โค้ชเพื่อการศึกษา เครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลง-

หลังจากที่มีการเปิดตัวโรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ (Wellington College International School Bangkok) โรงเรียนชั้นนำด้านการศึกษาจากประเทศอังกฤษเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะเปิดทำการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาล-year 6 (อายุ 2-11 ขวบ) ในเดือนสิงหาคม 2561 ที่จะถึงนี้

ล่าสุดโรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ มีการจัดงานเสวนา “Welling ten minute talk” ขึ้น โดยมีวิทยากรมากประสบการณ์ทางด้านการศึกษามาร่วมพูดคุย และหนึ่งในนั้นคือ “เอียน เฮนเดอร์สัน” รองผู้อำนวยการ Wellington College, Berkshire United Kingdom ที่มาพูดคุยในหัวข้อเรื่อง “การโค้ช เป็นเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา”

“เอียน เฮนเดอร์สัน” เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า “สิ่งที่ผมจะพูดในครั้งนี้คือการโค้ชจะเปลี่ยนแปลงการศึกษาได้อย่างไร โดยขอเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า เราควรให้ความสำคัญกับอะไรมากสุด ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของเด็ก ๆ ทั้งผลลัพธ์ที่ดีที่จะก่อให้เกิดความสำเร็จ และความสำเร็จขั้นสูงสุดที่เด็ก ๆ จะสามารถไปให้ถึง หรือความสามารถที่จะออกไปสู่โลกภายนอกโรงเรียน สามารถดูแลตัวเองได้ และมีแรงขับเคลื่อนที่จะนำไปสู่ ความสำเร็จ รวมถึงความสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น มีความเป็นผู้นำ และดึงความสามารถที่หลากหลายจากผู้อื่นได้ ตลอดจนการค้นพบอาชีพ เส้นทางชีวิตที่ต้องการ รู้ว่าจะทำอะไรดีที่สุด ทั้งยังรู้ว่าเมื่อไหร่ และอย่างไร ที่จะต้องเปลี่ยนแปลง”

“ถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นคำตอบ และทุกคนเห็นด้วยกับบางเรื่อง นั่นหมายถึงการโค้ชนั้นน่าสนใจ แต่ถ้าเห็นด้วยทั้งหมดทุกเรื่อง นั่นหมายความว่าการโค้ช มีความสำคัญมาก ซึ่งจากประสบการณ์ของผม การโค้ชเป็นหนทางเดียวที่จะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งการโค้ชยังมีหลากหลายแนวทางที่จะช่วยให้ผู้คนได้เรียนรู้ และปรับปรุง พร้อมทั้งมีแนวทางการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และในตอนแรกผมหลงคิดว่าได้คิดค้นเรื่องนี้ขึ้นมาเอง จนกระทั่งพบว่า มีหลายท่านที่มีความสามารถมากกว่าที่ได้ศึกษา และเขียนเรื่องนี้ไว้”

“ดังนั้น ในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ในแบบหนึ่งเราสั่งว่าจงทำตามที่ฉันบอก ส่วนอีกแบบหนึ่งเราบอกว่าจงทำด้วยตัวคุณเอง และทั้งสองแบบนี้ถือว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดขึ้นในโรงเรียน เพราะว่าความสามารถในการสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่าง หรือการสร้างความชัดเจนจากสิ่งที่ซับซ้อน เป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่นอกจากการสอน การสาธิต ทำให้เห็น และแสดงตัวอย่างแล้ว”

“เอียน เฮนเดอร์สัน” กล่าวอีกว่า การโค้ชจึงถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะถ้าเราใช้แนวทางการให้คำปรึกษา การอภิปรายโต้ตอบ การส่งต่อภูมิปัญญา ประสบการณ์ หรือความเชี่ยวชาญจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง และผ่านการฟังอย่างเชี่ยวชาญ ถามคำถามที่ถูกต้อง เชื่อว่าจะสามารถทำให้เด็กนั้นมีความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของ และมีความรับผิดชอบที่เป็นการพัฒนาแรงจูงใจ ความสามารถในการพึ่งพาตนเอง และการผลักดันไปสู่เป้าหมายได้

