ต้องเปลี่ยน ผู้ว่า กยท.กี่คน เซ่นสังเวยราคายางตกต่ำ-

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ดูจะกลายเป็น “แดนสนธยา” อย่างแท้จริง หลังจากแค่ไม่ถึงเดือนมีการเปลี่ยนตัว “ผู้ว่าการ” ปาเข้าไปถึง 3 คน ตั้งแต่ นายธีธัช สุขสะอาด ถูกคำสั่งนายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจคำสั่ง คสช.ที่ 68/2559 สั่งย้ายไปประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี ตามมาด้วยการยื่น “ใบลาออก” ของ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทั้ง ๆ ที่เพิ่งเข้ามารักษาการผู้ว่าการ กยท.เพียง 14 วัน

ล่าสุด คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ได้มีมติให้ นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ อดีตประธานผู้บริหาร บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (International Rubber ConsortiumLimited หรือ IRCo) เข้ามารับตำแหน่งแทน ดร.ธนวรรธน์ จนกลายเป็นคำถามของผู้เกี่ยวข้องในวงการยางที่ว่า ทำไม ดร.ธนวรรธน์ จึงอยู่ กยท.ไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ 14 วันของ ดร.ท่านนี้ก็ได้เริ่มวางนโยบายเร่งด่วน 3 แนวทางเพื่อผลักดันราคายางพาราให้แตะ 50 บาท/กก.ภายใน 3 เดือนไว้แล้ว

แน่นอนว่า การลาออกของ ดร.ธนวรรธน์ ย่อมต้องเกี่ยวพันกับการนำนโยบายของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ไอเดีย” ในการลดกรีดยาง 3 เดือน การเพิ่มรายได้ให้กับชาวสวนยาง การปลดล็อก พ.ร.บ.การยาง มาตรา 49 (3) การเข้าถึง แหล่งเงินทุน จนกลายเป็นปัญหาขึ้นมาว่า “ใคร” จะเป็นผู้เหมาะสมในการนำไอเดียเหล่านี้ให้มีผลในทางปฏิบัติ

ในประเด็นเหล่านี้ นายเพิก เลิศวังพง อดีตประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย มีความเห็นว่า แม้ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย จะเป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจจากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้ความเชื่อที่ว่า ดร.ธนวรรธน์ จะสามารถแก้ปัญหาได้ แต่สภาพภายในของ กยท.กลับมีปัญหาด้านเอกภาพในการทำงาน เนื่องจาก กยท.เกิดมาจาก 3 องค์กร (องค์การสวนยาง-สถาบันวิจัยยาง-กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง) ตำแหน่งผู้บริหารจึงไม่ค่อยลงตัว ประกอบกับมีการเปลี่ยนกรรมการ กยท.ที่มาจากภาคราชการที่ส่วนใหญ่มาจากกระทรวงเกษตรฯ โดยนายกฤษฎาต้องการจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการใน กยท.เพื่อแก้ต้นตอปัญหาราคายางที่ไม่คืบหน้าอีก 5 ท่าน “ดร.ธนวรรธน์จึงรู้สึกโดดเดี่ยวและจะแก้ปัญหาลำบากจึงต้องถอนตัวไป” นายเพิกกล่าว

อย่างไรก็ตามการเข้ามาของนายเยี่ยม รักษาการผู้ว่าการ กยท.คนล่าสุดนั้น นายเพิกเชื่อว่า “จะทำงานได้ลื่นขึ้น” เพราะมาจากสถาบันวิจัยยางและบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ (IRCO) ที่สำคัญก็คือ นายเยี่ยมมีความสนิทสนมกับทีมงานกรมวิชาการเกษตรที่นายกฤษฎาส่งมาแก้ปัญหายาง

ทว่าแตกต่างจากความเห็นของ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) ที่ค่อนข้าง “ไม่สบายใจเป็นอย่างมาก” ที่บอร์ด กยท.ได้มีการแต่งตั้งคนใหม่ ทั้ง ๆ ที่คนเก่ายังไม่ได้ทำงาน มีเพียงแต่ออกมาให้ข่าวกับสื่อว่าจะปฏิรูปยางอย่างไรให้ราคายางดีขึ้นเท่านั้น การเปลี่ยนรักษาการผู้ว่าการในครั้งนี้ กยท.ควรแถลงให้ทุกคนสบายใจ ไม่ควรเป็นความลับ เพราะจะได้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นใน กยท. ที่มีหลายคนวิจารณ์ว่า เหมือนผู้บริหารซ้ำเติมราคายางที่ขายอยู่ในตลาดล่วงหน้า เพราะ “ขาดความน่าเชื่อถือ” ในการบริหารงานของบอร์ด กยท. ถ้าภาวะขาดความเชื่อมั่นราคายางก็จะตกลงมาอีก “ผมจึงข้องใจว่า สาเหตุมาจากอะไรกันแน่ เนื่องจากเพิ่งแต่งตั้ง ดร.ธนวรรธน์เข้ามา มายังไม่ถึงเดือน”

ขณะที่ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงยืนยันที่จะดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางต่อไปแม้จะได้รับเสียงคัดค้าน โดยมีมาตรการหยุดกรีดยาง 3 ล้านไร่ ช่วง 3 เดือน ชดเชยให้ 1,000/1,500 บาทต่อไร่ การได้ตัว นายเยี่ยม รักษาการผู้ว่าการ กยท.คนใหม่จะเข้ามาช่วยผลักดันโครงการต่าง ๆ วิธีการนำเงินมาชดเชยเกษตรกรที่หยุดกรีดยาง การพิจารณาว่าจะหยุดวันเว้นวันหรือต่อเนื่องดี ซึ่ง กยท.มีระเบียบให้สามารถดำเนินธุรกิจได้เอง จัดตั้งหน่วยธุรกิจการยาง และเปิดให้เกษตรกรมาสมัคร มาเข้าร่วมหุ้นหยุดกรีดยาง โดย กยท.เป็นผู้รับซื้อยาง เมื่อดันยางราคาขึ้นได้ เกษตรกรจะได้ส่วนต่างเป็นค่าชดเชย ซึ่งไม่จำเป็นต้องของบฯจากรัฐบาล รวมถึงแนวทางออกพันธบัตรให้เกษตรกรถือหุ้นผ่านสหกรณ์ด้วย

“ผมมั่นใจว่า นายเยี่ยมจะมาบริหาร กยท.ได้เป็นอย่างดี เพราะเคยบริหารบริษัทร่วมทุนยางระหว่างประเทศ แน่นอนว่า เราจะร่วมกันหารือผลักดันให้ราคายางขึ้นไปถึง 60 บาทให้ได้” นายกฤษฎากล่าว

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”