ททท.หนุนมิชลิน ไกด์ ไทยแลนด์ ยกระดับ “อาหารไทย” ดึงเงินทัวริสต์-

“มิชลิน ไกด์” หนังสือแนะนำการท่องเที่ยวที่เก่าแก่ที่สุดในโลกกว่า 100 ปี ปัจจุบันครอบคลุม 31 ประเทศใน 4 ทวีป และเกือบ 2 หมื่นร้านอาหารทั่วโลกแล้ว

ในจำนวนนี้เมื่อแยกร้านอาหารที่ได้ 1-3 ดาวของมิชลิน ไกด์ พบว่ามี 2,946 ร้าน คิดเป็น 15% ของร้านอาหารที่อยู่ในไกด์บุ๊กของมิชลินทั้งหมด ขณะร้านที่ได้ตราสัญลักษณ์ บิบ กูร์มองด์ (ร้านอาหารที่มอบความคุ้มค่าในราคาย่อมเยา ไม่เกิน 1,000 บาท) มีจำนวน 3,369 ร้านค้า คิดเป็น 17% และร้านค้าที่ได้ตราสัญลักษณ์มี 13,319 ร้านค้า คิดเป็น 68%

และหลังจากได้เปิดตัวหนังสือคู่มือ “มิชลิน ไกด์ กรุงเทพฯ 2561” ฉบับปฐมฤกษ์ในไทยอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา มีร้านอาหาร 98 แห่งในกรุงเทพฯ มีร้านที่ได้รับดาว 17 ร้าน แบ่งเป็น 2 ดาว 3 ร้าน และ 1 ดาว อีก 14 ร้าน

ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ บริษัท สยามมิชลิน จำกัด ร่วมกันเผยว่า กำลังจะมีการเปิดตัวคู่มือแนะนำร้านอาหารและที่พักฉบับปี 2562 ซึ่งจะเป็นการมอบดาวเพิ่มเติมไปยังร้านอาหารและที่พักในภูเก็ตและพังงาด้วย ภายใต้ชื่อ “มิชลิน ไกด์ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต และพังงา” โดยมีกำหนดเปิดตัวราวปลายเดือนพฤศจิกายนหรือต้นเดือนธันวาคมปีนี้

“เสกสรร ไตรอุโฆษ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามมิชลิน จำกัด บอกว่า คู่มือฉบับใหม่นี้จะครอบคลุมถึง 8 พื้นที่ โดยนอกจากกรุงเทพฯแล้ว ยังมีปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรปราการ รวมถึงจังหวัดภูเก็ตและพังงาด้วย เนื่องจากภูเก็ตและพังงามีความโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าหลงใหลจากการผสมผสานหลาย ๆ วัฒนธรรม ทั้งอินเดีย มาเลย์ จีน ทำให้ผู้ตรวจสอบอาหาร (อินสเป็กเตอร์) ของมิชลินประทับใจและตื่นเต้นอย่างมาก

“นับว่าเป็นการขยายพื้นที่มิชลิน ไกด์ ซึ่งรวดเร็วกว่าที่คาดไว้ และหวังว่าภายใน 5 ปีนี้ มิชลินจะพยายามเข้าไปตรวจสอบร้านอาหารให้ครอบคลุมหลาย ๆ พื้นที่มากที่สุด และมีแผนเพิ่มอินสเป็กเตอร์มากขึ้นให้สอดรับกับการค้นหาร้านอาหารที่ได้มาตรฐาน”

นอกจากร้านอาหารที่ได้ดาวมิชลินแล้ว สิ่งที่อยากโปรโมตคือร้านอาหารที่ได้รับการแนะนำในหมวด “บิบ กูร์มองด์” แม้ร้านอาหารเหล่านี้จะยังไม่ได้รับดาว แต่ก็เป็นร้านที่มิชลินไกด์แนะนำ ในคู่มือฉบับปฐมฤกษ์มีร้านอาหารในกรุงเทพฯ ในหมวดบิบ กูร์มองด์ จำนวน 35 ร้านด้วยกัน และกว่าครึ่งหนึ่งเป็นร้านอาหารริมทาง (สตรีตฟู้ด) ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการร้านอาหารเล็ก ๆ และมีส่วนช่วยกระจายรายได้ลงไปยังเมืองรองที่มีร้านอาหารที่ได้รับการแนะนำจากมิชลิน ไกด์ ด้วย