“คนส่วนใหญ่จะเห็นว่าโค้ชเป็นเหมือนคนที่มีนกหวีด แผ่นกระดานเขียน ชุดโค้ช และพร้อมตะโกนสั่งลูกทีมในสนาม หรือคน คนหนึ่งที่ทำหน้าที่ติว โดยมีเป้าหมายที่จะให้สอบผ่านหรือพัฒนาทักษะการสอบสัมภาษณ์ แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสิ่งเหล่านั้น ฉะนั้น การโค้ชจึงยากที่จะอธิบายได้อย่างชัดเจน”

“ในที่นี้ขออธิบายสั้น ๆ ว่าการโค้ชในความหมายของผมคือ การเรียนรู้ที่จะฟังอย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากนั้นใช้การฟังร่วมกับความสามารถในการตั้งคำถามที่เปิดเผย ไม่ชี้นำ และท้าทายกับผู้ที่คุณโค้ช ซึ่งจะทำให้เด็กสามารถแก้ปัญหาของตนเองได้ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในสิ่งที่พวกเขาเก่งอยู่แล้วได้ในอีกทางหนึ่งด้วย”

ถึงตรงนี้ “เอียน เฮนเดอร์สัน” บอกว่า เหตุผลสำคัญที่เวลลิงตันคอลเลจใช้การโค้ชในโรงเรียน คือเราอยู่ในธุรกิจที่พัฒนา และปลดล็อกความเป็นไปได้ในตัวผู้คน ทั้งนักเรียน และบุคลากรในโรงเรียนของเรา

“โดยในหนังสือของแดน พิงค์ ที่ ชื่อว่า Drive : the truth about motivation กล่าวว่า 3 สิ่งที่เป็นแรงกระตุ้นผู้คนซึ่งอยู่ในบทบาทที่ซับซ้อน คือการรู้จักควบคุมตนเอง ความเชี่ยวชาญ และการมีเป้าหมาย ฉะนั้น แก่นของการโค้ชคือหนทางในการช่วยเหลือผู้คน เพื่อผลักดันตนเอง (การรู้จักควบคุมตนเอง) เพื่อเชื่อมโยงกับความสุขในการทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น (ความเชี่ยวชาญ) และทำในสิ่งที่มีความสำคัญ (และการมีเป้าหมาย)”

“อีกทั้งจากงานวิจัยโดยเฮย์กรุ๊ป และเมอร์ริล แอนเดอร์สัน ระหว่างปี 2010-2013 แสดงให้เห็นว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุนในการโค้ชนั้นมากถึง 529% ซึ่งหากคำนวณอัตราการคงอยู่ของพนักงาน ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุนนั้นสูงถึง 788% ฉะนั้น การโค้ชจึงมีความสำคัญ และให้เกิดผลที่ดีขึ้นกับตัวเอง และองค์กร

ถ้าหากย้อนมายังการโค้ชที่เวลลิงตัน ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของโรงเรียน เพราะการโค้ชช่วยพัฒนาความคิด การเรียนรู้ และการแก้ปัญหา ซึ่งได้กลายเป็นรากฐานของวัฒนธรรม รวมถึงแนวคิดของโรงเรียนที่เชื่อมโยงกันอย่างเหนียวแน่น”

“โดยเราฝึกอบรมครู และเจ้าหน้าที่ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องทักษะการโค้ช เพราะเมื่อถูกใช้ในห้องเรียนพวกเขาจะกลายเป็นครู และผู้นำที่ดีขึ้น ซึ่งจะสามารถให้การสนับสนุนที่เหมาะสม สร้างความสมดุลของการอธิบาย หรือการชี้แนะ ที่จะส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างเป็นอิสระอีกด้วย”

นับเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาในโลกปัจจุบัน

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”