ม.วลัยลักษณ์ ประกาศใช้การเรียนการสอน ‘ออนไลน์’ นศ.ฝึกงานขอหยุดฝึกได้ แต่จบช้า เลี่ยงโควิด-19

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ออกประกาศปรับใช้การเรียนการสอน “ออนไลน์” ในสถานการณ์ COVID-19 เริ่มใช้ทุกรายวิชาตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 นี้

วันที่ 18 มีนาคม 2563 ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงนามในประกาศมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เรื่อง แนวทางการจัดการเรียนการสอนและการประเมินผล ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ความว่า เนื่องด้วยปรากฏสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ประเทศไทยได้ประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์รับมาตรการมาดำเนินการตามประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

โดยมหาวิทยาลัยพิจารณาไม่ประกาศปิดมหาวิทยาลัย แต่ได้กำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนออนไลน์แทนการสอนในห้องเรียนเพื่อลดการเรียนร่วมกันของนักศึกษาในห้องเรียนและในห้องปฏิบัติการ โดยอาจารย์ผู้สอนสามารถพิจารณาปรับรูปแบบกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเนื้อหา และสามารถปรับวิธีการวัดประเมินผลได้ โดยยังคงความครบถ้วนของเนื้อหา เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ตามคำอธิบายรายวิชาที่ระบุไว้ในรายละเอียดของเล่มหลักสูตร และสามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามระยะเวลาที่กำหนด โดยมีมาตรการดังนี้

1. การจัดการเรียนการสอน

1.1 ปรับวิธีการสอนเป็นการสอนแบบออนไลน์ โดยใช้โปรแกรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับรายวิชา และเพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียน Online ได้ในทุกวิชาโดยไม่ซ้อนทับเวลากัน จึงให้ผู้สอนออนไลน์ยึดตามตารางเวลาเรียนตามที่ศูนย์บริการการศึกษากำหนด

1.2 จัดการเรียนสอนเป็นแบบ Assignment-based, Project-based, Case-based หรือ Self-directed Study ในรายวิชาที่สามารถทำได้ ซึ่งผู้สอนสามารถกำหนดเวลาในการเรียนการสอนร่วมกับผู้เรียนได้ตามความเหมาะสม

1.3 การจัดการเรียนการสอนโดยวิธีตามข้อ 1.1 – 1.2 อาจารย์ผู้สอนต้องชี้แจงถึงการปรับการเรียนสอน วิธีการสอน การใช้เครื่องมือในการสอน แจ้งช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้สอนและผู้เรียน แก่นักศึกษาได้ทราบอย่างชัดเจน

1.4 ให้คณบดีทุกสำนักวิชา/วิทยาลัย สำรวจผู้สอนและผู้เรียนในทุกรายวิชาในภาคการศึกษาที่ 3 ปีการศึกษา  2562 โดยจำแนกอาจารย์และผู้เรียนในทุกรายวิชาที่ไม่มีความพร้อมในการเรียนแบบออนไลน์และดำเนินการดังนี้
1.4.1 ผู้สอนที่ไม่สามารถสอนออนไลน์ได้ให้เข้ารับการอบรมและเตรียมการสอนออนไลน์ เพื่อให้สามารถสอนออนไลน์ได้ทุกรายวิชา ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2563

1.4.2 ผู้เรียนที่ไม่มีความพร้อมเนื่องจากไม่มีอุปกรณ์และอินเตอร์เน็ต มหาวิทยาลัยจะได้จัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับการเรียนโดยให้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล และระบบอินเตอร์เน็ตของมหาวิทยาลัย โดยมีมาตรการในการคัดกรองป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 อย่างเคร่งครัด

2. การประเมินผลรายวิชา

2.1 การประเมินผลรายวิชาที่จัดการเรียนการสอนตามแนวทางข้างต้น อาจารย์ผู้สอนสามารถใช้วิธีการประเมินตามกรอบ UKPSF ที่สามารถประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปรับวิธีการประเมินให้สอดคล้องกับรูปแบบการสอน โดยให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้สอน และผ่านความเห็นชอบของหลักสูตรและคณะกรรมการประจำสำนักวิชาตามลำดับ ก่อนการไปใช้
2.2 การสอบและประเมินผล กลางภาค/ปลายภาค ต้องดำเนินการตามตามตารางสอบ ที่ ศูนย์บริการการศึกษากำหนด แต่ผู้สอนสามารถปรับวิธีการสอบประเมินผลให้เหมาะสมกับวิธีการสอนและจำนวนผู้เรียนในรายวิชานั้นๆ ได้
2.3 รายวิชาที่มีจำนวนนักศึกษาไม่เกิน ๒๐ คน สามารถมอบหมายงาน (Assignment) ในการประเมินแทนการสอบได้
2.4 ผู้สอนต้องประเมินผลรายวิชาและส่งผลการประเมินรายวิชา (เกรด) ตามเวลาที่ศูนย์บริการการศึกษากำหนด

