลาสติกในขยะชุมชน 2 ล้านตัน โดยในจำนวนนี้เข้าสู่ระบบรีไซเคิลประมาณ 500,000 ตัน หรือประมาณ 25% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขวดพลาสติก ส่วนที่เหลือเป็นขยะพลาสติก 1.5 ล้านตัน ในส่วนนี้เป็นถุงพลาสติกประมาณ 1.2 ล้านตัน ที่เหลือเป็นพลาสติกอื่น ๆ คือ แก้ว กล่อง ถาด ขวด และฝาจุก นอกจากนี้ยังมีขยะมูลฝอยที่กำจัดด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องอีกด้วยถึง 7.36 ล้านตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้วิธีเทกองหรือเผากลางแจ้งในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย นอกจากนี้ยังมีการลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณประโยชน์และลักลอบทิ้งลงแหล่งน้ำอีกด้วย

ขณะที่สถานที่ใช้สำหรับกำจัดขยะนั้นนับเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยปัจจุบันมีสถานที่กำจัดขยะ 2,789 แห่ง โดยในจำนวนนี้เป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียง 595 แห่ง หรือคิดเป็น 21% เท่านั้น ส่วนที่เหลือ 2,171 แห่ง เป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้อง จึงต้องมีกระบวนการเข้ามาแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบมากขึ้น

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น “ดร.สุวิทย์” อธิบายต่ออีกว่า กระทรวงการอุดมศึกษาฯไม่ได้สนับสนุนเพียงแค่การวิจัยเท่านั้น ยังทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบรรดานิสิต นักศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลอีก 9 แห่ง ที่จะถูกปลูกฝังตั้งแต่การแยกขยะ หากดำเนินโครงการโดยไม่มีส่วนอื่น ๆเข้ามาเกี่ยวข้อง การทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจะเป็นเรื่องยากทันที จึงต้องดึงนักศึกษาเข้ามาร่วม ไม่เพียงแต่สร้างพลังการเปลี่ยนแปลง แต่ยังสามารถสร้างโครงข่ายที่เชื่อมโยงไปสู่ระดับท้องถิ่นได้ ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ทำให้งานวิจัยไม่ต้องถูกขึ้นหิ้งก็คือ งานวิจัยจะต้องมองเห็นถึงประโยชน์ที่สังคมหรือชุมชนจะได้รับ และได้การยอมรับจากชุมชนยังเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จได้ด้วย

“วิธีนี้จะทำให้งานวิจัยขึ้นหิ้งลดน้อยลงด้วย โจทย์สำคัญอย่างที่บอก งานวิจัยที่ขึ้นหิ้งเป็นจำนวนมากนั้น เพราะมันเป็นโจทย์เฉพาะแค่เหล่าอาจารย์ที่ต้องการปรับวิทยฐานะ จึงทำให้งานวิจัยไม่ได้ตอบโจทย์ใคร แต่เราเน้นที่การวิจัยต้องตอบโจทย์ประเทศ ชุมชน และภาคเอกชนด้วย”

ทั้งนี้ “ดร.สุวิทย์” ได้แชร์ไอเดียที่น่าสนใจใน 2 ประเด็นที่สามารถนำมาเป็นตัวชี้วัดในการขอตำแหน่งศาสตราจารย์ในอนาคตคือ งานวิจัยต้องตอบโจทย์ปัญหาของสังคม รวมถึงสามารถนำไปต่อยอดได้ และนักวิจัยจะต้องสามารถคิดค้นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนด้วย ซึ่งทำให้อาจารย์หรือนักวิจัยสนุกกับการทำงานและมีการทำงานที่ลงลึกในระดับชุมชนได้อีกด้วย

โดยโครงการ Zero Waste ไม่เพียงแต่ต้องการให้มีการลดขยะได้ตามเป้าหมายเท่านั้น ยังมีประโยชน์อื่น ๆ ที่จะตามมาอีกด้วยคือ รายได้ของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มขึ้น เกิดการจ้างงาน (startup) มากขึ้น ส่วนประโยชน์ด้านอื่น ๆ ยังต้องใช้เวลาเพื่อทำการศึกษา เนื่องจากปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ สิ่งสำคัญคือต้องมีการ “กำหนดเป้าหมายให้ชัด” มีการระดมสมองเพื่อให้ครอบคลุมในทุกเรื่องที่มีความหลากหลายทั้งในแง่ของภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม

เมื่อมองการเชื่อมโยงด้านการศึกษากับการบริหารจัดการขยะในอนาคตนั้น “ดร.สุวิทย์” ระบุว่า การจัดการขยะถือเป็นนโยบายของภาครัฐที่จะต้องมีแผนปฏิบัติการ (action plan) รองรับด้วย ดังนั้นสิ่งที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯจะต้องดำเนินการเพิ่่มเติมคือ 1) การปรับหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยใหม่ เพราะนโยบาย zero waste จะทำให้มีอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้นตามมา อาจจะต้องมีการเพิ่มวิชาที่ว่าด้วยเรื่อง zero waste เช่น การบริหารจัดการและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้กับ zero waste 2) อาจจะต้องเพิ่มหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง “เฉพาะเรื่อง” เช่น เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ circular economy หรือ circular enterprise เป็นต้น

ถือว่ากระทรวงการอุดมศึกษาฯได้สร้าง “จุดเริ่มต้น” ไว้แล้ว แต่บางปัญหาอาจจะใหญ่เกินกว่าใครคนใดคนหนึ่งจะทำได้ จึงต้องสร้างมาตรฐานและการจัดการใหม่เข้ามาแก้ปัญหา ที่สำคัญทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วม คัดแยกก่อนทิ้ง หรือตัดต้นทางไม่ให้เกิดขยะได้ยิ่งดี