2 แบงก์เข้มสินเชื่อ 3 กลุ่มธุรกิจ โรงสี-เกษตร-มีเดียอ่วมเอ็นพีแอลกระฉูด-

2 แบงก์ “ไทยพาณิชย์-กรุงเทพ” เดินหน้าเข้มปล่อยกู้ 3 กลุ่มเอสเอ็มอี “โรงสี-เกษตร-มีเดีย” ฟากแบงก์ไทยพาณิชย์หลอนหนี้เสีย “โรงสี” พุ่งสูงสุด 10% เร่งมือสางปมเน่า คุมพอร์ตไม่ให้เอ็นพีแอลพีก ฝั่งแบงก์กรุงเทพห่วงกลุ่มเกษตรโดยเฉพาะปศุสัตว์ สะดุดราคาเนื้อสัตว์ร่วง รวมถึงเอสเอ็มอีที่ขาดนวัตกรรม ฉุดโตยาก-ความสามารถแข่งขันต่ำ

นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดลูกค้า SMEs และผู้บริหารสูงสุดลูกค้าธุรกิจขนาดย่อม ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ขณะนี้สินเชื่อเอสเอ็มอีที่เข้มงวดการปล่อยกู้เป็นพิเศษอย่างต่อเนื่องใน 3 กลุ่มใหญ่ คือ สินเชื่อเอสเอ็มอีที่ให้กับกลุ่มโรงสี เกษตร และกลุ่มทีวีดิจิทัล (มีเดีย) โดยเฉพาะโรงสีที่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล สูงเกินระดับ 10% จากพอร์ตสินเชื่อคงค้างของกลุ่มโรงสีที่อยู่ 1.4 พันล้านบาท ถือว่าสูงมากสุด ขณะที่เอ็นพีแอลรวมของเอสเอ็มอี (ยอดขายไม่เกิน 500 ล้านบาท) เฉลี่ยอยู่ที่ 7.6% เท่านั้น ทำให้ธนาคารต้องระมัดระวังในการปล่อยกู้ใหม่ให้กับกลุ่มนี้มากขึ้น รวมถึงพยายามดูแลไม่ให้หนี้เสียกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธนาคารมีการบริหารจัดการเอ็นพีแอลของกลุ่มโรงสีแล้ว เพื่อไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีทั้งการเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ และมีบางรายที่ขอออกไปรีไฟแนนซ์แบงก์อื่น ๆ ส่วนกลุ่มมีเดียยังคงต้องเป็นห่วง เพราะธุรกิจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ขณะนี้พอร์ตกลุ่มมีเดียที่อยู่ในพอร์ตเอสเอ็มอีของธนาคาร มีไม่ถึง 1 พันล้านบาท

“กลุ่มที่ระวังก็เป็นกลุ่มที่เป็นเอ็นพีแอลสูง ๆ เช่น โรงสี ที่เอ็นพีแอลเกิน 10% หรือคิดเป็นหนี้เสียในกลุ่มนี้กว่า 100 ล้านบาท แต่ตอนนี้เราเคลียร์พอร์ตที่มีปัญหาพวกนั้นแล้ว เช่น การรีไฟแนนซ์ออกไป ลูกค้ามาชำระบ้าง และกลุ่มที่ยังต้องห่วงก็ยังเป็นกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตร พวกทำธุรกิจปุ๋ยต่าง ๆ” นางพิกุลกล่าว

สำหรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีที่มียอดขายไม่เกิน 500 ล้านบาท นางพิกุลกล่าวว่า ปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อเพิ่มขึ้นสุทธิ 7% จากสินเชื่อคงค้าง ณ ไตรมาสแรกที่อยู่ 3.6 แสนล้านบาท โดยจะเน้นปล่อยสินเชื่อใน 7 อุตสาหกรรมหลัก อาทิ ท่องเที่ยว อาหาร รีเทล เทเลคอม โลจิสติกส์ ก่อสร้าง ฯลฯ

ด้านนายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารยังต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร โดยเฉพาะปศุสัตว์ที่มีความอ่อนไหวกับราคาสินค้า โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ที่ราคาในปัจจุบันปรับลดลงค่อนข้างมาก อีกทั้งสินค้าในปัจจุบันถือว่ามากกว่าความต้องการจริงของผู้บริโภค ทำให้กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่ธนาคารต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

“ตอนนี้ก็ห่วงทุกกลุ่มโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ไม่ปรับตัว ไม่มีนวัตกรรม ไม่ทรานส์ฟอร์มตัวเอง ซึ่งอาจถูกผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และปัญหาจากการแข่งขันได้ เช่น พวกที่ผลิตเสื้อผ้า ผลิตของใช้ต่าง ๆ ที่เผชิญกับคู่แข่งอย่างจีน ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าเครื่องใช้รายใหญ่ จะเห็นได้ว่าราคาสินค้าเครื่องใช้เหล่านี้ลดลงเรื่อย ๆ ทำให้แข่งขันยาก กลุ่มพวกนี้ต้องปรับตัวถึงจะอยู่ได้ ส่วนกลุ่มที่ธนาคารจะโฟกัสเป็นพิเศษในปีนี้คือ เอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรม มีเครื่องจักรใหม่ ๆ เพราะเอสเอ็มอีเหล่านี้มีต้นทุนที่ถูกลง และมีการทรานส์ฟอร์มตัวเอง เพื่อให้รับกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ดังนั้นแนวโน้มก็น่าจะมีทิศทางการแข่งขันที่ดีกว่ากลุ่มอื่น ๆ” นายศิริเดชกล่าว

สำหรับทิศทางการปล่อยสินเชื่อในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาของธนาคาร ถือว่าทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันเอสเอ็มอียังไม่ได้เติบโตมากนัก ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”