ภารกิจ วช. ปี’63 สางโจทย์ท้าทาย-ยกระดับการวิจัย

ศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริฤกษ์ ทรงศิวิไล

การจัดตั้งกระทรวงใหม่อย่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อย่างเป็นทางการในปีที่่ผ่านมา นอกจากดูแลการศึกษาในภาพรวมแล้ว ยังถือเป็นการจัดระเบียบให้กับการวิจัยของประเทศ เพื่อให้มีศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาของประเทศไปในทิศทางเดียวกัน และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการแก้ปัญหาให้กับประเทศทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ อีกทั้งยังต้องการให้ได้ผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์ความท้าทายสังคม ขจัดความเหลื่อมล้ำ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศแข่งขันในระดับโลกได้

เมื่อมองย้อนผลงานสำคัญของ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารของ “ศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริฤกษ์ ทรงศิวิไล” ผู้อำนวยการ วช. จะพบว่าได้เดินหน้าไปใน 10 ภารกิจสำคัญ คือ 1) กระทรวงใหม่ที่เกิดจากการควบรวม 4 หน่วยงานเข้าไว้ด้วยกัน คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติ

2) วช.โฉมใหม่ กำหนดภารกิจที่เรียกว่า “วช. 5G” ปรับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ให้เป็น “สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ” โดยมีภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการ คือ เป็นหน่วยงานหลักในการให้ทุนวิจัย และนวัตกรรมของประเทศ ครอบคลุมทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ตั้งแต่ขั้นตอนการวิจัยรวมไปจนถึงการนำผลงานไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ด้วยการปรับ วช.ให้เป็นหน่วยงานประสิทธิภาพสูง คล่องตัว อีกทั้งยังเชื่อมโยงนโยบายสู่การปฏิบัติ

ตามมาด้วย 3) ดูแลกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกำหนดบทบาทหน่วยบริหารและการจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม หรือ PMU (program management unit) ในการบริหารงบประมาณการวิจัยผ่านกองทุนดังกล่าว และตั้งหน่วยบริหาร PMU นอกจากนี้ยังใช้เพื่อส่งเสริมการวิจัยทั้งภายใน และภายนอกกระทรวงการอุดมศึกษาฯ คือ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัย และนวัตกรรมเพิ่มเติม ทั้งยังเพิ่มบทบาทการทำงานเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและสร้างนวัตกรรม

4) จัดงบฯสำหรับการวิจัยและนวัตกรรมของไทย ที่ 1.25% ของ GDP ประเทศ เกิดการลงทุนด้านวิจัย และนวัตกรรมของประเทศเพิ่มขึ้น 216,376 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ระดับ 1.5% ของ GDP ภายในปี 2565 และ 2.0% ภายในปี 2570

5) จัดฐานข้อมูลกลางการวิจัยของประเทศ ข้อมูลกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมประสิทธิภาพของข้อมูล ยกตัวอย่าง เช่น analytic & prediction, cloud computing, IOR, AI, big data ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงของข้อมูลการวิจัยที่มีความครบถ้วน

6) งานวิจัยต้องใช้ได้จริง อาทิ การปลดล็อกส่งออกมะม่วงไปประเทศสหรัฐอเมริกา ตอบโจทย์แนวคิด BCG Model ทำให้สามารถส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไปยังสหรัฐได้ในรอบ 12 ปี นอกจากนี้ยังมีผลงานอย่างศูนย์ข้อมูลฝุ่น PM 2.5 ครบวงจร หรือที่เรียกว่า ระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ (NRCT Air Quality In-formation Center) เพื่อให้เป็น platform ในการตรวจวัด และข้อมูลค่าฝุ่นละอองที่แม่นยำมากขึ้น และธนาคารปูม้าที่ขยายผล และบูรณาการขับเคลื่อนธนาคารปูม้ารวม 531 แห่ง จากเป้าหมายที่วางไว้ที่ 500 แห่ง โดยล่าสุดมีจำนวนแม่ปูที่เข้าสู่ระบบกว่า 113,000 ตัว คาดว่าจะมีลูกปูคืนกลับสู่ทะเลได้ราว 56.5 ล้านตัว

7) ผลงานวิจัยไทยได้รับการยอมรับในเวทีโลก ใน 4 เวทีนานาชาติ คือ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์, เกาหลี, เยอรมนี และมาเลเซีย จากผลงาน เช่น ระบบควบคุมอุณหภูมิการเผาไหม้ของเครื่องกังหันก๊าซแบบอัตโนมัติของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ฯลฯ

8) โครงการวิจัยท้าทายไทย ด้วยการวางเป้าหมายในโครงการขนาดใหญ่เพื่อประชาชน เช่น โครงการประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดีแบบครบวงจร อัตราการเกิดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับลดลงจาก 43% เหลือ 13% ใน 2 ปี

งานวิจัยทางการแพทย์ ที่ช่วยค้นหาผู้ป่วยมะเร็งในสมาชิกครอบครัว เช่น กรณีผู้ป่วยมะเร็งที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ป้องกัน คัดกรองมะเร็งในสมาชิกครอบครัว เพื่อช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งได้ 5,000 ราย

9) วิจัยเพื่อท้องถิ่น ผลิดอกออกผล เช่น การกระตุ้นการออกดอกและเพิ่มการติดผลของลิ้นจี่พันธุ์ค่อม เครื่องอบแห้งผลิตผลทางการเกษตร ลดความชื้นผลผลิตทางการเกษตร สามารถเคลื่อนย้ายได้ ลดระยะเวลา และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และ 10) เชื่อมไทย เชื่อมโลกด้านการวิจัย เช่น พัฒนาศูนย์แห่งความเป็นเลิศนานาชาติ มีความร่วมมือกับชาติอื่น ๆ คือ เยอรมนี, อังกฤษ, จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น และอินเดีย นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือด้านพลังงาน ระหว่าง วช. สกสว. และ Korea Institute of Energy Technology Evaluation and Planning (KETEP)

โดยในปี 2563 วช.วางเป้าหมายไว้ว่าจะขับเคลื่อน ยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดผลงานที่มี impact สูง ทั้งในเชิงสังคมและเศรษฐกิจ สร้างความรู้พื้นฐานทางวิชาการ ตอบโจทย์ความท้าทายของสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทย เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายปฏิรูปการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน