ส.พืชสวนฯดึงฝรั่งการันตี ยืนกรานใช้ยาฆ่าหญ้าต่อ-

ส.พืชสวนฯดึงผู้เชี่ยวชาญแคนาดายันสรรพคุณยาฆ่าหญ้าไกลโฟเสทไม่อันตราย ชี้นโยบายจำกัดพื้นที่ทำต้นทุนเกษตรกรพุ่ง สูญเสียผลผลิตปีละเกือบหมื่นล้าน สวนยางจ่อขาดทุน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทยได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “การจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ทำไม ? …ใครได้ ใครเสีย ? มีทางออกหรือไม่ ? ขึ้นที่กรมวิชาการเกษตร โดยเชิญ ดร.เกรแฮม บรูค ผู้อำนวยการองค์การให้คำปรึกษาด้านการเกษตร PG economics จากแคนาดา ซึ่งคลุกคลีในการใช้สารไกลโฟเสท “ราวนด์อัพ” กำจัดวัชพืชมากว่า 20 ปีมาให้ความเห็นเรื่องนี้

ดร.บรูค กล่าวว่า ไกลโฟเสทสามารถกำจัดวัชพืชได้หลากหลาย คุณสมบัติจะไปยับยั้งการสร้างกรด
อะมิโนในพืช แต่ไม่ยับยั้งในคนและสัตว์ ไม่มีความเป็นพิษเฉียบพลันเมื่อสัมผัส ไม่มีพิษตกค้างในร่างกาย สามารถย่อยสลายในดินและไม่ตกค้างในดิน ไม่ก่อมะเร็ง หน่วยงานภาครัฐและองค์กรนานาชาติกว่า 160 ประเทศ ทั้งสหรัฐฯ บราซิล ฯลฯ วิเคราะห์ด้านวิทยาศาสตร์หลายครั้งว่าไม่มีอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม จึงใช้กันมากว่า 40 ปี แต่รัฐบาลไทยกลับจำกัดพื้นที่การใช้สารนี้

ทั้งนี้ ในปี 2012 ไทยใช้ไกลโฟเสท 15.3 ล้าน กก. คิดเป็น 33% ของสารกำจัดวัชพืชในไทย โดยใช้ในสวนยางพารา ปาล์ม ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และสวนผลไม้จำนวนมาก หากจำกัดพื้นที่การใช้สารนี้ จะทำให้ต้นทุนด้านการกำจัดวัชพืชเพิ่ม 1,836 ล้านบาท หรือคิดเป็น 141.44 บาทต่อไร่ และเกษตรกรต้องสูญเสียผลผลิตไม่ได้คุณภาพอีก 5% คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทั่วประเทศกว่า 7,392 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะเป็นอุปสรรคการสร้างความมั่นคงทางอาหารตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนเกษตรกรตามนโยบายประเทศไทย 4.0

“ประเทศศรีลังกาเป็นตัวอย่างประเทศจำกัดการใช้สารนี้ และได้รับผลกระทบต้นทุนเกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่า ประชากรร้อยละ 10 ของศรีลังกาที่ปลูกและผลิตใบชาสูญเสียผลผลิตประมาณร้อยละ 11 ในปี 2016 และสูญเสียต่อเนื่องในปี 2017 ถึงร้อยละ 20 และผลผลิตข้าว ข้าวโพด และหอมแดง ลดลงจากปัญหาวัชพืช ส่งผลให้ศรีลังกาต้องเตรียมนำเข้าสินค้าเหล่านี้มากขึ้น ขณะที่เกษตรกรผู้ผลิตไม้ตัดดอกส่งออกไปออสเตรเลียไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากกำหนดให้จุ่มปลายก้านดอกไม้ในไกลโฟเสทก่อนการส่งออก บางรายหันไปใช้สารทดแทนอื่นซึ่งมีความเป็นพิษสูงกว่าไกลโฟเสท ส่งผลให้ญี่ปุ่นได้แจ้งเตือนสารอื่นปนเปื้อนในใบชาที่ส่งจากศรีลังกาหลายครั้ง และทำให้ตลาดมืดที่จำหน่ายไกลโฟเสทขยายตัวอย่างรวดเร็ว ราคาจำหน่ายสารนี้แพงกว่าปกติ 3-4 เท่า”

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวว่า ภาครัฐต้องให้ความเป็นธรรมกับเกษตรกรที่ต้องขายขาดทุน จึงไม่อยากให้ซ้ำเติมเกษตรกรอีก ปกติใช้สารกำจัดวัชพืชพาราควอต ในราคาพิเศษลิตรละ 100 บาท 1 ลิตรฉีดได้ 1 ไร่ แต่หากใช้แรงงานที่หายากกำจัดแทน ค่าแรงขั้นต่ำจังหวัดระยอง วันละ 338 บาท และสารเคมีตัวใหม่ก็มีราคาสูงถึงลิตรละ 450 บาท ขอให้รัฐกำหนดนโยบายอย่างรอบคอบ

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”