“ตรีนุช” จี้โรงเรียนปรับแผนการสอน ลดภาวะนักเรียนเครียด

“ตรีนุช” จี้โรงเรียนปรับแผนการสอนผ่อนคลายภาระด้านการเรียนเด็ก ลดเวลาเรียนทุกรูปแบบ -ให้เรียนเรื่องที่ต้องรู้ – หั่นการบ้าน-งดกิจกรรมรวมกลุ่ม – ลดการทดสอบทั้งระดับโรงเรียนและระดับชาติ

วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ติดตามการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างใกล้ชิด และเปิดรับฟังทุกความคิดเห็นจากนักเรียน ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการศึกษามาโดยตลอด

โดยเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตนได้ประชุมร่วมกับผู้บริหาร ศธ. และออกแนวทางผ่อนคลายภาระด้านการเรียนที่เกินความจำเป็นของนักเรียนลง ตลอดจนให้สถานศึกษาสำรวจอุปกรณ์การเรียนของนักเรียนเป็นรายบุคคล ดำเนินการช่วยเหลือนักเรียนในรูปแบบที่เหมาะสม ยืดหยุ่น เข้าใจนักเรียน เพื่อลดความเครียดของนักเรียนที่ต้องเรียนภายใต้สถานการณ์เช่นนี้

แต่ยังพบว่าจนถึงขณะนี้สถานศึกษาหลายแห่งยังไม่มีการปรับปรุงแผนการสอน มีการกำหนดตารางเรียนออนไลน์อัดแน่นถึงวันละ 9 วิชา ดังนั้น ตนจึงได้สั่งการให้องค์กรหลักที่มีสถานศึกษา กำชับไปยังผู้บริหารสถานศึกษาปรับปรุงแผนการจัดการศึกษาโดยด่วน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางการลดภาระด้านการเรียนนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้มีการปรับการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยกำหนดเป็นมาตรฐานกลาง “เรื่องที่ต้องรู้ และ เรื่องควรรู้”

ในแต่ละสาขาวิชาให้เหลือเท่าที่จำเป็น จากนั้นจะแจ้งให้สถานศึกษาดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามบริบทของสถานศึกษาในแต่ละพื้นที่ โดยเน้นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ให้ปฏิบัติมากขึ้น ลดวิชาการลง ลดเวลาเรียนในแต่ละช่วงชั้น ทั้งการเรียนที่โรงเรียน การเรียนออนไลน์ หรือ การเรียนที่บ้าน ในรูปแบบต่าง ๆ ให้มีความยืดหยุ่นแต่ยังคงเป็นไปตามมาตรฐานการจัดเวลาเรียน ปรับลดปริมาณการบ้านลง ซึ่งครูจะต้องมาคุยกันเพื่อบูรณาการการบ้านทั้งในรายวิชาเดียวกันและต่างรายวิชา ให้เป็นชิ้นงานหรือการบ้านเดียวกัน โครงการหรือกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้อง ให้ชะลอ หรือ ลด หรือ งดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19

นางสาวตรีนุช กล่าวด้วยว่า พร้อมกันนี้ ศธ.จะปรับลดการทดสอบเพื่อการวัดประเมินผลให้น้อยลง เน้นการวัดประเมินจากสภาพจริง ปฏิบัติจริง และแฟ้มสะสมผลงาน เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การประเมินผลระดับชาติและการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ไม่นำผลการทดสอบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-net) มาใช้ในการรับนักเรียนเพื่อเข้าศึกษาต่อในชั้น ม.1 และ ม.4 และจะพัฒนาระบบการทดสอบเพื่อการวัดและประเมินผลรูปแบบใหม่ โดยไม่เน้นการทดสอบ

นอกจากนี้ ศธ.ได้หารือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) แล้วว่าจะเพิ่มสัดส่วนการคัดเลือกเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษารอบแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) และ รอบโควตาให้มากขึ้น ไม่นำคะแนน O-net มาใช้ในการคัดเลือก และการออกข้อสอบที่ใช้ในการทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) ทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) และวิชาสามัญ ต้องล้อกับหลักสูตรที่ได้มีการปรับลดลงในช่วงโควิดนี้ด้วย