ซูเปอร์ฯเพื่อสังคม ช่วยโลกลดขยะอาหาร-

คอลัมน์ Eco Touch

มากกว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ถูกผลิตในโลกนี้มีจุดจบเป็นของเหลือทิ้ง แต่ขณะเดียวกัน ยังมีคนกว่า 800 ล้านคนทั่วโลกต้องอดมื้อกินมื้อ ซึ่งปัญหาขยะอาหารที่เหลือทิ้งบ่งบอกถึงการใช้ทรัพยากรของโลกอย่างไร้คุณภาพ ทั้งยังมีส่วนในการสร้างมลพิษอีกด้วย

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น (United Nations -UN) กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals) 17 ข้อ โดยมีข้อที่ 12 เกี่ยวกับการสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และข้อ 12.3 กล่าวไว้ด้วยเรื่องการลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งทั้งระดับค้าปลีก ผู้บริโภค และลดการสูญเสียหลังเก็บเกี่ยวให้ได้ภายในปี 2573

หากแต่การจะจัดการกับปัญหาดังกล่าวต้องมีการวางแผนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ โดยใช้ข้อมูลสถิติการบริโภคสินค้าแต่ละประเภท ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลานาน ทำให้การแก้ปัญหาไม่ทันเวลา รวมไปถึงเหตุผลในแง่ธุรกิจที่ผู้ประกอบการมักผลิตของจำนวนมากในครั้งเดียว เพราะช่วยลดต้นทุน จึงเป็นความท้าทายและอุปสรรคกับการขจัดปัญหาขยะเศษอาหารในปัจจุบัน

แต่กระนั้น ยังมีคนบางกลุ่มที่เล็งเห็นว่าต้องลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยลดขยะเศษอาหาร ถึงแม้จะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ และเป็นปลายน้ำ โดยตัวอย่างแรกคือ “Wefood” ในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตของหมดอายุที่ก่อตั้งในปี 2559

ทางร้านเลือกขายสินค้าที่ร้านอื่นไม่ขายเพราะเลยวัน best before นั่นคือวันที่ผู้ผลิตระบุไว้บนฉลากสินค้าว่าอาหารยังมีคุณค่าทางโภชนาการของอาหารครบถ้วนจนถึงวันกำหนด และยังสามารถใช้ได้ต่อไปอีก 6 เดือน แต่ส่วนประกอบบางตัวจะลดลง

นอกจากนั้น “Wefood” ยังขายสินค้าที่บรรจุภัณฑ์มีตำหนิ หรือแปะป้ายผิดอีกด้วย สินค้าเหล่านี้ยังสามารถนำบริโภคได้ตามข้อกำหนดของ Danish food legislation โดยทางร้านจะขายสินค้าดังกล่าวด้วยราคาที่ถูกกว่าร้านทั่วไปกว่าเท่าตัว

ถึงแม้จะดูเป็นสินค้าที่เหมือนไร้ค่า แต่เชื่อหรือไม่ว่าทางร้านกลับมีลูกค้าขาประจำจำนวนมาก จนสินค้าบางตัวไม่มีขายตามที่ลูกค้าต้องการ เหตุผลหนึ่งเพราะสินค้าที่มีอยู่ในร้านขึ้นอยู่กับการบริจาคจากผู้ผลิต ส่งผลให้การมาช็อปปิ้งแต่ละครั้งลูกค้าจะได้สินค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน

ตอนนี้ในประเทศเดนมาร์กมีร้านค้าประเภทเดียวกันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้กลายเป็นประเทศที่ทิ้งอาหารน้อยลง 25% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

นอกจากช่องทางการขายแบบหน้าร้าน ยังมี “Nifties” จากเมืองเคนต์ ประเทศอังกฤษ ที่ก่อตั้งในระยะเวลาไล่เลี่ยกับ “Wefood” แต่มีจุดเด่นด้วยการขายแบบออนไลน์ นอกจากนั้น สินค้าส่วนใหญ่ยังมีราคาเฉลี่ยที่ 70
เพนนี จนทำให้ลูกค้าบางคนเรียกร้านนี้ว่าร้าน 70P

ซึ่งทางร้านทำการส่งสินค้าทั่วสหราชอาณาจักร ที่อัตราค่าส่ง 7 ปอนด์สำหรับพัสดุ 20 กิโลกรัม และ 30
เพนนีต่อกิโลกรัม ความสำเร็จดังกล่าว ส่งผลให้ “Nifties” วางแผนขยายคอนเซ็ปต์ดังกล่าวไปเปิดหน้าร้านที่กรุงลอนดอนด้วย

เมื่อหันกลับมามองการลดปัญหาขยะอาหารในประเทศไทย จะเห็นว่ามีเทสโก้ โลตัส ที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบมาแล้วกว่า 3 ปี โดยนำร่องผ่านเทสโก้ โลตัส 23 สาขา ในกรุงเทพฯ ภายใต้กลยุทธ์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork)

โดยเทสโก้ โลตัส ลดการสูญเสียอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทานผ่าน 3 ขั้นตอนการจัดการด้วยกันคือ

หนึ่ง ลดการเกิดของเสีย โดยมีการบริหารจัดการตั้งแต่แปลงปลูก ผ่านโครงการรับซื้อผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกร จนช่วยให้เทสโก้ โลตัส และเกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกร่วมกันตามความต้องการของตลาด

สอง การขนส่ง ที่ผ่านมาหากเกิดความเสียหายของสินค้าขณะขนส่ง จะถูกคัดทิ้งทันที แต่ปัจจุบันสามารถส่งต่อให้แก่หน่วยงาน หรือองค์กรที่ต้องการได้ เช่น ข้าวสาร อาหารสำเร็จรูป

สาม การขายให้หมด เพื่อลดของเหลือ ผ่านการลดราคาเพื่อจูงใจหรือสินค้าป้ายเหลือง รวมทั้งสินค้าตัวโชว์ ซึ่งมักจะขายไม่ได้ แม้ว่าคุณภาพดีก็ตามทั้งในอนาคตเทสโก้ โลตัสยังมีแผนขยายพื้นที่เพื่อส่งต่อสินค้าเหล่านี้ไปทั่วประเทศกว่า 150 สาขา โดยอาจจะจับคู่กับหน่วยงานในแต่ละพื้นที่เป็น buddy charity หรือผ่านชุมชนโดยตรง เพื่อส่งต่อสินค้าที่ขายไม่หมด แต่มีคุณภาพดี ไปยังผู้ที่ต้องการ

นับว่าเรื่องของขยะอาหารเป็นประเด็นร้อนในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งทุกคนควรช่วยกันทั้งในระดับครัวเรือน และภาคธุรกิจอย่างจริงจัง

หมายเหตุ : หากใครมีเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สามารถส่งข้อมูลมาได้ที่ [email protected]

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”