“อิสราเอล” โมเดลเกษตร 4.0 ฟื้นทะเลทรายด้วย High-Tech-

ภาพจาก : www.israel-in-photos.com

“อิสราเอล” หนึ่งในประเทศตะวันออกกลางที่มีสภาพอากาศแล้งแห้งขั้นรุนแรง มีพื้นที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกเพียง 20% พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกปกคลุมไปด้วยทะเลทราย ติดอันดับต้น ๆ ของโลกว่ามีปริมาณฝนตกน้อย แต่ความน่าทึ่ง ก็คือ ความสำเร็จในการคิดค้นเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ล้ำสมัย จนสามารถผันตัวเองให้เป็นผู้นำด้านการทำฟาร์มอัจฉริยะ การชลประทานน้ำหยด การผลิตน้ำบริสุทธิ์ และนำกลับมาใช้ใหม่

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้ได้จากอิสราเอลในการพัฒนาด้านการเกษตรอย่างครบด้าน รวมถึงเป็นแนวทางในการแก้ไขภาคเกษตรของไทยที่ประสบปัญหาแห้งแล้ง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรไทย

“ด้วยสภาพแวดล้อมที่แร้นแค้นของอิสราเอล เป็นแรงผลักให้เกิดความคิดสร้างสรรค์” หนึ่งในคำกล่าวของคนอิสราเอลที่พูดอย่างภาคภูมิใจ ที่กลายเป็นหนึ่งในท็อปของโลก เมื่อนานาประเทศกล่าวถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร ประเทศมีแหล่งน้ำหลักจาก “ทะเล” เท่านั้น โดยถูกล้อมไปด้วยทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลเดดซีที่กั้นเขตแดนกับประเทศจอร์แดน

จึงเป็นที่มาของการเกิดเทคโนโลยีขั้นสูง โดยอิสราเอลได้พัฒนาเทคโนโลยีการกลั่นน้ำเค็ม และรีไซเคิลน้ำเสียให้กลับมาเป็น “น้ำจืดเพื่อการเกษตร” ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำฝนที่ตกน้อยมากเฉลี่ยเพียงปีละ 20-50 นิ้ว หรือน้อยกว่า 33 มิลลิเมตรต่อปี ทั้งยังมีอัตราการระเหยของน้ำสูง ทางการอิสราเอลจึงออกแบบการสร้างอ่างเก็บน้ำตลอดเส้นทางน้ำ

นานาประเทศรู้จักอิสราเอลในฐานะ “หนึ่งในระบบชลประทานดีที่สุดของโลก” นอกจากนี้ยังขนานนามว่าเป็น “ต้นแบบของชลประทานน้ำหยด” ที่มีประสิทธิภาพการจ่ายน้ำกว่า 90% เมื่อเทียบกับระบบฉีดน้ำฝอยที่หลายประเทศเกษตรกรรมรวมทั้งประเทศไทยใช้ แต่มีประสิทธิภาพการจ่ายน้ำน้อยกว่า ราว 75-85% นอกจากจะส่งผลต่อความสิ้นเปลืองน้ำแล้ว ยังกระทบถึงปริมาณการผลิตที่ไม่ตรงตามเป้าหมายด้วย

เช่นกรณีของ “เนตาฟิม” บริษัทอันดับหนึ่งด้านระบบน้ำเพื่อการเกษตรจากอิสราเอล ต้นแบบการคิดค้นระบบน้ำหยดเจ้าแรกของโลก ที่พลิกผืนทะเลทรายให้กลายเป็นแปลงเกษตร ที่เคลมว่าเป็นระบบที่ใช้ทุนน้อย ประหยัดเวลา แต่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า มีระบบการตรวจสอบและควบคุมแปลงเกษตรที่มีสภาพอากาศที่แตกต่างกันได้

ผู้แทนจากเนตาฟิม กล่าวว่า นอกจากเทคโนโลยีขั้นสูงของระบบน้ำหยด นวัตกรรมการควบคุมน้ำและปุ๋ย ยังมีนวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่เรียกว่า “NetBeat” เป็นการตรวจสอบและควบคุมสภาพความชื้นในดินแบบเรียลไทมส์ พร้อมคำแนะนำผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน โดยสามารถสั่งการให้ปรับปรุงดินและแก้ไขความชื้นได้ทันทีผ่านคลื่นวิทยุ ซึ่งจะครอบคลุมระยะไกลได้มากกว่าใช้ระบบ Wi-Fi

โดยบริษัทได้เปิดตัวเทคโนโลยีขั้นสูงนี้เป็นครั้งแรกในงาน “Agritect 2018” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8-10 พ.ค.ที่ผ่านมา ในกรุงเทลอาวีฟ เป็นงานนิทรรศการระดับโลกด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตร ซึ่งการจัดเป็นประจำทุก ๆ 3 ปี ซึ่งรัฐบาลอิสราเอลยึดมั่นเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรที่ยั่งยืน รวมถึงการถ่ายทอด know-how เป็นการสร้างรายได้กลับสู่ประเทศ

งานนิทรรศการในปีนี้ อิสราเอลให้ความสำคัญกับ “Start up” มากขึ้นในฐานะที่เป็นประเทศต้นแบบ โดยกระทรวงการต่างประเทศของไทย กับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ร่วมออกงานจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรจากฝั่งไทย เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เกิดความร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้น ทั้งยังเปิดโอกาสให้จัดทำ business matching ระหว่างผู้ประกอบการไทยและอิสราเอลอีกด้วย

นอกจากนี้อิสราเอล ยังมีศูนย์กลางการเรียนรู้เทคโนโลยีการเกษตร “Vidor Center” ในพื้นที่ทะเลทรายที่เรียกว่า “Arava” ทางตอนใต้ของอิสราเอลเพื่อเป็นแหล่งทดลองและเรียนรู้เกษตรยุคใหม่ หนึ่งในโครงการความสำเร็จที่น่าสนใจของศูนย์แห่งนี้ คือ การทดลองปลูก “สตรอว์เบอรี่” พืชเมืองหนาว ในพื้นกลางทะเลทราย ด้วยวิธีการปลูกในโรงเรือนที่มีระบบควบคุมน้ำและอุณหภูมิที่มั่นคง จนถึงวิธีการปลูกในกระเช้าและพื้นที่กลางแจ้ง แม้เป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูงแต่ก็คุ้มค่า

เพราะปัจจุบันประเทศทะเลทรายแห่งนี้ได้กลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกสตรอว์เบอรี่ในตลาดยุโรปไปแล้ว

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”