3. การสอนรายวิชาปฏิบัติการ

การสอนรายวิชาปฏิบัติการที่ในห้องปฏิบัติการ ทั้งที่อยู่ในสังกัดของศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์ความเป็นเลิศ หรือ หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินกาสอนตามปกติ โดยยึดหลักคุณภาพการเรียนการสอน อาจปรับการสอนการปฏิบัติการให้กระชับขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เรียนได้รับความรู้ครบถ้วนตามเนื้อหาสาระและวัตถุประสงค์ของรายวิชาปฏิบัติการนั้นๆ และปฏิบัติตามมาตรการคัดกรองป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 อย่างเคร่งครัด ส่วนเนื้อหาบางส่วนที่เกี่ยวข้องในการเรียนปฏิบัติการที่สามารถเรียนออนไลน์ได้ให้ดำเนินการจัดการสอนออนไลน์

4. การฝึกงาน/การฝึกปฏิบัติวิชาชีพ/การปฏิบัติสหกิจศึกษา ให้สำนักวิชา/หลักสูตรดำเนินการดังนี้

4.1 นักศึกษาที่ประสงค์จะฝึกงาน/ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ/ปฏิบัติสหกิจศึกษา ให้เสร็จสิ้นโดยสถานประกอบการ/หน่วยงานที่นักศึกษาไปฝึกงานฝึกงาน/ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ/ปฏิบัติสหกิจศึกษา ยังคงให้นักศึกษาดำเนินการต่อได้ ให้นักศึกษาอยู่ฝึกงาน/ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ/ปฏิบัติสหกิจศึกษา ที่สถานประกอบการ/หน่วยงาน นั้นจนแล้วเสร็จ

4.2 นักศึกษาที่ประสงค์จะฝึกงาน/ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ/ปฏิบัติสหกิจศึกษา ให้เสร็จสิ้นแต่สถานประกอบการ/หน่วยงาน ที่นักศึกษาไปฝึกงานฝึกงาน/ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ/ปฏิบัติสหกิจศึกษา ไม่สามารถให้ปฏิบัติงานต่อได้ ให้สำนักวิชา/หลักสูตร หารือร่วมกับนักศึกษาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมกับลักษณะการปฏิบัติงานของแต่ละหลักสูตร ตามระยะเวลาที่เหลือ และประเมินผลได้ตามปฏิทินการศึกษาที่กำหนดไว้

4.3นักศึกษาที่ประสงค์จะหยุดการฝึกงาน/ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ/ปฏิบัติสหกิจศึกษา โดยสถานประกอบการ/หน่วยงาน ยังต้องการให้นักศึกษาฝึกงาน/ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ/ปฏิบัติสหกิจศึกษาได้โดยไม่มีความเสี่ยง ให้สำนักวิชา/หลักสูตร หารือกับนักศึกษา หากนักศึกษายังประสงค์จะหยุดจะต้องเริ่มฝึกงาน/ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ/ปฏิบัติสหกิจศึกษาใหม่ให้นักศึกษาแจ้งความประสงค์ผ่านบันทึกข้อความพร้อมลงนาม เพื่อรับทราบผลกระทบที่จะส่งผลให้นักศึกษาสำเร็จการศึกษาล่าช้าไปกว่าแผนการศึกษาเดิมได้

4.4 สำหรับนักศึกษาที่กำลังจะออกฝึกงาน/ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ/ปฏิบัติสหกิจศึกษาให้สำนักวิชา/หลักสูตร หารือร่วมกับนักศึกษาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมของแต่ละหลักสูตร โดยให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการประจำสำนักวิชา/วิทยาลัย

5. ระบบสนับสนุน

มหาวิทยาลัยได้จัดเตรียมระบบสนับสนุนที่รองรับการจัดการเรียนการสอน การวัดประเมินผล การส่งเกรด การจำแนกสภาพ และการสำเร็จการศึกษา สำหรับการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางที่กำหนดข้างต้นโดยอาจารย์ผู้สอนสามารถติดต่อและสอบถามข้อมูลไปยังหน่วยงานสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์นวัตกรรมการเรียนและการสอน ศูนย์บริการการศึกษา ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา และศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยจะติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 อย่างใกล้ชิด หากจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรค มหาวิทยาลัยจะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป