ทปอ. กางไทม์ไลน์สอบ TCAS65 มี 4 รูปแบบ โยน “สสวท.-มธ.-มศว.” ออกข้อสอบ

ทีแคส

ทปอ. กลางปฎิทิน TCAS 65 มี 4 รูปแบบ เริ่ม 9 ธ.ค.2564-21 มิ.ย.2565 โยน “สสวท.-มธ.-มศว.” ออกข้อสอบ

วันที่ 22 สิงหาคม ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ทปอ.ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางคัดเลือกในระบบกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ปีการศึกษา 2565

โดยปรับลดการสอบให้น้อยลง และลดการคัดเลือกเหลือ 4 รอบ 4 รูปแบบ ดังนี้ 1.รอบแฟ้มสะสมผลงาน 2.รอบโควต้า 3.รอบแอดมิสชั่นส์ โดยยกเลิกรูปแบบแอดมิสชั่นส์ 2 ที่ใช้คะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ในการคัดเลือก และ 4.รอบรับตรงอิสระ โดยทุกรอบจะยุติการใช้คะแนนโอเน็ตเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก

ดร.พีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบทีแคส กล่าวว่า ปฏิทินการดำเนินงานทีแคส ปีการศึกษา 2565 เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2564 – 21 มิถุนายน 2565 ระบบจะเปิดให้ลงทะเบียนวันที่ 9 ธันวาคม ผ่าน www.mytcas.com

รอบที่ 1 มหาวิทยาลัยกำหนดวันรับสมัครเอง ประกาศผลในระบบ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ยืนยันสิทธิในระบบ วันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ สละสิทธิ์ในระบบ วันที่ 9 กุมภาพันธ์

รอบที่ 2 มหาวิทยาลัยกำหนดวันรับสมัครเอง ประกาศผลในระบบ วันที่ 4 พฤษภาคม ยืนยันสิทธิ วันที่ 4-5 พฤษาภาคม สละสิทธิ์ 6 พฤษภาคม

รอบที่ 3 สมัครวันที่ 2-10 พฤษภาคม ประกาศผลในระบบครั้งที่ 1 วันที่ 18 พฤษภาคม ประกาศผลครั้งที่ 2 วันที่ 24 พฤษภาคม ยืนยันสิทธิในระบบ วันที่ 18-19 พฤษภาคม และรอบที่ 4 มหาวิทยาลัยกำหนดวันรับสมัครระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน

“โดยในรอบที่ 4 แตกต่างจากเดิมที่มหาวิทยาลัยบริหารจัดการเอง แต่ทีแคสปี 2565 ทปอ.จะประกาศผล และให้ผู้สมัครยืนยันสิทธิในระบบด้วย โดยประกาศผลครั้งที่ 1 วันที่ 8 มิถุนายน ยืนยันสิทธิ วันที่ 8-9 มิถุนายน ประกาศผลครั้งที่ 2 วันที่ 18 มิถุนายน ยืนยันสิทธิในระบบ วันที่ 18-19 มิถุนายน” ดร.พีระพงศ์ กล่าว

ดร.พีระพงศ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ การสมัครทีแคสในปี 2565 เปิดให้สละสิทธิ์ในระบบ 2 ช่วง คือรอบที่ 1 และรอบที่ 2 รอบละ 1 วันเท่านั้น โดยเลือกสละสิทธิ์ได้เพียงรอบเดียว ส่วนในรอบที่ 3 และ 4 ไม่อนุญาตให้สละสิทธิ์ ฉะนั้น ถ้าผู้สมัครไม่ต้องการเข้าเรียนในคณะใดๆ ก็ตามใน 2 รอบนี้ ก็ไม่ต้องกดยืนยันสิทธิในระบบ

“การสมัครรอบที่ 3 มหาวิทยาลัยจะออกเกณฑ์การคัดเลือกเอง ผู้สมัครเลือกสมัครได้สูงสุด 10 อันดับ แบบเรียงตามลำดับความชอบ โดยจ่ายค่าสมัครเริ่มจาก 150 บาท หากเลือกสูงสุด 10 อันดับ ต้องจ่ายค่าสมัคร 900 บาท โดยมหาวิทยาลัยจะเผยแพร่เกณฑ์รับสมัครในช่วงปลายปี 2564 โดยมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำหนดทั้งหมด รวมถึง จะนำคะแนนเฉลี่ยสะสมในชั้นมัธยมปลาย หรือ GPAX มาใช้เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกหรือไม่ ดังนั้น ขอให้ผู้สมัครดูเกณฑ์การคัดเลือกอย่างรอบคอบด้วย” ดร.พีระพงศ์ กล่าว

