5 กกต.บันทึกประวัติปฏิวัติ จาก…นาทีเฉียดตาย ถึง…วัน คสช.เซตซีโร่-

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดที่มี “ศุภชัย สมเจริญ” เป็นประธาน

เป็น กกต.ชุดที่สอง ที่ถูกครหาว่าทำให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ ต่อจาก กกต.ชุด
พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ

เป็น กกต.ชุดแรกที่ถูก “เซตซีโร่” โดยรัฐธรรมนูญใหม่

เป็น กกต.คณะแรกที่มี “กรรมการ” ถูกคณะรัฐประหาร “ปลด” จากตำแหน่ง

แต่ก่อนไปจากตำแหน่ง “กรรมการเลือกตั้ง” กกต.ทั้ง 5 คน อันประกอบด้วย ศุภชัย สมเจริญ-ธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์-ประวิช รัตนเพียร-บุญส่ง น้อยโสภณ และสมชัย ศรีสุทธิยากร ได้บันทึกประวัติศาสตร์การเลือกตั้งเดือด ในช่วงที่ตนเองพานพบ ผ่านหนังสือ “วิกฤต เลือกตั้ง ส.ส. 57 สู่นาทียึดอำนาจ” ว่าเกิดอะไรขึ้นกับการเลือกตั้งในยามขัดแย้งเมื่อปี 2557 ในวาระที่การยึดอำนาจจะครบ 4 ปีในอีก 2 เดือนข้างหน้า

ตัวละครการเมืองก่อนชั่วโมงรัฐประหาร คิดอ่านอย่างไรในช่วงการเมืองถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ

กกต.รับศึกหนักตั้งแต่วันแรก

ศุภชัยบันทึกว่า กกต.ต้องรับศึกหนักทันทีตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง เพราะต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไป 2 กุมภาพันธ์ แต่มีกลุ่ม กปปส.ได้เข้าพบและขอให้เลื่อนการเลือกตั้งจนกว่าจะปฏิรูปประเทศให้เสร็จ เป็นสิ่งบอกเหตุว่า กกต.ต้องจัดเลือกตั้งด้วยความยากลำบาก

แต่จนแล้วจนรอดการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ก็เกิดขึ้น ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองพุ่งสูง โดยการเลือกตั้งมีหน่วยเลือกตั้งทั้งสิ้น 93,952 หน่วย แต่เปิดให้ลงคะแนนได้ 83,813 หน่วย คิดเป็น 89.2 มีจังหวัดที่ “งด” ลงคะแนน 18 จังหวัด แบ่งเป็นงดทั้งจังหวัด 9 จังหวัด และเลือกตั้งได้บางส่วน 9 จังหวัด รวม 69 จังหวัด ในจำนวนนี้มี 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง

เหตุนี้เอง ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้เป็นวันเดียวทั่วราชอาณาจักร เพราะมี 28 จังหวัดที่ไม่ได้เลือกตั้ง ดังนั้น การเลือกตั้งจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อันเป็นเหตุให้โมฆะ

ศุภชัยบันทึกว่า ต่อมา 15 พฤษภาคม 2557 ในช่วงเช้า นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ได้เชิญ กกต.เข้าร่วมหารือในประเด็นการจัดเลือกตั้งใหม่ แทนการเลือกตั้งที่โมฆะ ณ หอประชุมกานตรัตน์ กองทัพอากาศ แต่มีกลุ่ม กปปส.มากดดัน ทำให้ต้องยกเลิกการหารือดังกล่าว

20 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. (ในขณะนั้น) ประกาศกฎอัยการศึก และ วันที่ 21 พฤษภาคม 2557 ได้อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก เชิญตัวแทน 7 ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้แทนรัฐบาล ผู้แทนวุฒิสภา ผู้แทนพรรคเพื่อไทย ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ ผู้แทน กกต. ผู้แทน กปปส.และผู้แทน นปช. แต่การประชุมไม่สามารถหาข้อสรุปได้ แต่ละฝ่ายยังยืนยันอยู่ในจุดเดิมของตนเอง พล.อ.ประยุทธ์ จึงให้การบ้าน 5 ข้อ ให้กลับไปคิดก่อนและนัดมาประชุมอีกครั้ง 22 พฤษภาคม 2557

