“ดันส่งออก” ครึ่งปีหลัง ทะลุ 11% รับมือสงครามการค้า-

แม้ว่าสถานการณ์การส่งออกในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2561) จะขยายตัวถึง 11% จนมีแนวโน้มว่าจะทะลุเป้าหมายการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้ 8% แต่ “นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยังไม่ด่วนสรุปปรับประมาณการตัวเลขส่งออกปี 2561 โดยจะมีการประชุมร่วมกับประเมินสถานการณ์การส่งออกร่วมกับคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ (D4) ซึ่งนำโดย “สนั่น อังอุบลกุล” ในวันที่ 3 สิงหาคมนี้ และนำไปรวมกับข้อมูลผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) อีกครั้ง

ปัจจัยบวก-ลบ

นางจันทิราระบุว่า ทิศทางการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยปัจจัยสำคัญมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ขยับสูงขึ้น การอาศัยจังหวะทำตลาดสินค้าส่งออกกลุ่มใหม่ในตลาดเดิม เช่น แอฟริกา หันมาปลูกพืชเองมากขึ้น ไทยควรอาศัยจังหวะนี้ในการผลักดันสินค้าเครื่องจักรกลการเกษตร ผลดีของการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ซึ่งทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ในการส่งออกสินค้าไปทดแทนยังสองตลาดนี้ รวมถึงสามารถดึงดูดการลงทุนเข้ามามากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่องสงครามการค้าก็ยังมีความเสี่ยงอยู่บ้างว่าจะส่งผลกระทบต่อสินค้าใดหรือไม่ นอกจากนี้ ผู้ส่งออกยังมีความกังวลต่อปัญหาความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

อัดกิจกรรม 276 กิจกรรม

การดำเนินมาตรการในช่วง 5 เดือนแรก ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้จัดทำกิจกรรมผลักดันการส่งออกตามแผนของปี 2561 ไปแล้ว 276 กิจกรรมจากแผนทั้งหมด 340 กิจกรรม ในช่วง 7 เดือนที่เหลือ จึงเหลือเพียง 64 กิจกรรม โดยประเภทกิจกรรมส่งออกที่ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ 1) กิจกรรมส่ง
เสริมดีมานด์ (demand driven) ดำเนินการไป 74 จากแผน 87 เหลือ 13 กิจกรรม 2) กิจกรรมส่งเสริมการส่งออกธุรกิจบริการ ดำเนินการไปแล้ว 41 กิจกรรม ทั้งหมด 52 เหลือ 11 กิจกรรม 3) กิจกรรมเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ดำเนินการไปแล้ว 59 กิจกรรม จาก 79 เหลือ 20 กิจกรรม 4) กิจกรรมคลัสเตอร์โปรโมชั่น 97 กิจกรรม จากแผน 117 กิจกรรม เหลือ 20 กิจกรรม และ 5) กิจกรรมส่งเสริมการลงทุน (outward investment) ดำเนินการครบ 5 กิจกรรมตามแผน และมีโอกาสที่จะเพิ่มจำนวนกิจกรรมอีก

ปูทาง Trade Logistics

ในช่วงครึ่งปีหลังนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีแผนจะผลักดันการขยายตลาดผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ โดยผ่านแพลตฟอร์มใหม่ จากช่วงครึ่งปีแรกที่ประสบความสำคัญในการผลักดันการสร้างความร่วมมือกับทาง Tmall ของกลุ่มอาลีบาบาในการนำร่องการส่งออกข้าวและทุเรียน ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังจะต่อยอดไปสู่การส่งเสริมระบบ “เทรดโลจิสติกส์” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์สำหรับใช้แก้ปัญหาทางการค้า โดยจะมีการจัดงานแสดงสินค้าด้านโลจิสติกส์ “TILOG” ระหว่างวันที่ 29-31 สิงหาคม 2561 และให้สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการยุคใหม่ (NEA) พัฒนาหลักสูตรในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ และการทำตลาดแบบ “experience design”

ปั้น 4 ธุรกิจเป้าหมาย

ขณะเดียวกัน กรมยังมีแผนส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี โดยจะจับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อกำหนดแนวทางส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี และส่งเสริมธุรกิจบริการใหม่ที่เป็นเป้าหมาย คือ มวยไทย, โฮสเทล และ hospitality อาหาร ธุรกิจก่อสร้างครบวงจรทั้งการออกแบบ ซึ่งขณะนี้มีหลายตลาดที่มีการลงทุนก่อสร้าง “เมืองใหม่” มากขึ้น เช่น ดูไบ กำลังจะจัดงาน “World Expo Dubai 2020” ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันการส่งออกสินค้าวัสดุก่อสร้าง เครื่องปรับอากาศ และธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรม

ลุยนิชมาร์เก็ต

นางจันทิราให้ความเห็นว่า การส่งออกจะต้องมุ่งมองหาโอกาสโดยเฉพาะการเจาะตลาดสินค้าเฉพาะ หรือ niche market ซึ่งอาจเป็นการต่อยอดสินค้าใหม่จากตลาดเดิม เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ สำหรับสัตว์เลี้ยง ของใช้สำหรับผู้สูงอายุ แต่ในอนาคตมองถึงการต่อยอดธุรกิจหลังความตาย “ธุรกิจรับจัดงานศพ” ซึ่งปัจจุบันมีการมองถึงการพัฒนาเครื่องประดับสำหรับบรรจุอัฐิเก็บไว้เพื่อเป็นที่ระลึก หากไทยสามารถมองเห็นโอกาสต่อยอดในลักษณะนี้ได้

ต่อยอด Strategic Partnership

สำหรับตลาดเป้าหมายนั้นยังคงมุ่งเน้นนโยบายสร้าง “strategic partnership” ต่อยอดจากประเทศที่รัฐบาลไปโรดโชว์ เช่น อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังจะต้องต่อยอด MOU ที่ร่วมกับบริติชเคาน์ซิลดึงการจัดงาน Lon-don Craft Week มาจัดที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในชื่อ “Bangkok Craft Week” เพื่อให้รับกับเทรนด์ตลาดโลกที่หันกลับมานิยมสินค้าทำมือ (craft) มากขึ้น ส่วนที่ MOU กับหอการค้านานาชาติฝรั่งเศส จะต่อยอดการพัฒนาผู้ประกอบการด้านอีคอมเมิร์ซ และเอสเอ็มอี เพราะหน่วยงานนี้มีสถาบัน e-Commerce Academy ที่สิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมองข้ามชอตไปถึงสเต็ปการ “ร่วมทุน” ตั้งฐานการผลิตในศรีลังกาหลังจากไทย-ศรีลังกาเจรจาเอฟทีเอ เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

วางเป้า Demand Driven

พร้อมกันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์) ให้จัดทำเป้าหมายความต้องการของสินค้า (demand driven) ในปี 2562 เพื่อใช้ขับเคลื่อนการส่งออกตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการใช้การตลาดนำการผลิต โดยจะเริ่มนำร่องกำหนดเป้าหมายสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ เช่น อาหาร เกษตร ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ไก่ ผลไม้ น้ำตาล เพื่อดูแลปัญหาราคาสินค้าเกษตรระยะยาว ไม่ให้ซ้ำรอยกับที่ผ่านมา

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”