ดร.พีระพงศ์กล่าวต่อว่า ส่วนการบริหารจัดการสิทธิในระบบทีแคส ย้ำว่า 1 คน มี 1 สิทธิ ผู้สมัครสามารถสละสิทธิ์ในระบบได้ 1 ครั้ง เพื่อสมัครคัดเลือกรอบต่อไป การสละสิทธิ์กําหนดให้ผู้ผ่านการคัดเลือกที่ได้ยืนยันสิทธิในระบบแล้ว ต้องสละสิทธิ์ผ่านระบบเท่าน้ัน จึงจะถือว่าความสมบูรณ์ สามารถใช้สิทธิสมัครในรอบต่อไปได้ โดยระบบกําหนดให้สละสิทธิ์ได้เพียง 1 ครั้ง

หากไม่ยืนยันสิทธิในระบบ จะถือว่าไม่ใช้สิทธิ ส่วนผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว และต้องการลาออก โดยยื่นลาออกกับมหาวิทยาลัย หรือแจ้งลาออกผ่านอีเมล หรืออื่นๆ ระบบยังถือเป็นผู้ที่มีสถานภาพ และเป็นผู้ยืนยันสิทธิในระบบ ไม่สามารถสมัครคัดเลือกในรอบต่อๆ ไปของระบบทีแคส ปี 2565 ได้

ดร.พีระพงศ์กล่าวอีกว่า ส่วนรายวิชาสอบกลางที่ใช้ในการคัดเลือกทีแคส ปี 2565 ประกอบด้วย การสอบวิชาความถนัดทั่วไป (GAT) และวิชาความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) และ 9 วิชาสามัญ สมัครวันที่ 15-28 ธันวาคม สอบ GAT และ PAT วันที่ 10-13 มีนาคม ประกาศผล วันที่ 18 เมษายน สอบ 9 วิชาสามัญ วันที่ 19-20 มีนาคม ประกาศผล วันที่ 20 เมษายน โดยการสมัครสอบ GAT, PAT และวิชาสามัญ ของทีแคส ปี 2565 จะเปลี่ยนไป

เนื่องจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ปฏิเสธจัดทำข้อสอบทั้งหมด ดังนั้น ทปอ.จะเลือกสถาบันจัดทำข้อสอบเอง เช่น มอบหมายให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดทำข้อสอบกลุ่มวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ทั้งหมด วิชา GAT 1 ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดทำ และวิชาที่เหลือให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เป็นผู้จัดทำ

“ดังนั้น แนวข้อสอบอาจปรับเปลี่ยนไป แต่ ทปอ.จะไม่ปรับเนื้อหาการออกข้อสอบ กรอบเนื้อหาเดิม รูปแบบเดิม จำนวนข้อสอบเท่าเดิม โดยจะเน้นการคิด และนำไปใช้มากขึ้น เน้นสอบเนื้อหา และแก่นของหลักสูตรทั้งหมด จะไม่ออกข้อสอบยากเกินกว่าหลักสูตรแน่นอน” ดร.พีระพงศ์ กล่าว

ดร.พีระพงศ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ที่ประชุมได้วิเคราะห์แล้วเห็นว่าในเดือนมีนาคม สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จะดีขึ้น สามารถจัดสอบได้แน่นอน อย่างไรก็ตาม ทปอ.มีแผนรับมือหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป สำหรับการคัดเลือกทีแคสในปีการศึกษา 2566 ทปอ.จะจัดการเรื่องข้อสอบเอง โดยปรับเป็นการสอบในระบบออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งรายละเอียดจะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ

ดร.พีระพงศ์กล่าวว่า การสอบ GAT, PAT และวิชาสามัญ นักเรียนลงทะเบียบขอสอบในระบบทีแคส โดยผู้สมัครสามารถเลือกสนามสอบที่ต้องการเข้าสอบได้แบบเรียงลำดับ 5 แห่ง ซึ่งระบบจะทำการสุ่มให้ผู้สมัครต่อไป โดย GAT และ PAT ค่าสมัครสอบวิชาละ 140 บาท วิชาสามัญ ค่าสมัครวิชาละ 100 บาท นอกจากนี้ นักเรียนขอยกเลิกการสอบวิชา GAT, PAT และวิชาสามัญ วันที่ 10-13 กุมภาพันธ์ โดยจะคืนเงินค่าสมัครสอบ 50% ผ่านระบบพร้อมเพย์

“นอกจากนี้ ทปอ.จะเปิดให้ยื่นคำร้องทบทวนผลสอบผ่านทางออนไลน์ วันที่ 21-28 เมษายน ค่าธรรมเนียมวิชาละ 100 บาท หากจ่าย 300 บาท ดูได้ทุกวิชา โดย ทปอ.จะเผยแพร่ผังข้อสอบ (Test Blueprint) ของการสอบ GAT, PAT และวิชาสามัญ เพื่อให้นักเรียนเตรียมตัวล่วงหน้า ไม่ต้องไปเรียนพิเศษเพิ่มเติม หรือทำข้อสอบย้อนหลังด้วย คาดว่าจะเผยแพร่ได้ในเร็วๆ นี้” ดร.พีระพงศ์ กล่าว