22 พฤษภาคม 2557 ได้จัดให้ประชุมกันอีกครั้ง ที่สโมสรกองทัพบก หลังจากเวลาผ่านไป 2 ชั่วโมงก็ไม่มีข้อยุติ ต่อมานายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. กับนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.ขอแยกไปหารือเป็นการส่วนตัว ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ได้หารือกับผู้บัญชาการเหล่าทัพไปพร้อม ๆ กัน

เมื่อนายสุเทพกับนายจตุพร กลับมาจากหารือแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ได้สอบถามนายชัยเกษม นิติสิริ ในฐานะหัวหน้าตัวแทนฝ่ายรัฐบาลว่ารัฐบาลยืนยันไม่ลาออกทั้งรายบุคคลและทั้งคณะใช่หรือไม่ ซึ่งนายชัยเกษมระบุว่า นาทีนี้ไม่ลาออกและต้องการปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามกฎหมาย

พล.อ.ประยุทธ์จึงกล่าวต่อที่ประชุมว่า “นับตั้งแต่นาทีนี้ไป ผมตัดสินใจยึดอำนาจการปกครอง” พร้อมกับเชิญตัวแทนสมาชิกวุฒิสภา และ กกต.ออกจากห้องประชุม

“เหตุการณ์วันนั้นถือเป็นประสบการณ์และเป็นวันสำคัญที่สุดวันหนึ่งของชีวิต เพราะไม่ทราบเลยว่าวินาทีนั้นจะเกิดอะไรขึ้น จะมีการปะทะกันหรือไม่ และเหตุการณ์จะร้ายแรงเพียงใด”

นาทีชีวิต ถูก กปปส.ล้อมรถ

ขณะที่ “ธีรวัฒน์” บันทึกเหตุการณ์ ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ภายหลังการประชุมระหว่าง กกต. กับ รัฐบาล เพื่อหาวันเลือกตั้งใหม่ แทนวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่เป็นโมฆะ เมื่อฝ่ายรัฐบาลย้ายสถานที่ประชุมจาก กกต.ไปอยู่ในกองทัพอากาศ เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า กับ กปปส.

เขาเล่าว่า “เมื่อเริ่มเปิดประชุมในเวลา 09.00 น. ขณะกำลังเริ่มประชุม กลิ่นอายความยุ่งเหยิงสับสนและสถานการณ์ร้อนแรงก็เริ่มขึ้น ผมสังเกตเห็นว่าสถานการณ์ในห้องประชุมเริ่มมีภาวะผิดปกติ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลมีอาการลุกลี้ลุกลนเร่งรีบ และมีพนักงานเจ้าหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลลงไปกระซิบบอกประธานที่ประชุมคือ นายนิวัฒน์ธำรง ผมสังเกตเห็นสีหน้าของประธานที่ประชุมเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด โดยปิดแฟ้มการประชุมแล้วกล่าวว่า “ขอปิดประชุม” ทั้งที่การประชุมเพิ่งจะเริ่มต้นยังไม่เข้าถึงเนื้อหาที่จะประชุมกัน”

“จากนั้น นายนิวัฒน์ธำรง ได้ลุกเดินพรวดพราดไป โดยแจ้งที่ประชุมว่า กปปส.กำลังฝ่าจุดกีดขวางที่จะเข้ามาในสนามบินและหอประชุมกานตรัตน์ และกำลังจะมาถึงหอประชุม”

เขาและทีมงานติดอยู่ในกองทัพอากาศ บนรถที่ถูกล้อมด้วยกลุ่ม กปปส. เขาจึงถอดสูท ถอดเนกไทที่สวมออก พับแขนเสื้อแล้วลงจากรถตู้ แม้ถูกทักท้วงว่า “อย่าลงไปเดี๋ยวเป็นอันตราย”

ธีรวัฒน์เดินไปหาคนต้นเสียงที่เสียงดังที่สุด พร้อมกล่าวว่า “ผมเป็นพวกเดียวกับคุณ เป็นคนไทยด้วยกัน พูดภาษาไทยด้วยกัน แล้วมีความรักความเป็นธรรมเช่นเดียวกับคุณ จะมัวเป่าไปทำไม โดยที่คุณไม่รู้ว่าผมเป็นใคร”

ก่อนเขาและคณะจะสละรถตู้ ทิ้งไว้ให้ กปปส.ปิดล้อม แล้วเข้าไปในสโมสรกองทัพอากาศและนั่งรถของทหารกลับไปยัง กกต.แจ้งวัฒนะ

