เปิดพอร์ตธุรกิจ “มหากิจศิริ” ปั้น TTA-อีคอมเมิร์ซ-อาหาร-

เอ่ยชื่อ “เฉลิมชัย มหากิจศิริ” หรือ “กึ้ง” คนส่วนใหญ่อาจรู้จักและคุ้นชินกับภาพความเป็นเซเลบ หรือคนดังในสังคมไฮโซ ขณะที่อีกหนึ่งบทบาทในฐานะนักธุรกิจรุ่นใหม่ ทายาทเจ้าสัว “ประยุทธ มหากิจศิริ” เจ้าพ่อ “เนสกาแฟ” ซึ่งมีเครือข่ายธุรกิจในมืออีกนับไม่ถ้วน ทั้งโลจิสติกส์ อุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ กลุ่มเครื่องดื่ม-อาหาร ฯลฯ พอร์ตลงทุนรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท ติดอันดับมหาเศรษฐีของเมืองไทย

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้สนทนากับ “เฉลิมชัย” ที่เวลานี้ได้รับมอบหมายให้ดูแลธุรกิจหลักของ
ครอบครัวเต็มตัว โดยนั่งในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ หรือ TTA บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนี โดยมีหลากหลายธุรกิจที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการ

ดัน TTA ขึ้นโฮลดิ้งคอมปะนี

“เฉลิมชัย” เริ่มต้นด้วยการฉายภาพให้เห็นถึงธุรกิจในร่มธงของ TTA ซึ่งเป็นโฮลดิ้งคอมปะนีว่า การลงทุนในหลายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันดับ 1 คือ โทรีเซน ชิปปิ้ง เป็นกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ ให้บริการเรือขนส่ง สินค้าระหว่างประเทศ ปัจจุบันเรามีเรืออยู่ 21 ลำ มีกำลังจุประมาณ 5 หมื่น 8 พันตันกรอส เป็นของเราเอง มีทีมดูแลจัดการเอง ถือเป็นธุรกิจดั้งเดิม

แบรนดิ้งของโทรีเซน อยู่มา 100 กว่าปีแล้ว บุคลากรมีประสบการณ์สูง โดย TTA ถือหุ้นในโทรีเซน ชิปปิ้ง 100% ในเรื่องของต้นทุนเรียกได้ว่า บริษัทมีต้นทุนต่ำที่สุดของโลก

อันดับ 2 การลงทุนในเมอร์เมด มาริไทม์ TTA ถืออยู่ 57% อยู่ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ทำเกี่ยวกับเรื่องวิศวกรรมใต้ทะเล เช่น ซ่อมแท่นขุดเจาะ มีประสบการณ์ มีนักดำน้ำที่อยู่ในระบบมากที่สุดในโลกราว 500 คน อันดับ 3 เรื่องทำปุ๋ย คือพีเอ็ม โทรีเซน เอเชียโฮลดิ้งส์ อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไทย TTA ถือหุ้น 68% มีโรงงานอยู่ในเวียดนาม อันดับ 4 ยูนิค ไมนิ่ง ธุรกิจถ่านหิน อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไทย เราถือหุ้น 90% แต่เป็นเซ็กเตอร์ที่ค่อนข้างยาก เพราะตลาดถ่านหินก็ไม่ค่อยโตเราจึงพยายามลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด

ธุรกิจใหม่ปั้นรายได้-ลดเสี่ยง

ขณะเดียวกัน ปีที่แล้วเพิ่งไปเทกโอเวอร์พิซซ่าฮัทมา ปีนี้มีแพลนที่จะลอนช์แบรนด์ใหม่ คือทาโกเบล ประมาณปลายปีนี้ สิ่งที่เราลงทุนเพิ่มเติมคือเรื่องฟู้ด เพราะเรื่องการเดินเรือ กับเรื่องวิศวกรรมใต้ทะเล ทั้งสองอย่างเป็นธุรกิจที่มีวงจร ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกที่ไม่เกี่ยวกับบริษัท ไม่ว่าจะเป็นค่าระวางเรือจะเพิ่มหรือลด ถ้าเพิ่มขึ้นบริษัทก็มีโอกาสทำกำไรได้มาก แต่ถ้าค่าระวางเรือลดลงโอกาสจะขาดทุนก็มี

วิศวกรรมใต้ทะเล ก็ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน น้ำมันขึ้น การขุดเจาะมีมากขึ้น การใช้งานก็มีเยอะขึ้น เรตที่เราได้ก็สูงขึ้น ราคาน้ำมันลดลง การขุดเจาะน้อยลง ทำให้มาร์จิ้นเราลดลง

ขณะที่ปุ๋ยตรานกกระสา ขึ้นอยู่กับการทำเกษตร ฝนจะตกมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ แต่เราก็ส่งออกไปทั่วโลก เช่น แอฟริกา ฟิลิปปินส์ ล่าสุด จึงเพิ่มในส่วนธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ทำให้พอร์ตของ TTA มีรายได้ที่เสถียรมากขึ้น

