กลุ่ม ร.ร.จุฬาภรณฯ ปักธง สร้างคุณภาพเทียบนานาชาติ-

โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เปิดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปี 2536 ด้วยหลักสูตรเดียวกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่งให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาคในปี 2533

โดยมีเป้าหมายเพื่อกระจายโอกาสการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพของนักเรียนผู้มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ด้วยที่ตั้งของโรงเรียนกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ สามารถรับนักเรียนทั้งในจังหวัด และพื้นที่ใกล้เคียงเปิดสอนตั้งแต่ชั้น ม.1-6 ส่วนระดับ ม.1-3 มีชั้นละ 4 ห้อง และ ม.4-6 มีชั้นละ 6 ห้อง แต่ละห้องมีนักเรียนประมาณห้องละ 24 คน ซึ่งหากรวมจำนวนนักเรียนของกลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยจะมีทั้งหมด 6,840 คน

“ดร.โกศล เพ็ชร์สุวรรณ์” ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาคให้ข้อมูลว่า ตอนนี้โรงเรียนแต่ละแห่งมีความร่วมมือกับ Super Science High School ประเทศญี่ปุ่น ในลักษณะของโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องโดยมีการทำกิจกรรมทางวิชาการร่วมกันมา 6 ปี ผ่าน International Science Fair ซึ่งเป็นการนำเสนอโครงงานด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้น ม.5

“ไม่เพียงเท่านั้น เรายังมีอาจารย์จากสาขาวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในพื้นที่มาเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักเรียน ทั้งการบรรยายพิเศษ การร่วมจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ให้กับเด็ก ๆ ดียิ่งขึ้น”

การเสริมแกร่งให้กับนักเรียนได้ครอบคลุมถึงเด็กชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น แม้ทางโรงเรียนจะใช้หลักสูตรแกนกลางของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แต่จะเพิ่มความเข้มข้นให้มากขึ้นกับวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ที่จะมีเนื้อหาเชิงลึก และเน้นการลงมือทำโครงงานจริงผ่าน Machine Shop ที่นำเนื้อหาด้านวิชาการมาบูรณาการกับการทำงาน ขณะเดียวกัน ยังใช้การสอบ PISA ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) มาเป็นตัวชี้วัดส่วนหนึ่งของตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนอีกด้วย

นอกจากนี้ กลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยยังร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ (KOSEN National Institute of Technology) ประเทศญี่ปุ่น สำหรับพัฒนานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นให้มีคุณสมบัติในการรับทุนเข้าศึกษาต่อในชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์

“เมื่อเด็กจบ ม.3 และเข้าไปเรียนต่อที่ KOSEN 5 ปี จะได้ Associate Degree ซึ่งหากเขาจบระดับนี้แล้วจะได้รับการยอมรับ และเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม แต่หากต้องการเรียนต่อปริญญาตรีก็สามารถทำได้ โดยเรียนอีก 2 ปี จะได้ปริญญา ซึ่งเราเริ่มดำเนินการมา 2 ปีแล้ว ด้วยการส่งเด็กไปสัมผัสและคุ้นเคยกับสถาบันก่อน และปีนี้จะเป็นปีแรกที่เราคัดเลือกเด็กเข้าไปเรียนต่อที่ KOSEN”

“ดร.โกศล” บอกว่าโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาคในระยะแรกมีแผนการดำเนินงานถึงปี 2561 ซึ่งมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพระดับเดียวกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของนานาชาติ และจากการทำงานที่ผ่านมาถือว่าสอดรับกับเป้าหมาย เห็นผลได้จากผลการประเมิน PISA ของปี 2012 และปี 2015 โดยคะแนนของนักเรียนโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยนั้นสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD

“เด็กของเราจบไปจะเรียนต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์ 30% ด้านวิทยาศาสตร์ 30% และ 20% เรียนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ส่วนอีก 10% เรียนต่อด้านอื่น ๆ ตอนนี้เราเริ่มขยายให้โรงเรียนในเขตพื้นที่มาเรียนรู้กับเรา แล้วครูของเราเป็นครูพี่เลี้ยง โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งจะอบรมครูชั้น ม.3 เพื่อนำเทคนิคการสอนไปสอนเด็ก ๆ ซึ่งเป็นช่วงชั้นที่ต้องสอบ PISA เพื่อส่งผลต่อผลประเมินของไทยให้มีคะแนนเพิ่มขึ้น”

เพราะกลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไปพร้อมกัน