5 ทำเลสุดยอดรถติด รามฯ-ลาดพร้าว-รามอินทรา วิกฤต 3 ปี-

ยังคงรั้งแชมป์เป็นเมืองรถติดอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “กรุงเทพมหานคร” เมืองหลวงของประเทศไทย และคงจะสาหัสสากรรจ์ไปอีก 2-3 ปี

ขุดถนนสร้างรถไฟฟ้าเพิ่ม

สถานภาพของปี 2561 ไม่ต่างจากทุกปีที่ผ่านมา และมีทีท่าว่าจะหนักหน่วงมากขึ้น เพราะเป็นปีเริ่มปิดถนนสายหลัก ทั้งพระราม 9 รามคำแหง ศรีนครินทร์ ลาดพร้าว มีนบุรี รามอินทรา ติวานนท์ แจ้งวัฒนะ และเจริญนคร ขุดตอม่อสร้างรถไฟฟ้า 4 สายใหม่ สีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) สีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสีทอง (กรุงธนบุรี-ประชาธิปก)

เพิ่มเติมจากปัจจุบันมีงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) สายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) สีเขียวส่วนต่อขยาย (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และอุโมงค์ทางลอดแยกไฟฉาย

โซนตะวันตกเริ่มคลี่คลาย

จากการติดตามสภาพการจราจรปี 2560 ของ “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” พบว่าปัญหารถติดไม่ต่างจากปี 2559 อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากยังมีงานก่อสร้างรถไฟฟ้า ถนน ทางด่วนยังล่าช้า ขณะที่การขอจดทะเบียนรถใหม่ในเขตกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2560 มีรถจดทะเบียนใหม่เฉลี่ย 1,226 คันต่อวัน และมียอดสะสมอยู่ที่ 9.663 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 270,268 คัน หรือ 2.9%

ทำให้ทุกพื้นที่ยังคงประสบปัญหารถติด ยกเว้นพื้นที่โซนตะวันตกที่เริ่มคลี่คลาย แม้จะมีงานสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายอยู่บนถนนเพชรเกษมและถนนจรัญสนิทวงศ์ แต่สภาพการจราจรดีขึ้นหลังงานโครงสร้างแล้วเสร็จคืนผิวจราจร และมีการเปิดใช้ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนตะวันตก

ปี’61 รถติดลามนนท์-ปากน้ำ

สำหรับสภาพการจราจรในปี 2561 “สนข.” ประเมินว่า พื้นที่กรุงเทพฯและพื้นที่ต่อเนื่องกับ จ.นนทบุรี และสมุทรปราการ จะมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มที่ทยอยดำเนินการเมื่อปลายปี 2560 ต่อเนื่องถึงปี 2561 น่าจะกระทบต่อการจราจรบนถนนต่าง ๆ

ล่าสุดเพื่อรับมือการเปิดเทอมที่ทยอยเปิดภาคเรียนวันที่ 15 พ.ค. 2561 ทางตำรวจจราจร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้รับเหมาได้หาทางบรรเทาวิกฤตการจราจร

เร่งกระชับพื้นที่ถนนหลัก

พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กล่าวว่า ขอให้ผู้รับเหมาคืนผิวจราจรถนนแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าให้มากที่สุด เช่น สายสีน้ำเงินบริเวณเพชรเกษมและจรัญสนิทวงศ์ที่คืนพื้นที่แล้ว แต่ผิวยังไม่เรียบ ได้เร่งจัดการให้เรียบร้อย

“กำชับตำรวจจราจรพื้นที่มีปัญหารถติดหน้าโรงเรียนทำความเข้าใจกับโรงเรียนให้ใช้เวลาจอดรับส่งน้อยที่สุด ซึ่งโรงเรียนมีปัญหาบ่อย ได้แก่ เซนต์โยเซฟคอนแวนต์ กรุงเทพคริสเตียน อัสสัมชัญบางรัก เซนต์คาเบรียล สามเสนวิทยาลัย วัฒนาวิทยาลัย และมาแตร์เดอี”

สำหรับจุดที่มีปัญหาจราจรมากที่สุด ได้แก่ ถนนรามคำแหง ถนนลาดพร้าว และถนนพหลโยธิน ขอให้กั้นปิดการจราจรเท่าที่จำเป็น ขยายเส้นทางให้กว้างให้รถวิ่งสะดวกขึ้น รวมถึงเร่งรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคให้เสร็จเร็วขึ้นเพื่อลดปัญหาการจราจรที่ติดขัด

พ.ย.นี้พหลโยธินคืนผิวถาวร

นายวิทยา พันธุ์มงคล ผู้ช่วยผู้ว่าการและรักษาราชการรองผู้ว่าการ ปฏิบัติการ รฟม. กล่าวว่า การคืนพื้นที่สายสีเขียวช่วงหมอชิต-คูคต เริ่มตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งขาเข้า-ขาออก ประมาณ 4 กม. จะคืนพื้นที่ถาวรในเดือน พ.ย.นี้

นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าบนถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. เช่น รามคำแหง พหลโยธิน ลาดพร้าว ขอให้ รฟม.กั้นแบริเออร์ที่จำเป็น

คนกรุงทำใจติดหนัก 3 ปี

“ปัญหารถติด กทม.จะติดหนักแบบนี้ 2-3 ปี ตามการเปิดใช้รถไฟฟ้าสายใหม่ ปีนี้หนักกว่าปีที่แล้ว เพราะสร้างรถไฟฟ้าเพิ่ม หนักสุดเป็นโซนตะวันออก เช่น รามคำแหง มีนบุรี ศรีนครินทร์ รามอินทรา ในเมืองไม่น่าห่วงเพราะมีรถไฟฟ้า ปัญหารถติดคงทำอะไรไม่ได้ ต้องเร่งการก่อสร้างอย่างเดียว”

นอกจากนี้ประชาชนก็ต้องปรับตัว ปรับเวลาไปทำงานเร็วขึ้น หรือเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น

 

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”