“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการ ททท. ใส่เกียร์ขับเคลื่อน Local Economy-

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมีตัวเลขการเติบโตอย่างชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวของประเทศไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งตลาดต่างประเทศ และตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย และสร้างรายได้เข้าประเทศได้เกิน 1 ล้านล้านบาทมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554

จากตัวเลขของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ในปี 2557 ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 24.8 ล้านคน และเพิ่มเป็น 29.9 ล้านคนในปี 2558 และ 32.5 ล้านคนในปี 2559 และล่าสุดเพิ่มเป็น 35.4 ล้านคนในปี 2560 ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก

ขณะที่ตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศ พบว่าในปี 2557 มีจำนวน 134 ล้านคน/ครั้ง และเพิ่มเป็น 139 ล้านคน/ครั้ง ในปี 2558 และ 146 ล้านคน/ครั้ง ในปี 2559 และล่าสุดเพิ่มเป็น 153 ล้านคน/ครั้ง ในปี 2560 ที่ผ่านมา

แนวโน้มเติบโตแบบ “คุณภาพ”

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าวข้างต้นนี้ หากดูในแง่ของรายได้ จะพบว่าอัตราการขยายตัวของรายได้มีสัดส่วนที่สูงกว่าอัตราการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวทุกปี และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและจีดีพีของประเทศอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

นั่นหมายความว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมีอัตราการเติบโตในเชิงคุณภาพเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน

แต่สิ่งที่เป็นปัญหาเชิงลบจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของนักท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมาคือ ความแออัดของนักท่องเที่ยวในบางพื้นที่ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเมืองไทยส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เพียงแค่ 4-5 จังหวัดหลัก ๆ เท่านั้น อาทิ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ สมุย พัทยา เป็นต้น

เร่งกระจายนักท่องเที่ยวลงเมืองรอง

ปัญหาดังกล่าวนี้ ทาง ททท.ตระหนักคิดมาตลอด และได้ริเริ่มโครงการ “12 เมืองที่ต้องห้าม…พลาด” ขึ้นมาเมื่อ 2 ปีก่อน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวอื่น ๆ นอกเหนือจากเมืองท่องเที่ยวหลัก 5 จังหวัดข้างต้น และโครงการ “12 เมืองที่ต้องห้าม…พลาด พลัส” เพื่อต่อยอดโครงการ “12 เมืองที่ต้องห้าม…พลาด” ในปีก่อน

เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของเมืองหลักกับเมืองใกล้เคียงเข้าด้วยกัน ทำให้ปัจจุบันเกิดเมืองที่อยู่ในโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองทั้งหมดรวม 24 จังหวัด

“หลังจากที่เราทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองผ่านทั้ง 2 โครงการ พบว่าในพื้นที่เมืองรองมีจำนวนนักท่องเที่ยวและมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ราว 20% ซึ่งตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าหากเราช่วยกันให้ข้อมูลและประชาสัมพันธ์ก็จะทำให้เกิดการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวได้”

“สมคิด” สั่งทำแผนยุทธศาสตร์จริงจัง

“ยุทธศักดิ์” บอกด้วยว่า เรื่องการผลักดันนักท่องเที่ยวให้ออกไปสู่เมืองรองนี้ ท่านสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็ให้ความสำคัญอย่างมาก และได้พูดในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมาด้วยว่า จะให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 1 เพราะเป็นนโยบายที่ทำให้เกิดการพัฒนาจริงในเรื่องของ local economy

เพราะหากสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวให้กระจายไปสู่เมืองรองได้มากเท่าไหร่ สินค้าเกษตร วิสาหกิจชุมชนก็เติบโตไปด้วย

“จากตัวเลขช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 7 ล้านคน เติบโตอยู่ที่ 15% โดยเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นเดือนที่ตรงกับเทศกาลตรุษจีนมีนักท่องเที่ยวจีนมากกว่า 1 ล้านคน สูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์และมีจำนวนเกิน 1 ล้านคนเป็นครั้งแรกด้วย”

“ยุทธศักดิ์” ระบุว่า การเติบโตอย่างชัดเจนของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยนี้ UNWTO : World Tourism Organization ได้จัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่เติบโตสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นอันดับ 9 ในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยว

