พลิกโฉม สนามมวยราชดำเนิน ผุดมอลล์ใหม่ รับท่องเที่ยว-

ด้วยสภาพเศรษฐกิจและทิศทางการท่องที่ยวของประเทศไทยที่เติบโตทุกปี มีหลายทำเลใจกลางเมืองทยอยปรับโฉมเติมแต่ง เพื่อสร้างจุดขายใหม่ ๆ

ล่าสุด “ถนนราชดำเนิน” ในเขตกรุงเทพฯชั้นในได้ถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอนุรักษ์ที่ชัดเจนขึ้น

เพราะอนาคตอันใกล้จะมีโครงการรถไฟฟ้า “สายสีส้ม” จาก “ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์” พาดผ่าน

ที่สำคัญ “สนามมวยราชดำเนิน” สัญลักษณ์กิจกรรมด้านกีฬา ที่ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนินนอก ภายใต้การบริหารของ “บริษัท เวทีราชดำเนิน จำกัด” พลิกโฉม “สนามมวยราชดำเนิน” ซึ่งเป็นผู้เช่าช่วงจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีแผนจะปรับปรุงพื้นที่ 4 ไร่เศษในรอบ 70 ปี ให้เป็นแหล่งไลฟ์สไตล์ทันสมัย ซึ่งเป็นทำเลที่สามารถเดินทะลุไปยังวัดโสมนัสราชวรวิหารและสนามม้านางเลิ้งได้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ลงสำรวจพื้นที่พบว่า โดยรอบสนามมวยราชดำเนินส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์สมัยเก่าประมาณ 30 คูหาที่ต้องถูกรื้อทิ้ง เช่น ร้านลิขิตไก่ย่าง(ร้านอาหารชื่อดังสมัยยุค 60) ร้านผลเจริญ เปิดบริการมานาน 50 ปี ปัจจุบันถูกปิดร้าง เนื่องจากปัจจุบันทางบริษัท เวทีราชดำเนิน จำกัด ได้บอกยกเลิกสัญญาเช่าแล้ว เพื่อขอคืนพื้นที่

แต่ยังมีผู้เช่าเดิมที่ยังไม่ย้ายออกไปอยู่ 3-4 ราย คาดว่าสิ้นปี 2561 จะเคลียร์พื้นที่ได้เสร็จสิ้น

จากการสอบถามชาวบ้านที่ค้าขายในย่านดังกล่าว ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ต้นปี 2561 “ร้านลิขิตไก่ย่าง” และ “ร้านผลเจริญ” ได้ย้ายออกจากพื้นที่เช่าไปอยู่ตึกแถวฝั่งตรงข้าม ด้านหลังสนามมวย ซึ่งเป็นที่ดินของวัดโสมนัสราชวรวิหาร

“กระแสข่าว ขอคืนพื้นที่บริเวณสนามมวยราชดำเนิน มีมานานแล้วตั้งแต่ปี 2557 สมัยที่สนามมวยลุมพินีย้ายไปอยู่ย่านรามอินทรา” ชาวบ้านรายหนึ่งกล่าว

ที่น่าสนใจ มีรายงานข่าวจากบริษัท เวทีราชดำเนิน จำกัด ผู้บริหารสนามมวยราชดำเนิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า หลังจากเคลียร์ผู้เช่าจบแล้ว ทางบริษัทมีแผนจะลงทุนวงเงิน 200-300 ล้านบาท เพื่อพัฒนาพื้นที่สนามมวยราชดำเนินใหม่ ซึ่งเป็นเมกะโปรเจ็กต์โครงการหนึ่งของสนามมวย แต่ติดเรื่องสัญญาผู้เช่าตึก

ตามแผนจะพัฒนาโครงการใหม่ชื่อ “ราชดำเนิน คัลเจอร์ พลาซ่า มอลล์” รูปแบบจะนำตึกแถวรอบ ๆ ที่ทรุดโทรมมาปรับปรุงใหม่ เป็น “พลาซ่า มอลล์” ขนาด 2-3 ชั้น มีร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายอุปกรณ์กีฬา ฯลฯ และปรับพื้นที่ด้านข้างสนามมวยให้เป็นที่จอดรถทั้งบนดินและใต้ดิน

