สร้างอาชีวะ+บัณฑิตพันธุ์ใหม่ ป้อนตลาด New Growth Engine-

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2561 มีการเห็นชอบในหลักการโครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่ และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงสำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย (ปี 2561-2565)

สำหรับเรื่องนี้นับเป็นอีกหนึ่งวาระเร่งด่วนของประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาที่เป็นความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ทั้งให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับสถานประกอบการมาร่วมจัดการสอน และร่วมประเมินผล เพื่อให้ได้คนตรงกับความต้องการ และสามารถรับเข้าทำงานได้ทันทีเมื่อเรียนจบ โดยเฉพาะอาชีพกลุ่ม First S-curve และ New S-curve

อัดฉีดเงินรายหัวทุกระดับ

“ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ข้อมูลว่า ครม.ได้อนุมัติงบประมาณ 14,138 ล้านบาท แบ่งเป็นระดับอาชีวศึกษา 1,052 ล้านบาท และอุดมศึกษา 13,086 ล้านบาท สำหรับการผลิตบัณฑิตจากโครงการจำนวน 115,626 คน รวมถึงได้อนุมัติงบประมาณกลางปีจำนวน 1,396 ล้านบาท แบ่งเป็นงบฯดำเนินการ 1,360 ล้านบาท และงบฯลงทุน 36 ล้านบาท

“โครงการนี้จะตอบโจทย์ 3 ด้านหลัก ทั้งยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และ Thailand 4.0 รวมถึงการแก้ปัญหาการขาดแคลนช่างฝีมือ ช่างที่มีทักษะชั้นสูง รวมถึงวิศวกรด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะช่างอุตสาหกรรม ช่างเทคนิค ขณะเดียวกันยังตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม เพราะที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนว่าภาครัฐผลิตบุคลากรไม่ตรงกับความต้องการของตลาด”

จากเป้าหมายของโครงการที่ต้องการผลิตบัณฑิต 115,626 คน แบ่งเป็นระดับวุฒิบัตร 52,899 คน ระดับอาชีวศึกษา 6,249 คน และระดับอุดมศึกษา 56,478 คน โดยต้องดำเนินการให้ทันกับการเปิดภาคเรียนแรกของปีการศึกษา 2561 คือในเดือน พ.ค.ของระดับอาชีวศึกษา และเดือน ส.ค.ของระดับอุดมศึกษา

ในส่วนของวุฒิบัตรจะมีทั้งหมด 120 หลักสูตร โดยมหาวิทยาลัยจะจัดการศึกษาให้กับแรงงานในสถานประกอบการ และผู้ที่ต้องการเพิ่มพูนทักษะและสมรรถนะ ซึ่งมีทั้งหมด 9 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, แปรรูปอาหาร, หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม,
การบินและโลจิสติกส์, เชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ, ดิจิทัล และการเพิ่มสมรรถนะ soft skill

สำหรับระดับอุดมศึกษามีทั้งหมด 117 หลักสูตร เป็นหลักสูตรปริญญาตรี 87 หลักสูตร และปริญญาโท 30 หลักสูตร โดยตั้งเป้ามหาวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการจำนวน 20 แห่ง ในปี 2561 และสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพและความพร้อมในปีการศึกษาถัดไป ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนเงินรายหัวให้กับผู้เรียนหลักสูตรวุฒิบัตรคนละ 60,000 บาท และ 120,000-150,000 บาท/คน/ปี สำหรับผู้เรียนหลักสูตรปริญญา

ปั้นแรงงานพรีเมี่ยม 6 สาขา

“ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์” เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สถาบันอาชีวศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะพิจารณาจากความพร้อมในมิติต่าง ๆ เช่น ความเข้มแข็งของหลักสูตร ศักยภาพของผู้สอน สถานที่ อุปกรณ์การเรียนการสอน และเครือข่ายการทำงานกับภาคส่วนต่าง ๆ

หลักสูตรของอาชีวะพันธุ์ใหม่มี 5 สาขาวิชาที่มี degree ได้แก่ ระบบขนส่งทางราง, ช่างอากาศยาน,
เมคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์, หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม, โลจิสติกส์ ซึ่งพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นอกจากนี้มีอีก 1 สาขาที่เป็น non-degree คือ เกษตรก้าวหน้า หรือ smart farming ซึ่งมีพัฒนาหลักสูตรกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเตรียมพัฒนาให้เป็นหลักสูตร degree ผ่านการทำงานกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทุกหลักสูตรที่เปิดสอนจะต้องมีมาตรฐานสากล ผ่านการตรวจสอบจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสถาบันการศึกษาที่เป็นคู่ทำทวิวุฒิ ซึ่งมีทั้งสถาบันการศึกษาของไทย ประเทศญี่ปุ่น และจีน รวมถึง มจธ.ที่จะเข้ามาปรับหลักสูตรให้เป็นระบบ Work Integrated Learning (WIL) โดยให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเวลาเรียน

