มทร. อีสาน เปิดศูนย์รักษาผู้ป่วยโควิด ด้วยสมุนไพรไทยแห่งแรก

มทร.อีสาน เปิดศูนย์ TTM-CI รักษาผู้ป่วยโควิดด้วยศาสตร์ด้านแพทย์แผนไทย ใช้สมุนไพร ฟ้าทะลายโจร ยาตรีผลา ยาปราบชมพูทวีป และตำรับยาจากหมอพื้นบ้านอื่นๆ เป็นแห่งแรก รองรับ 50 เตียง

วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) วิทยาเขตสกลนคร ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร เปิดศูนย์ดูแลในชุมชน (แผนไทย) : TTM-CI (TTM-CI : Thai Traditional Medicine – Community Isolation ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยการนำองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย บูรณาการกับการแพทย์สมัยใหม่รักษาผู้ป่วยอาการน้อย ซึ่งเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา ณ โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย สกลนคร (หลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท) อ.พังโคน จ.สกลนคร

รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดใน จ.สกลนคร มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่ติดเชื้อมาจากต่างจังหวัดแต่ขอกลับมารักษาตัวที่ภูมิลำเนา และการติดเชื้อภายในจังหวัด จึงต้องจัดเตรียมพื้นที่รองรับผู้ป่วยให้เพียงพอ ดังนั้นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร จึงได้ประสานขอความร่วมมือ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร จัดตั้งศูนย์ TTM-CI (TTM-CI : Thai Traditional Medicine – Community Isolation ที่ โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย สกลนคร (หลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท) เป็นที่รองรับผู้ป่วยโควิดของจังหวัดที่ตรวจพบติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว แต่ยังไม่แสดงอาการ โดยศูนย์ TTM-CI นี้ จะเป็นการรักษาด้วยศาสตร์ด้านแพทย์แผนไทยบูรณาการร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบัน ตามแนวทางของกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข 

โดยใช้สมุนไพรไทย อาทิเช่น ฟ้าทะลายโจร แก้ไข้ ระงับอาการอักเสบ ยาตรีผลา บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ยาปราบชมพูทวีป บรรเทาอาการไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ แก้ท้องอืดเฟ้อ นอกจากนี้มีตำรับยาสมุนไพรอื่นๆ ได้แก่ ยาจันทลีลา ยาประสะจันทร์แดง ยาหอม นวโกศฐ ยาห้าราก ยาน้ำสาบานจากวัดคำประมง และตำรับยาจากหมอพื้นบ้าน โดยรักษาควบคู่ไปกับการบริโภคอาหารตามธาตุของผู้ป่วย โดยปรุงอาหารจากเครื่องเทศที่มีสรรพคุณต้านเชื้อโควิดและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค แต่หากผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้น (เชื้อลงปอด) จะส่งต่อไปที่อยู่ใกล้เคียงได้แก่ โรงพยาบาลพังโคน โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร หรือโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน

รศ.ดร.โฆษิต กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้จัดเตรียมสถานที่โดยใช้พื้นที่อาคารผู้ป่วยนอก สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 50 เตียง มีบุคลากรทางการแพทย์จากสำนักงานสาธารณสุข จ.สกลนคร และ มทร.อีสาน มีกล้องวงจรปิดเพื่อความปลอดภัย และใช้ระบบโซเชียลมีเดียในการติดต่อประสานงาน หากจำนวนผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สามารถขยายไปอาคารผู้ป่วยใน สามารถรับได้อีกกว่า 100 เตียง

อย่างไรก็ตาม มทร.อีสาน มีโรงงานแปรรูปอาหาร และโรงงานผลิตยาสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน ที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งยังมีการสอนนักศึกษาระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโท ในสาขาแพทย์แผนไทย และสาขาเกษตร จึงมีความพร้อมและศักยภาพการผลิตอาหารสุขภาพและยาสมุนไพรสำหรับผู้ป่วยโควิดได้ดี และยังมีนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ภายใต้มูลนิธิ BCL จำนวนกว่า 70 คน ที่สามารถผลิตวัตถุดิบอาหารและยาสมุนไพรได้อย่างต่อเนื่อง 

สร้างทักษะการเรียนรู้และใช้ประโยชน์ได้ทันสถานการณ์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายและเป็นโมเดลต้นแบบของการพัฒนาระบบสุขภาพไทยอย่างครบวงจรและยั่งยืน โดยทั้งหมดนี้ อยู่ภายใต้นโยบายขับเคลื่อนด้าน Food and Health ของมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญในเรื่องการรักษาอาการเจ็บป่วย ด้วยศาสตร์ด้านแพทย์แผนไทยและการใช้พืชสมุนไพรไทยของคนในพื้นที่ภาคอีสาน