ขณะที่ “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้พูดถึงภาพรวมผลตอบรับหลังเปิดตัวมิชลิน ไกด์ กรุงเทพฯ ไปเมื่อปลายปีที่แล้วว่า มีร้านอาหารที่ได้รับการแนะนำทั้งหมดมียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 20% โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ให้ความสนใจเดินทางตามรอยร้านอาหารในไทยตามมิชลิน ไกด์ คือ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน

“ตอนเปิดตัวมิชลิน ไกด์ กรุงเทพฯ เราประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ไม่มีใครไม่รู้จักร้านเจ๊ไฝและเมนูดังอย่างไข่เจียวปู การที่มิชลินตัดสินใจไปภูเก็ตและพังงาจะช่วยสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้สัมผัสประสบการณ์ด้านอาหารเพิ่มเติมจากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ”

นอกจากนี้ ยังเสริมทัพชื่อเสียงของภูเก็ตซึ่งได้รับการคัดเลือกจากยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็น creative city ด้าน gastronomy จากจุดเด่นของท้องถิ่นและเอกลักษณ์ด้านอาหาร ขณะที่พังงาเองก็เป็นจุดหมายที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น

ทั้งนี้ ททท.ยังหวังว่าในมิชลิน ไกด์ บุ๊กปีที่ 2 จะได้เห็นร้านอาหารที่ได้ 3 ดาวจากมิชลิน ไกด์ เป็นปีแรก และหวังว่าจะเกิดที่ภูเก็ตและพังงาด้วย

โดยเป้าหมายที่ ททท.อยากเห็นคือ การมี “มิชลิน ไกด์ ไทยแลนด์” ออกมาให้ได้ภายในปี 2568 เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการใช้ “อาหาร” เป็น “ตัวนำ” การขับเคลื่อนด้านรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทยตลอดทั้งซัพพลายเชน และยังช่วยกระจายรายได้การท่องเที่ยวไปยังจังหวัดเมืองรองทั่วประเทศ

“มั่นใจว่า มิชลิน ไกด์ ไทยแลนด์ น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้เป็นแห่งแรกของโลก เพราะเมื่อดูศักยภาพของประเทศไทยแล้ว พบว่าอาหารในแต่ละภาคมีความหลากหลายและแตกต่างกัน และมองว่าร้านอาหารที่ได้รับการแนะนำในหมวดบิบ กูร์มองด์ จะเป็น “คีย์ไดรเวอร์” สำคัญในการผลักดันให้คนออกไปตามรอย”

โดยระหว่างนี้ ททท.จะจัดทำโครงการ “พรี-มิชลิน” (Pre-Michelin) ซึ่งจะมาช่วยให้ความรู้ในการบริหารจัดการแก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร ทั้งด้านวัตถุดิบและมาตรฐานร้าน เพื่อเป็นการเตรียมตัวแก่ผู้ประกอบการร้านอาหารที่สนใจยกระดับให้เข้าเกณฑ์ของมิชลิน ไกด์ และทำพร้อม ๆ ไปกับโครงการอาหารถิ่น มุ่งต่อยอดไปยังตลาดต่างประเทศ หลังจากที่ไทยได้รับการคัดเลือกจาก “ทริปแอดไวเซอร์” ให้เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มอบประสบการณ์ด้านสตรีตฟู้ดดีที่สุดในโลก

ดังนั้น จึงคาดว่านโยบายการผลักดันอาหารไทยให้เป็นแม่เหล็กขับเคลื่อนรายได้การท่องเที่ยวให้กับประเทศ จะช่วยเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวจาก 20% เป็น 30% หรือมีมูลค่าเพิ่มจากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 6 แสนล้านบาท เป็นกว่า 8 แสนล้านบาทในปี 2565

 

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”