6 ยุทธศาสตร์ใหม่ “ม.รังสิต” พลิกการศึกษารับโลกเปลี่ยน-

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และเทรนด์การศึกษารูปแบบใหม่ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยรังสิตตัดสินใจ “ปฏิรูป” การศึกษา โดยตั้งเป้าหมายชัดเจนที่จะสร้างแนวทางการศึกษาแบบ innovation startup entrepreneurship

“1-2 ปีที่ผ่านมามีการบ่นกันว่าการศึกษาไทยล้มเหลว นั่นเป็นเพราะส่วนใหญ่มองกันว่าการศึกษาคือการเรียนหนังสือ แต่ ม.รังสิตมองว่าการศึกษาเป็นการสร้างปัญญา และแนวคิดของเราในการสร้างขุมพลังปัญญาของชาติคือใช้แนวทางinnovation startup entrepreneurshipโดยสร้างการศึกษาที่มีนวัตกรรม สามารถคิดค้นสิ่งที่สามารถนำไปขายได้ เมื่อจบออกไปแล้วต้องมีความเป็นผู้ประกอบการด้วย เพราะความก้าวหน้าด้านการศึกษา จะต้องดึงความสามารถออกมาสร้างสิ่งที่ขึ้นห้างได้ ไม่ใช่ขึ้นหิ้ง ซึ่งทุกอย่างจะต้องมีการบูรณาการ และยึด outcome-based เป็นสำคัญ”

“ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต สะท้อนภาพการศึกษาไทยจนนำไปสู่ความตั้งใจในการปฏิรูปการศึกษา อันมาจากวิสัยทัศน์ และพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่ต้องการสร้างคนให้เป็นขุมพลังปัญญาของชาติ เพื่อปฏิรูปประเทศไทยไปสู่สังคมธรรมาธิปไตย และด้วยสถาบันการศึกษาคือแหล่งในการสร้างคน ดังนั้น การศึกษาจะต้องตอบโจทย์ความต้องการของชีวิต เมื่อนักศึกษาเรียนจบแล้วสามารถไปสร้างคุณค่าและสร้างประโยชน์ได้

“สิ่งสำคัญของการศึกษาแบบใหม่คือผู้เรียนต้องเรียนด้วยความเข้าใจจนเชี่ยวชาญ มีทักษะ และมีวิธีคิด ไม่ใช่เรียนรู้เพียงแค่ท่องจำเนื้อหาในหนังสือ แล้วเรียนจบตามหลักสูตรหรือการวัดผล แต่เราต้องดูว่าเขาเรียนแล้วประสบความสำเร็จ และมีทักษะชีวิตด้วย”

การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้จะปฏิรูปการศึกษาของ ม.รังสิตทั้งระบบ โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นหลัก ด้วยการพัฒนาสมรรถนะ และทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 (competency-based) บูรณาการสหสาขาวิชา หรือก้าวข้ามกำแพงของคณะ (integrative) ปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง (regeneration) ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเต็มที่ (technology transformation) และมุ่งสู่ความเป็นสากล (internationalization)

สำหรับยุทธศาสตร์การปฏิรูปแบ่งเป็น 6 ประเด็น ได้แก่ 1.การปฏิรูปการศึกษาทั่วไป เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของมหาวิทยาลัยในด้านการผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างบูรณาการ สามารถออกแบบชีวิตของตนเอง ในการเป็นผู้นำ และผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ 2.ปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาวิชาชีพคณะต่าง ๆ เพื่อสร้างความเป็นเลิศในระดับสากลของแต่ละสาขาวิชาชีพ และส่งเสริมความร่วมมือจัดการศึกษาร่วมกับสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ในประเทศและนานาประเทศ รวมทั้งปรับกระบวนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 และส่งเสริมการวิจัยพัฒนา เพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมในการรับใช้สังคม

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์, ผศ.ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ

3.ปฏิรูประบบประกันคุณภาพมหาวิทยาลัย โดยสร้างระบบควบคุมคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่เป็นสากล 4.ปฏิรูปเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อมุ่งสู่การเป็น e-University 5.ปฏิรูประบบสนับสนุนการจัดการศึกษา
ด้วยการลดระเบียบ และขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนา และการจัดการศึกษา
รูปแบบต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง และ 6.การพัฒนาครูอาจารย์ โดยเปลี่ยนทัศนคติ และพัฒนาทักษะการเป็น facilitator/coach

หนึ่งในผลลัพธ์จากการปฏิรูปการศึกษาของ ม.รังสิต เห็นได้จากการจัดตั้งสถาบัน Gen.Ed ซึ่งปรับรูปแบบของวิชาศึกษาทั่วไป ด้วยวิธีการเรียนการสอนที่เน้นการคิด
และลงมือทำ เพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ จนสามารถนำไปใช้ในอาชีพ และการดำเนินชีวิตได้

“ผศ.ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ” คณบดีสถาบัน Gen.Ed ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา ม.รังสิต ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การเรียนแบบเดิมเป็นเหมือนกรอบทางวิชาการที่ถูกล็อก ขณะที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มหาวิทยาลัยจึงต้องออกแบบหลักสูตรให้ยืดหยุ่น เพื่อให้นักศึกษาพัฒนาตัวเองไปสู่เส้นทางที่ต้องการ

อันนำไปสู่การปรับปรุง และพัฒนาทั้งด้านการออกแบบการสอน ผู้สอน และการผลิตสื่อการสอนที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมทั้งเปลี่ยนจากการเรียนวิชาศึกษาทั่วไปแบบเดิมที่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และภาษาศาสตร์ มาเป็นรายวิชาต่าง ๆ ใน 8 หมวด คือ หมวดที่ 1.RSU Identity, หมวดที่ 2 Internationalization and Communication, หมวดที่ 3 RSU Leadership Social Responsibility, หมวดที่ 4 Arts and Culture, หมวดที่ 5 Innovative Entrepreneurship, หมวดที่ 6 Digital Media Literacy, หมวดที่ 7 Essence of Science และหมวดที่ 8 RSU I-Style

“ยกตัวอย่างการเรียนด้าน innovative entrepreneurship หากนักศึกษามีแนวคิด และอยากเปิดบริษัท เราจะให้เขารวมกลุ่ม เพื่อเปิดเป็นบริษัทขึ้นมา หรือด้าน internationalization and communication เราจะนำชาวต่างชาติมาเรียนร่วมกับนักศึกษาไทย ซึ่งไม่ได้เน้นการเรียนหนังสือ แต่เน้นให้เกิดการสื่อสารร่วมกันได้”

“สิ่งสำคัญของการจัดตั้งหมวดวิชาเหล่านี้มาจากการมีส่วนร่วมของอาจารย์ โดยเราต้องการสลายกรอบที่ว่าอาจารย์จากคณะใดก็ควรสอนเรื่องนั้น แต่เราดึงอาจารย์จากทุกคณะมาออกแบบหลักสูตรร่วมกัน นอกจากนี้ ไม่ว่านักศึกษาจะอยู่คณะไหน สามารถมาลงเรียนวิชานั้น ๆ ตามที่สนใจ เพราะท้ายที่สุดแล้ว องค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับอาจเป็นอาชีพของเขาในอนาคตก็เป็นได้”

 

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”