จุฬาฯ เผยคืบหน้า วัคซีนใบยา เริ่มทดสอบในคนระยะแรก ก.ย. นี้ 

สองนักวิจัยจุฬาฯ ผู้พัฒนา “วัคซีนใบยา” ป้องกันโควิด-19 เผยความคืบหน้า เตรียมทดสอบประสิทธิภาพในคนระยะแรก เดือน ก.ย. 2564 ตั้งเป้าพร้อมฉีดคนไทยกลางปี 2565 ในราคาต้นทุนโดสละ 300 – 500 บาท พร้อมกับเดินหน้าวิจัยวัคซีนรุ่น 2 รองรับไวรัสกลายพันธุ์

วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทวีความรุนแรงขึ้นด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตไต่ระดับสูงขึ้นรายวัน “วัคซีน” เป็นหนึ่งในความหวังที่จะช่วยชะลอ และลดการแพร่ระบาดของโรคและอัตราการเสียชีวิตได้ 

ที่ผ่านมานักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คิดค้นพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยตลอด ทั้ง ChulaCov19 วัคซีนชนิด mRNA ที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ 

รวมถึง “วัคซีนใบยา” ที่ผลิตจากใบพืช ผลงานสตาร์ทอัพบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด (ภายใต้ CU Enterprise) นำโดย 2 นักวิจัยซึ่งเป็นอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ และรองศาสตราจารย์ ดร.วรัญญู พูลเจริญ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ เผยว่า วัคซีนใบยาเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด 

ซับยูนิตวัคซีน (subunit vaccine) ซึ่งต่างประเทศมีการผลิตวัคซีนชนิดนี้มานานแล้ว โดยผลิตจากหลายแหล่ง เช่น พืช แมลง ฯลฯ ขณะที่หลายประเทศผลิต ซับยูนิตวัคซีน  จากใบพืช เช่น แคนาดา และเกาหลีใต้

“วัคซีนใบยา ใช้ใบยาสูบสายพันธุ์ดั้งเดิมจากออสเตรเลียทำหน้าที่เสมือนโรงงานผลิตชิ้นส่วนของไวรัสซึ่งเป็นไวรัสที่ไม่ก่อให้เกิดโรค เมื่อฉีดวัคซีนใบยาเข้าไปในร่างกาย วัคซีนจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของเรา หากติดเชื้อโควิด-19 ก็จะป้องกันได้”

ไทม์ไลน์วัคซีนใบยา 

ภายหลังได้รับวัคซีนต้นแบบตั้งแต่เดือน ก.พ. 2563 คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการทดสอบวัคซีนใบยากับสัตว์ทดลอง เช่น หนูขาวและลิงซึ่งแล้วเสร็จในเดือน ส.ค. 2563 ซึ่งพบว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองได้ผลสูง หลังจากนั้น (ต.ค. 2563) จึงเริ่มสร้างโรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนที่อาคารจุฬาพัฒน์ 14 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 2564 โรงงานเนื้อที่ 1,200 ตร.ม. มีกำลังการผลิตวัคซีนเดือนละ 1 – 5 ล้านโดส

เตรียมทดสอบ ก.ย.นี้

ในเดือน ส.ค.จะเปิดรับอาสาสมัครเพื่อทดสอบวัคซีนกลุ่มแรกจำนวน 50 คน อายุ 18 – 60 ปี โดยอาสาสมัครต้องมีสุขภาพแข็งแรงและไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน การทดสอบจะเริ่มในเดือน ก.ย.อาสาสมัครจะได้รับการฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็ม เว้นระยะเวลาห่างกัน 3 สัปดาห์ เมื่อทดสอบกับอาสาสมัครกลุ่มแรกเสร็จก็จะทดสอบกับอาสาสมัครกลุ่มอายุ 60–75 ปี ต่อไป และคาดว่าวัคซีนใบยาจะพร้อมฉีดให้คนไทยช่วงกลางปี 2565 ในราคาต้นทุนโดสละ 300 – 500 บาท

พัฒนารุ่น 2 รับมือไวรัสกลายพันธุ์

ทั้งนี้ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เผยว่า นอกจากนี้ คณะนักวิจัยยังได้พัฒนาวัคซีนใบยารุ่นที่ 2 เพื่อรับมือการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะพร้อมทดสอบกับอาสาสมัครปลายปี 2564 โดยจะปรับปรุงศักยภาพของวัคซีนในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น 

อย่างไรก็ตาม วัคซีนใบยาเป็นวัคซีนฝีมือคนไทย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ใช้นักวิจัยคนไทยกว่า 50 ชีวิต และผู้สนับสนุนอีกนับร้อย การผลิตวัคซีนโควิดได้เองจะส่งผลให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านสุขภาพ สามารถต่อยอดงานวิจัย ไปใช้ประโยชน์เพื่อประชาชนได้ และเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยด้วย