มุ่งโปรโมต local experience

โดยประเด็นสำคัญที่รองนายกฯสมคิดเน้นย้ำคือ นักท่องเที่ยวมาแล้วเขาใช้จ่ายอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายต่อทริปเป็นอย่างไร ชาวบ้านหรือชุมชนได้อะไร และนี่คือประเด็นที่ ททท.หันมาเร่งส่งเสริม local experience ขายความเป็นวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ในพื้นที่ ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีความรู้และใช้อาชีพที่ตัวเองทำอยู่มาช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นที่มาของมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองในปีนี้ โดยเฉพาะเรื่องมาตรการด้านภาษี ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดที่ถูกจัดให้เป็นเมืองรองนั้นได้คัดเลือกจากจังหวัดที่มีผู้ไปเยือนไม่เกิน 4 ล้านคน ซึ่งก็ได้มาจำนวน 55 จังหวัดทั่วประเทศ ที่เหลืออีก 22 จังหวัดถูกจัดให้เป็นเมืองหลักที่ไม่ได้รับมาตรการส่งเสริมด้านภาษี

“ยุทธศักดิ์” อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ที่ผ่านมาเมืองหลัก 22 เมืองมีนักท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 70% ในจำนวนนี้คิดเป็นสัดส่วนรายได้ที่ 90% ส่วนเมืองรอง 55 จังหวัดมีนักท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 30% คิดเป็นสัดส่วนรายได้แค่ 10%

อัดแคมเปญ “Go Local”

นอกจากนี้ ททท.ยังได้ทำแคมเปญส่งเสริมออกมาภายใต้ธีม “Amazing Thailand Go Local เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต” มุ่งเน้นในประเด็นที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนเที่ยวเมืองรองมากขึ้น ซึ่งแน่นอนต้องทำด้านซัพพลายด้วย

โดยโครงการดังกล่าวนี้ ประกอบด้วย 7 โครงการหลัก คือ 1.enjoy local คือทำยังไงให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายให้มากขึ้น ซึ่งนโยบายของท่านรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวฯบอกว่า ทำแบบ e-Coupon แล้วจัดกิจกรรมท่องเที่ยวชม-ชิม-ช็อป-แชร์ ให้นักท่องเที่ยวสะสมแต้ม หรือ TAT point จากการใช้จ่ายในเมืองรอง เพื่อนำมาแลกรับที่พัก ตั๋วเครื่องบิน ฯลฯ

2.set in the local มีมาตรการให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไปทำกิจกรรม ประชุมสัมมนาในวันธรรมดา 3.local link โดยให้สำนักงานท่องเที่ยวของ ททท. ทั้งในประเทศและต่างประเทศทำงานร่วมกับบริษัททัวร์และเอเย่นต์ ทำเส้นทางการท่องเที่ยวสู่เมืองรอง 4.eat local เน้นโปรโมตอาหารถิ่นในทุกจังหวัด ทุกภาค ทั่วประเทศ 5.our local ชูดจุดขายด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และอัตลักษณ์ท้องถิ่น 6.local heroes ช่วยพัฒนาบุคลากรในท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนมีองค์ความรู้ และ 7.local strenght ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่

ทั้งนี้ ททท.มีเป้าหมายว่า แคมเปญดังกล่าวนี้จะช่วยกระจายนักท่องเที่ยวสู่เมืองรองได้กว่า 10 ล้านคน เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวฐานรากได้อีกไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท พร้อมทั้งปรับสัดส่วนนักท่องเที่ยวพื้นที่เมืองหลักต่อเมืองรองจาก 70 : 30 เป็น 65 : 35 ได้ในปีนี้ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีแผนจะนำเสนอแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวในกลุ่มผู้สูงวัย หรือ silver privilege ซึ่งมี 3 ส่วนหลักคือ 1.ซิลเวอร์แฟมิลี่ สำหรับคนที่พาบุพการีเที่ยวจะได้ลดหย่อนด้านภาษี 2.ซิลเวอร์โรมานซ์ สำหรับกลุ่มคู่รักวัยเกษียณ และ 3.ซิลเวอร์เอาติ้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำรายละเอียด รวมถึงเตรียมนำเสนอพื้นที่ท่องเที่ยวรองในเมืองหลักอีก 21 จังหวัดให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่ได้รับมาตรการส่งเสริมด้านภาษีเช่นเดียวกับเมืองรอง 55 จังหวัดด้วย

ตั้งเป้าปี’61 รายได้รวม 3.1 ล้านล้าน

สำหรับตลาดต่างประเทศนั้น “ยุทธศักดิ์” บอกว่า ททท.ก็มีแผนทำแคมเปญออนไลน์ “online global campaign” สำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ยังไม่เคยเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองไทยเลยให้เข้ามาเที่ยวครั้งแรก เพราะกลุ่มที่มาเที่ยวครั้งแรกจะมีการใช้จ่ายต่อหัวค่อนข้างสูง โดยมีแผนทำงานร่วมกับพันธมิตรหลายภาคส่วน

ทั้งนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยนี้มีศักยภาพในการขยายตัวด้านรายได้ได้ต่อเนื่องอีกไม่ต่ำกว่า 10% หรือมีรายได้รวมอยู่ที่ 3.12 ล้านล้านบาทในปี 2561 นี้

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้