ส่วน “สนามมวย” ยังอยู่คงเดิม เพื่อความขลังและคลาสสิก แต่จะปรับโฉมให้ดูโมเดิร์นขึ้น คาดว่าใช้เวลา 2 ปีจะแล้วเสร็จ

“แบบแปลนรูปแบบโครงสร้างเสร็จหมดแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนขออนุมัติจากสำนักงานทรัพย์สินฯ และวัดโสมนัส ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่และรอเคลียร์ผู้เช่าอีก 3-4 ราย เช่น ร้านกาแฟ ร้านข้าว ร้านอาหาร เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจะเดินหน้าทันที”

ภายใต้เป้าหมายที่ต้องการให้สนามมวยราชดำเนินเป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมและศูนย์รวมสินค้าพื้นเมืองจากทั่วประเทศและของแปลกหายากมาออกร้าน

เนื่องจากสนามมวยเป็น 1 ใน 5 จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเมื่อก่อนมีนักท่องเที่ยวจากยุโรป ปัจจุบันเป็นกลุ่มเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี มาดูการแสดง

“สนามมวยราชดำเนิน จะไม่ใช่มีแค่มวยไทย ยังมีศิลปวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่เป็นอันซีน ไทยแลนด์มาเผยแพร่ เช่น การสักไม้ไผ่ การวาดลายกระหนก เพื่อรับลูกค้ากรุ๊ปทัวร์” รายงานข่าวกล่าว

จากข้อมูลระบุว่า สนามมวยราชดำเนิน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2484 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่โครงการหยุดชะงักช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง จนมาถึงปี 2487 “ปราโมทย์ พึงสุนทร” ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้นำโครงการมาพิจารณา และก่อสร้างต่อในเดือน ส.ค. 2488 โดยเปิดใช้แข่งขันนัดแรกในวันที่ 23 ธ.ค. 2488

จากนั้นได้ปรับปรุงจนเป็นสนามมวยมาตรฐานในปี 2494 โดยมีสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นผู้ดำเนินงาน มี “เฉลิม เชี่ยวสกุล” เป็นผู้จัดการสนามมวย แต่บริหารงานเพียง 7 ปี เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนมาตลอดจึงให้องค์กรหรือบุคคลนอก เข้ามาบริหารแทน แต่นายเฉลิมเห็นว่าไม่เหมาะสม จึงขออนุมัติจากสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นผู้ดำเนินกิจการสนามมวย

โดยก่อตั้งบริษัท เวทีราชดำเนิน จำกัด ในปี 2496 ปัจจุบันสนามมวยราชดำเนินบริหารโดยรุ่นลูกและหลานของนายเฉลิม มี นายเฉลิมพงษ์ เชี่ยวสกุล ลูกชายเป็นกรรมการผู้จัดการและ นายจิต เชี่ยวสกุล หลานชายเป็นนายสนามฯ ซึ่งจัดโปรแกรมชกทุกวันจันทร์ พุธ พฤหัสฯ และอาทิตย์ ผลประกอบการปี 2559 มีรายได้รวม 21.35 ล้านบาท

ขณะที่ “สนามม้านางเลิ้ง” พื้นที่กิจกรรมที่อยู่ไม่ไกลกันก็ประกาศปิดฉากตำนาน 102 ปี เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2561 โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทำหนังสือถึงคณะกรรมการอำนวยการราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เรื่องการบอกเลิกสัญญาเช่าและขอให้ส่งมอบสถานที่เช่า พร้อมกำหนดให้ขนย้ายทรัพย์สินออกภายใน 180 วันหรือภายในเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้

ส่วนพื้นที่เดิมของสนามม้านางเลิ้งยังไม่ได้ระบุชัดจะพัฒนาเป็นโครงการรูปแบบใด แต่คาดว่าจะเป็นนิวโปรเจ็กต์ที่เกิดประโยชน์สูงสุดในเชิงมูลค่าและสังคม

 

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”