ทั้งนี้ การลงทุนต่อหัวของหลักสูตร degree จะเริ่มต้นที่ 60,000 บาท/คน/ปี สูงสุด 120,000 บาท/คน/ปี ส่วนหลักสูตร non-degree อยู่ที่คนละ 30,000 บาท

สำหรับวิทยาลัยอาชีวศึกษา, วิทยาลัยการอาชีพ (วก.), วิทยาลัยเทคนิค (วท.) และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ที่เข้าร่วมโครงการอาชีวะพันธุ์ใหม่ ได้แก่ สาขาระบบขนส่งทางราง มี วก.บ้านไผ่, วท.สุราษฎร์ธานี, วท.วาปีปทุม, วท.ชลบุรี, วท.พระนครศรีอยุธยา, วท.หาดใหญ่, วก.เกาะคา ส่วนสาขาช่างอากาศยาน มี วท.ถลาง, วท.สัตหีบ, วท.ดอนเมือง, วท.สมุทรปราการ, วท.อุบลราชธานี, วก.ขอนแก่น

สาขาเมคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ มี วท.สุรนารี, วท.พระนครศรีอยุธยา, วท.มีนบุรี, วท.สุพรรณบุรี, วท.สมุทรสงคราม, วท.สมุทรสาคร, วท.สระบุรี, วท.พิจิตร, วท.สัตหีบ ขณะที่สาขาหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม มีวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) ในส่วนสาขาโลจิสติกส์ มีวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี และสาขาเกษตรก้าวหน้า มี วษท.เชียงใหม่, วษท.เชียงราย, วษท.ลำพูน, วษท.พะเยา, วษท.แพร่

23 มหา’ลัยร่วมเทรนคน

“ดร.สุภัทร จำปาทอง” เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสถาบันอุดมศึกษา 23 แห่งเข้าร่วมโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ จำนวนนี้เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน 3 แห่ง ที่เหลือเป็นมหาวิทยาลัยรัฐขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และมหาวิทยาลัยราชภัฏ

โดยหลักสูตรปริญญาจะเปิดสอนหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับ 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, แปรรูปอาหาร, หุ่นยนต์ เพื่ออุตสาหกรรม, การบินและโลจิสติกส์, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และดิจิทัล

“เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับรูปแบบการเรียนแบบ hands-on เป็นหลัก โดยประมาณการว่าสถาบันอุดมศึกษาจะสามารถจัดเทรนนิ่งแรงงานได้ 17,333 คน/ปี และผลิตนักศึกษาของหลักสูตร degree ได้ประมาณ 6,200 คน/รุ่น”

ทั้งนั้น แนวทางการดำเนินงานของ สกอ. ต่อโครงการนี้มี 4 รูปแบบหลัก คือ 1) การเพิ่มสมรรถนะ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ตอบโจทย์กำลังคนเร่งด่วนที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เน้นไปที่บุคคลที่ทำงานแล้ว และต้องการปรับสมรรถนะเดิมที่มีอยู่ รวมถึงผู้จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ปวช. ปวส. อนุปริญญา หรือผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาขณะนี้ 2) การบูรณาการทักษะชีวิตของสังคมดิจิทัลกับความรู้หลักในศาสตร์สาขาวิชาชีพ เพื่อพัฒนาบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถด้านทักษะสังคมและชีวิต มีความสามารถที่เป็นสากล มีความเป็นผู้ประกอบการ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

3) การสร้างสมรรถนะและ/หรือความรู้พื้นฐานใหม่ที่ต้องบูรณาการข้ามศาสตร์สาขาวิชาชีพเดิมที่มีอยู่ของศตวรรษที่ 20 ซึ่งเน้นการสร้างความสามารถ และสมรรถนะที่หลากหลาย และ 4) การตอบสนองการเรียนรู้ตามความต้องการของผู้เรียนเป็นรายบุคคล เพื่อให้มีทักษะและสมรรถนะในการทำงานที่หลากหลาย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน โดยในส่วนของรูปแบบที่ 2-4 มีกลุ่มเป้าหมาย คือ นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”