ส่องโอกาส ตลาดฮาลาล นอกประเทศมุสลิม-

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ ธนาคารกสิกรไทย

ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่มีการเติบโตเร็วที่สุด และมีจำนวนประชากรมากที่สุด ปัจจุบันประชากรมุสลิมทั่วโลกมีจำนวนประมาณ 2.14 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 28.26 ของประชากรโลก และมีการคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2030 ประชากรมุสลิมจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 พันล้านคน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรโลก โดยประชากรมุสลิมส่วนใหญ่ร้อยละ 53 จะอาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา รองลงมาคือ เอเชีย ยุโรป อเมริกา และโอเชียเนีย ตามลำดับ ทั้งนี้ ตลาดอาหารฮาลาลมีมูลค่าประมาณ 162,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศในตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงประเทศในแถบอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น

ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรกรรมทั้งพืชและสัตว์เพื่อการส่งออกรายใหญ่ของโลก จึงถือว่าอยู่ในฐานะหนึ่งในประเทศที่เป็นครัวของโลก และเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตและส่งออกอาหารฮาลาลทั้งที่เป็นสินค้าเกษตรขั้นต้น รวมถึงสินค้าแปรรูปและอาหารสำเร็จรูปที่สำคัญของโลก โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดอาหารฮาลาลเป็นอันดับ 9 ของโลก ในปี 2560 ไทยส่งออกอาหารฮาลาลประมาณ 5,824 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 ตลาดส่งออกหลักคือประเทศในอาเซียนโดยเฉพาะอินโดนีเซียและมาเลเซีย และตลาดตะวันออกกลาง แต่ตลาดอาหารฮาลาลนอกจากจะอยู่ในกลุ่มประเทศมุสลิมแล้ว ก็ยังมีตลาดที่มีศักยภาพอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถเปิดโอกาสไปขยายตลาดได้ ดังนี้

1.ประเทศนอกกลุ่มมุสลิม แต่มีจำนวนประชากรมุสลิมสูง เช่น อินเดีย (265.8 ล้านคน) จีน (137.8 ล้านคน) รัสเซีย (27.4 ล้านคน) สหรัฐ (6.8 ล้านคน) โดยสินค้าอาหารที่น่าจะได้รับความนิยมและสามารถเข้าไปทำตลาดในกลุ่มประเทศเหล่านี้ได้ คือ ผักผลไม้แปรรูปที่มีความหลากหลายตามฤดูกาล และเครื่องปรุงรส

2.ประเทศที่มีชาวมุสลิมสนใจท่องเที่ยว ประเทศที่คนมุสลิมสนใจท่องเที่ยวนอกกลุ่มประเทศมุสลิม คือ สหรัฐ EU จีน ไทยและอินเดีย โดยในส่วนของไทยนั้นนอกจากนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวแล้ว ชาวมุสลิมยังสนใจเข้ามารักษาในโรงพยาบาลเอกชนจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจเข้าไปเป็นห่วงโซ่สนับสนุนวัตถุดิบให้กับกลุ่มโรงแรมและโรงพยาบาลที่รองรับชาวมุสลิมที่เข้าไปท่องเที่ยวในประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะประเทศจีนและอินเดีย ซึ่งไทยมีข้อตกลงทางการค้าเสรีซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านภาษีนำเข้าได้

3.ประเทศที่มีร้านอาหารไทย เนื่องจากอาหารไทยได้รับความนิยมในต่างประเทศ โดยมีร้านอาหารไทยในประเทศต่าง ๆ ประมาณ 20,000 แห่ง ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจติดต่อเพื่อใช้เป็นช่องทางในการนำเข้าวัตถุดิบอาหารฮาลาล เนื่องจากร้านอาหารไทยมีความคุ้นเคยกับวัตถุดิบจากประเทศไทยอยู่แล้ว โดยผู้ประกอบการอาจติดต่อกับภาครัฐที่มีข้อมูลร้านอาหารไทยในต่างแดน หรือตัวแทนจัดซื้อจัดจำหน่ายที่ส่งต่อวัตถุดิบให้ร้านอาหารไทยเพื่อให้จัดส่งสินค้าให้

4.ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และพาราลิมปิกเกมส์ในปี 2563 โดยมีประเทศที่เป็นประเทศมุสลิม 57 ชาติ ทำให้ประเทศเจ้าภาพมีความต้องการอาหารฮาลาล จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการอาหารฮาลาลของไทยที่ควรเร่งเข้าไปติดต่อทำการตลาดผ่านร้านค้าปลีกหรือร้านค้าส่งล่วงหน้า

อย่างไรก็ดี ตลาดนี้ก็มีการแข่งขันสูง เพราะต้องแข่งขันกับประเทศบราซิล อินเดีย รัสเซีย สหรัฐ และอาร์เจนตินา ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดอันดับ 1-5 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลโลก แล้วยังมีประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศในเอเชียที่ต่างก็มีเป้าหมายในการเพิ่มบทบาทในตลาดอาหารฮาลาลเช่นกัน ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องหาเพิ่มศักยภาพ อย่างเช่น การสร้างความเชื่อมั่น การพัฒนาสินค้า การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า รวมถึงการขยายฐานการผลิต เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”