“เฉลิมชัย” กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ เรือขนส่ง และบริการขุดเจาะในทะเล 60-70% ธุรกิจปุ๋ย 20%
สำหรับฟู้ดคาดหวังว่าจะได้ซัก 10% แล้วค่อย ๆ ขยายฐานให้เติบโตต่อ โดยทั้งกลุ่มพยายามจะโฟกัสเรื่องรายได้ของธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญ อย่างเรื่องฟู้ด “พิซซ่าฮัท” ปีนี้น่าจะขยาย 130 สาขา ตอนที่เทกโอเวอร์มา 93 สาขา ตอนนี้มี 121 สาขา ขณะที่ทาโก้เบล จะเปิดปลายปีนี้ เป็นเม็กซิกันฟาสต์ฟู้ด เป็นแบรนด์ที่ใหญ่ในอเมริกา

ธุรกิจเดินเรือยังเป็นตัวชูโรง

เมื่อถามถึงทิศทางการก้าวไปข้างหน้าของ TTA เขามองว่าทุกอย่างต้องเริ่มจากสิ่งที่มี เพราะถ้าเริ่มจากสิ่งใหม่ ประสบการณ์เราจะไม่มี ต้องหันมามองว่าเรามีเรื่องอะไรบ้าง

มอง ๆ ดู ชิปปิ้งช่วงปี 2016 มันลงเยอะ แต่เราก็รู้สถานการณ์อยู่แล้วว่า อะไรลงได้ ก็ต้องขึ้นได้ และเรามีการซื้อเรือตลอดเวลา ทำให้วันนี้ต้นทุนการเดินเรือยังต่ำ เทียบกับปัจจุบัน ก็สามารถทำกำไรได้ เพราะฉะนั้นในปีนี้ชิปปิ้งจะเป็นตัวชูโรงในการทำกำไร และมองว่าอย่างน้อย ๆ น่าจะดีอีก 2 ปี ส่วนวิศวกรรมใต้ทะเล ก็ทำคอนแทร็กต์กับยักษ์ใหญ่ของโลก คือ ซาอุดีฯ อรามโก้ แต่ต้องหางานเพิ่มเติม

ธุรกิจปุ๋ย กำไรทุกปี ปีละ 200 ล้านบาท โดยเฉลี่ย กำไรดี ส่วนเรื่องถ่านหิน ยังเหนื่อยต้องพยายามลดต้นทุน

ส่วนฟู้ดตอนที่เทกโอเวอร์มา 93 สาขา ตอนนี้มี 121 สาขา มีทาโกเบลเปิดปลายปีนี้ เป็นเม็กซิกันฟาสต์ฟู้ด เป็นแบรนด์ที่ใหญ่ในอเมริกา ยังไม่ระบุว่าจำหน่ายที่ไหน

ยังไม่ถึงเวลาสปีดลงทุนอสังหา

และแม้กลุ่มธุรกิจที่อยู่ภายใต้ TTA จะมีที่ดินที่ถือครองอยู่ในมือ นอกจากนี้ยังมีที่ดินซึ่งเป็นของครอบครัวอีกจำนวนมาก แต่ “เฉลิมชัย” มองว่าขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะสปีดลงทุนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เต็มที่ แม้จะมีธุรกิจอสังหาฯในมือ อย่างสนามกอล์ฟ ในทำเลบางนา และที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา การลงทุนพัฒนาคอนโดมิเนียม The Nest ที่สุขุมวิท 66 กับสุขุมวิท 22 ภายใต้ บจ.เดอะเนส พร็อพเพอร์ตี้ เป็นต้น

ขณะที่การลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ ของครอบครัว ที่เตรียมลอนช์ออกสู่ตลาด อาทิ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ชื่อ P 80 ซึ่งเพิ่งสร้างโรงงานเสร็จ และจะเริ่มวางตลาดปลายปีนี้ กับอีเลฟเว่นสตรีท (11 street Thailand) ธุรกิจ
อีคอมเมิร์ซ ซึ่งเพิ่งเทกโอเวอร์เข้ามา ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมแผนยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด

อีกอย่างที่มองไว้คือ venture capital (VC) เราอาจจะต้องมี VC เป็นของตัวเอง เป็นส่วนต่อในการที่เราจะปรับตัวเองไปสู่โลกยุคใหม่ อย่างเช่นการเดินเรือ เราก็ไปมองนวัตกรรม อย่างที่ผมไปดูที่ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีพวกเทคโนโลยี 3D printing สมัยก่อนการซื้ออะไหล่ที่มีปัญหา ต้องใช้เวลา 2-3 เดือนในการซื้ออะไหล่ใหม่ แต่ 3D printing สามารถพรินต์อะไหล่นั้นภายใน 8-10 ชั่วโมง นี่เป็นส่วนที่เราต้องไปลงทุนเพิ่มเติม

ขนาดของ VC คงเริ่มจากเล็ก ๆ ก่อน มองไว้ว่าเริ่มต้นที่ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”