ต้นคิดแถลงเลื่อนเลือกตั้ง

ประวิช รัตนเพียร เลือกบันทึกเหตุการณ์ในวันที่ 26 ธันวาคม 2556 อันเป็นวันที่มีการปะทะกันระหว่างกลุ่ม คปท.และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง อันเป็นสถานที่จับสลากหมายเลขของพรรคการเมือง

แม้ว่ากระบวนการจับสลากจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่เหตุการณ์ไม่ได้จบลง บ่ายวันนั้น “ประวิช” จึงหารือกับประธาน กกต.ว่า กกต.ควรมีการสื่อสารกับประชาชนให้ทราบถึงเหตุการณ์และท่าทีของ กกต. ทำให้ 5 เสือ ประชุมร่วมกันก่อนมีมติว่าควรออกแถลงการณ์ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เขาและ “สมชัย” กกต.ได้ยกร่างแถลงการณ์และนำเสนอต่อที่ประชุม กกต. ในเวลา 16.00 น. ทั้ง 5 คนได้แถลงการณ์แสดงความเสียใจและขอให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งออกไป โดย กกต.พร้อมเป็นคนกลางในการหาข้อยุติร่วมกัน เพราะไม่ต้องการให้มีการเสียเลือดเนื้อ

“เอกสารชิ้นนั้นเป็นชิ้นแรกที่ กกต.ตัดสินใจร่วมกันเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์”

บิ๊กตู่ ตำหนิ กปปส.-นปช.

สมชัยเลือกที่จะบันทึกจุดไคลแมกซ์ของเหตุการณ์ “นาทียึดอำนาจ” ตอนหนึ่งว่า ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกยึดอำนาจ น้ำเสียงท่านจริงจัง ดูผิดปกติ เพราะปกติท่านเฮฮา ตลก ในระหว่างการประชุมท่านจะหยอดมุข โดยพูดว่า ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่องก็นอนที่นี่แหละ คนก็จะเฮ ๆ มีคนพูดทำนองสอน พล.อ.ประยุทธ์ ว่าการประกาศกฎอัยการศึก เท่ากับว่าท่านจมน้ำไปครึ่งตัวแล้วถ้าบังคับใช้กฎอัยการศึกก็เท่ากับจมน้ำ ท่านก็พูดสวนขึ้นมาว่า ผมไม่กลัวหรอกเพราะผมว่ายน้ำเป็น

“ท่านพูดต่อว่า ถ้าให้วิเคราะห์ปัญหาที่ไม่ตรงกัน ก็เริ่มจากฝ่าย กปปส.ตั้งข้อเสนอสูงเกินไป ถ้ายอมผ่อนบ้างปัญหาจะไม่เกิด คือยอมให้รัฐบาลรักษาการโดยไม่ต้องลาออกเพื่อให้บรรยากาศเกิดความยืดหยุ่น เพราะอีกฝ่ายไม่ยอมถอยมันเลยเดินต่อไปไม่ได้ ส่วนทาง นปช.ก็ใจร้อนเกินไปและหากไม่หลงประเด็นของคนอื่นคำตอบก็จะออกมาเหมือนกัน แต่ขอให้ทำประชามติจึงเป็นการฉีกประเด็น มีความเชื่อมั่นตัวเองมากเกินไป”

“ขณะนั้น ผมคิดว่าน่าจะรัฐประหารแล้ว เพราะมีการเตรียมการต่าง ๆ ไว้ครบถ้วนแล้ว แต่ไม่รู้ว่าต่อไปสถานะของ กกต.จะเป็นอย่างไร จะถูกควบคุมตัวเหมือนนักการเมืองหรือไม่ ตอนนั้นคิดว่าจะโดนอะไรก็ต้องโดนยอมรับสภาพ”

ด้าน กกต.บุญส่ง สรุปบทเรียนความขัดแย้งว่า ต้องปลูกฝังหน้าที่พลเมืองที่ดีในวิถีประชาธิปไตยให้แก่เยาวชน และประชาชนทุกภาคส่วน ในขณะที่ กกต.จะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ขององค์กรในการจัดการและควบคุมการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม พัฒนาระบบงานสืบสวนสอบสวนให้มีมาตรฐาน เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้