“ม.กรุงเทพ” ปรับทิศ ปั้นบัณฑิตรุ่นใหม่สไตล์ iFIT-

มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้สร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ไม่เคยมีมหาวิทยาลัยใดทำมาก่อน โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาออกแบบการเรียนการสอนวิชาศึกษาทั่วไป (General Education-GE) ในฐานะ Learning Designer (LD) และ Learning Experience Designer (LXD) ร่วมกับ “ครูพันธุ์ใหม่” ผู้ทำหน้าที่เป็นโค้ช

ผลสำเร็จจากการปฏิวัติการเรียนรู้ทุกหลักสูตรด้วยวิชา GE ส่งผลให้ ม.กรุงเทพได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 3 มหาวิทยาลัยเอกชนนำร่องโครงการสร้าง “บัณฑิตพันธุ์ใหม่” ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพราะสามารถสร้างบัณฑิตที่มีทั้งทักษะชีวิต (soft skill)และทักษะวิชาชีพ (professional skill)

“เพชร โอสถานุเคราะห์” อธิการบดี ม.กรุงเทพ กล่าวว่า ความคิดริเริ่มที่เกิดขึ้นในวิชา GE ถูกต่อยอด และพัฒนาเป็นโมเดล iFIT (Individual Future Innovative Learning of Thailand) มีความหมายว่า เหมาะ หรือ Fit กับทุกความต้องการของนักศึกษา ม.กรุงเทพ โดยมุ่งมั่นสร้างโมเดลนี้ให้กลายเป็น Thailand model ภายใต้ปรัชญาการศึกษาเพื่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืน และเป็นต้นแบบในระดับสากลสำหรับการสร้างทรัพยากรมนุษย์คุณภาพตอบรับโลกอนาคต

“เมื่อ สกอ.ริเริ่มโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ม.กรุงเทพจึงนำเสนอโปรเจ็กต์ iFIT ที่เราทดลองทำจนเห็นผลลัพธ์มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะให้ สกอ.พิจารณา ซึ่งโมเดลการเรียนรู้แบบ personalizedlearning ฉบับ ม.กรุงเทพ จะปั้นบัณฑิตพันธุ์ใหม่ให้มี lifelong learningcompetency”

“รศ.ดร.ทิพรัตน์ วงษ์เจริญ” รองอธิการบดีอาวุโสด้านวิชาการ ม.กรุงเทพ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า iFIT เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการของนักศึกษาเป็นรายบุคคล เพราะ ม.กรุงเทพตระหนักดีว่า นักศึกษาแต่ละคนต่างมีความสามารถ ความสนใจ และความถนัดเฉพาะตัวที่ต่างกัน การออกแบบเส้นทางสู่อนาคตจึงไม่สามารถยึดรูปแบบการเรียนการสอนแบบที่ใช้กันในปัจจุบัน หรือแม้แต่การวัดผลก็ไม่สามารถใช้ข้อสอบชุดเดียวกันได้ ดังนั้น ต้องปฏิวัติรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อให้เป็น personalized learning อย่างแท้จริง

นอกจากหลักสูตรต่าง ๆ จะตอบโจทย์ตลาดงานในอนาคตแล้ว ม.กรุงเทพยังผสมผสานศาสตร์และศิลป์อันหลากหลาย ทลายพรมแดนของคณะวิชา ปรับหลักสูตรและเปลี่ยนการนั่งเรียนเป็นการทำงานจริง รวมถึงเปลี่ยนการบ้านเป็นโปรเจ็กต์ระดับมืออาชีพ และเปลี่ยนตารางสอนเป็นช่วงเวลาของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยมีครูเป็นพี่เลี้ยง นอกจากนั้น จะเน้นการทำงานกลุ่ม และส่งเสริมการฝึกฝนทักษะที่หลากหลาย เพื่อเปิดโอกาสการเรียนรู้อย่างครีเอทีฟและฟรีสไตล์แบบ open platform

“วิธีนี้จะทำให้นักศึกษามีทั้งทักษะวิชาชีพเฉพาะทาง และทักษะวิชาชีพที่จำเป็นอื่น ๆ ส่งผลให้มีความเชี่ยวชาญรอบด้าน มีสมรรถนะเพียงพอต่อการรองรับอาชีพที่หลากหลาย เพราะโลกอนาคตเต็มไปด้วยความผันผวน ไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่าอาชีพใดจะยั่งยืน การมีความรู้ความเชี่ยวชาญหลายด้านจึงจำเป็นต่อการดำรงชีวิตในอนาคตอย่างมาก”

“นักศึกษาใหม่ยังสามารถเลือกเรียนแทร็กพิเศษที่เปิดโอกาสให้ได้ค้นหาตัวเองก่อน แล้วค่อยเลือกเรียนคณะและสาขาวิชาในภายหลัง โดยสามารถเลือกเรียนวิชาที่จำเป็นต่อการพัฒนาทักษะสำหรับอาชีพการงานที่มุ่งหวังในอนาคตได้อย่างตามที่ต้องการ”

ทิศทางเหล่านี้สะท้อนเจตจำนงของ ม.กรุงเทพ ที่มุ่งสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ หรือ Thailand future gen ผู้มีอิสรภาพในการออกแบบการเรียนรู้แห่งอนาคตด้วยตนเอง เพื่อเป็นบุคลากรที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและสังคมโลก

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”