สงครามแนวร่วม คดี 7 ตุลาฯ ศึกคนกันเอง เขย่ารัฐบาลบิ๊กตู่-

คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง “ยกฟ้อง” นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) สร้างแรง “กระเพื่อม” ทางการเมืองส่งตรงไปยังรัฐบาล-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

จากผลของคำพิพากษาเกิดเป็นความ “เห็นต่าง” จนเห็นเป็น “รอยร้าว” ในกลุ่มก้อน “แนวร่วม” ก่อนรัฐประหาร 22 พฤษภาฯ 2557 ประกอบด้วย อดีตแกนนำกลุ่ม พธม.รุ่นสอง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และ “หัวแถว” ของรัฐบาล-คสช.

กลุ่ม พธม.รุ่น 1-รุ่น 2 ออกแถลงการณ์เคารพคำตัดสินยกฟ้อง “สมชายและพวก” แต่ “ทำใจไม่ได้” กับคำพิพากษาของศาลและตั้ง “คณะกรรมการติดตาม” เป็น “กองหนุน” ส่งข้อมูลให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่น “อุทธรณ์” ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ภายใน 30 วัน ตามกติกาใหม่ของรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ปี 2560 ได้แก่ คำสั่งของศาลปกครองกลางให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักนายกรัฐมนตรี ชดใช้ทางแพ่ง 32 ล้านบาท มติ ชี้มูลของ ป.ป.ช. มติ กสม. ระบุว่า การประชุมของกลุ่ม พธม.อย่างสงบ ปราศจากอาวุธและใช้สิทธิในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่การสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักสากล

ตรงกันข้ามกับอดีตเลขาธิการ กปปส.-นายสุเทพ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (มปท.) ออกมาเคารพคำพิพากษาศาลอย่าง “เต็มอก-เต็มใจ” และขอให้ประชาชนเชื่อมั่น-ไว้วางใจศาล ไม่ว่าจะพิพากษาตัดสินคดีอย่างไร แต่นายสุเทพคงลืมคิดไปว่า เมื่อคำพิพากษายกฟ้อง “คดีสมชาย” เกิดเป็นแนว “บรรทัดฐาน” กับการชุมนุมทางการเมืองหลายเหตุการณ์ในอดีต โดยเฉพาะการชุมนุม “ม็อบ กปปส.” ของมวลมหาประชาชน ขับไล่ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์”

ขณะนี้มีคดีที่กล่าวหารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ในมือ ป.ป.ช. ได้แก่ คดีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ช่วงการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.โดยมิชอบ กระทำการเกินกว่าเหตุ และละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 63

ขณะที่รัฐบาล-คสช. ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี หัวหน้ารัฐบาล-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าฝ่ายความมั่นคง ถึงแม้ว่าในฐานะผู้รักษาความสงบต้องยืนยันการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อระงับไม่ให้เกิดความไม่สงบวุ่นวายในบ้านเมือง “ขอให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย อย่าให้เกิดความวุ่นวาย”

ทว่า นัยทางการเมือง-ความสัมพันธ์ระหว่าง “พล.อ.ประวิตร” และ “พล.ต.อ.พัชรวาท” น้องร่วมสายโลหิต กับ “พล.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ” ประธาน ป.ป.ช. ผู้นั่งหัวโต๊ะ-ชี้ขาดว่า จะอุทธรณ์หรือไม่อุทธรณ์ ที่ผ่านมา “แนบแน่น” มี “หนี้บุญคุณ” กันมา จึงถูกตั้งธงไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ป.ป.ช.อาจจะ “ไม่ยื่นอุทธรณ์” ต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์

ทางด้านกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เตรียม “กดดัน” ควานหามาตรฐานคดีสลายการชุมนุมกลุ่ม พธม.เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จาก ป.ป.ช. เช่นกัน เพื่อขอ “รื้อฟื้น” คดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 เพื่อหาแนวบรรทัดฐานการ “กระชับพื้นที่” ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


ฝ่ายหนึ่งขอใช้สิทธิ์อุทธรณ์คดี 7 ตุลาฯ 2551 ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ฝ่ายหนึ่งให้เคารพคำตัดสินของศาล-เคียงข้างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นฝ่ายที่ต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความสงบของบ้านเมือง-เสถียรภาพของรัฐบาล อีกฝ่ายเป็นคนกลางที่มีผู้มีพระคุณเป็นส่วนได้-เสีย จึงปรากฏเป็นรอยร้าว-หวาดระแวงของคนกันเองในสมการอำนาจทหารยุคปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง