ชงแผนสิ่งแวดล้อมอีอีซีผุด 8 โรงกำจัดขยะ-

กระทรวงทรัพยากรฯชง “บิ๊กตู่” อนุมัติแผนสิ่งแวดล้อม EEC 4 ปี วงเงิน 13,572 ล้านบาท พร้อมชุดโครงการเร่งด่วน Flagship Project ระดมสร้างโรงงานกำจัดขยะ-บำบัดน้ำเสีย “แปดริ้ว-บางละมุง-เกาะล้าน-พัทยา-ปลวกแดง-มาบตาพุด” อีก 8 แห่ง วงเงินเฉียดหมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานภายหลังการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) หรือบอร์ด EEC ชุดเล็ก เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอร่างแผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พ.ศ. 2561-2564 ให้กับที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนที่จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC ชุดใหญ่) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อพิจารณาอนุมัติกรอบวงเงิน 13,572 ล้านบาท และแผนในวันที่ 23 มกราคม 2563

อีก 19 ปี ขยะล้นทะลัก EEC

ทั้งนี้ ผลการศึกษาสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ EEC พบว่าใน 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง) เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติตามมา โดยคุณภาพอากาศมีการตรวจพบ ก๊าซโอโซน (O3), ฝุ่นขนาดเล็ก (PM10), สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs), คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก-ลำคลองสาขาเสื่อมโทรมลง, มีน้ำเสียจากชุมชนระบายลงสู่แม่น้ำลำคลองส่งผลต่อคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง

ปัจจุบันมีโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่รวม 9,000 แห่ง มีการผลิตของเสียอุตสาหกรรมประมาณปีละ 5.1 ล้านตันในจำนวนนี้สามารถกำจัดได้เพียงร้อยละ 49 พบการลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรมตามที่สาธารณะต่าง ๆ ด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถกำจัดขยะมูลฝอยได้เพียงร้อยละ 34 จากปริมาณขยะที่เกิดขึ้นรวม 4,300 ตัน/วัน และยังมีขยะตกค้างสะสมจากการกองทิ้งไว้ในที่ต่าง ๆ อีก 2 ล้านตัน โดยคาดการณ์ว่าในปี 2580 จะมีปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากปัจจุบันหรือวันละ 8,600 ตัน มีขยะสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านตัน จำนวนประชากรมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว หรือจาก 3.51 ล้านคน ในปัจจุบันเป็น 6.9 ล้านคน ในปี 2580

นอกจากนี้ในพื้นที่ EEC ยังมีจำนวนโครงการที่ต้องจัดทำ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กับรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสุขภาพ (EHIA) เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นชัดว่ายังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่นี้ต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงกลไกและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้ง EIA IEE และ EHIA เพื่อลดความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศที่เปราะบางของพื้นที่

แผนสิ่งแวดล้อม 3 ระยะ

ดังนั้นเพื่อให้มีการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมและรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติให้สอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ EEC ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงเสนอแนวทางการจัดการออกเป็น 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 (2560-2563) เป็นระยะเวลาการวางแผนหรือการก่อสร้างหรือการเตรียมความพร้อมและอนุมัติโครงการพัฒนาในพื้นที่ อาทิ สนามบินอู่ตะเภา-รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ให้ใช้หลักการป้องกันไว้ก่อน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาพิจารณากำหนดเป็นมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ระยะที่ 2 เป็นระยะที่เริ่มการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา-โรงซ่อมบำรุงอากาศยาน-รถไฟความเร็วสูง-รถไฟรางคู่-ท่าเรือแหลมฉบัง/มาบตาพุดระยะ 3 การตั้งโรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ในจังหวัดทั้ง 3 จะเกิดการพัฒนาเมืองจากการก่อสร้างที่พักอาศัย สถานพยาบาล ระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับผู้คนจำนวนมาก การเคลื่อนย้ายแรงงาน จนก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่นละอองขนาดเล็กและสิ่งแวดล้อมในเมือง มีความต้องการบริโภคอาหารและใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น

และระยะที่ 3 (2566 เป็นต้นไป) โรงงานอุตสาหกรรมและโครงการลงทุนขนาดใหญ่จะเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบ เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรม-การท่องเที่ยว/บริการ-พาณิชยกรรม มีประชากรแฝงและแรงงานต่างด้าวเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลควบคุมติดตามสิ่งแวดล้อมอย่างรอบคอบทั้งระบบ

86 โครงการ งบฯ 13,572 ล้าน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างปี 2561-2564 ซึ่งอยู่ในแผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ EEC ระยะที่ 1 หน่วยงาน
ต่าง ๆ ได้เสนอโครงการเพื่อบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการเพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมรวม 86 โครงการ วงเงินรวม 13,572 ล้านบาท โดยเป็นการขอจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล 9,298 ล้านบาท กับงบฯที่ให้เอกชนดำเนินการหรือเป็นการร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) อีกจำนวน 4,273 ล้านบาท แบ่งเป็นแผนงานตามยุทธศาสตร์ 4 ยุทธศาสตร์คือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีจำนวน 27 โครงการ วงเงินรวม 9,387 ล้านบาท (ภาครัฐ 5,113 ล้านบาท-เอกชนดำเนินการ 4,273ล้านบาท) ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเมือง-ชุมชนน่าอยู่จำนวน 14 โครงการเป็นวงเงินจากภาครัฐรวม 417 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจำนวน 8 โครงการ วงเงินจากภาครัฐรวม 134 ล้านบาท และ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพจำนวน 34 โครงการ วงเงินจากภาครัฐรวม 3,633 ล้านบาท

Flagship ขอโครงการเร่งด่วน

นอกจากนี้ยังมีการขออนุมัติโครงการเร่งด่วน (Flagship Project) อีก 2 กลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มที่ 1 การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเน้นการจัดการมลพิษที่เกิดขึ้นและที่สะสมอยู่ในพื้นที่ 8 โครงการ วงเงินรวม 8,231 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้ (งบประมาณปี 2561) จะเริ่มโครงการแรกคือ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา (ซอยวัดหนองใหญ่) เมืองพัทยา จ.ชลบุรี วงเงิน 1,094 ล้านบาท โดยจะใช้เงินที่ได้จากปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 188 ล้านบาท ดำเนินการก่อน

จากนั้นในปีงบประมาณ 2562 จะเริ่มอีก 7 โครงการที่เหลือ คือ โครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย Cluster 2 อ.บางละมุง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี วงเงิน 3,000 ล้านบาท, โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการน้ำเสียในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ มาบตาพุด จ.ระยอง วงเงิน 1,400 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยแบบผสมผสาน จ.ฉะเชิงเทรา วงเงิน 1,073 ล้านบาท โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียรวม อ.ปลวกแดง วงเงิน 960 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดมูลฝอยติดเชื้อ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สมุทรปราการ ปราจีนบุรี สระแก้ว วงเงิน 357 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย เกาะล้าน จ.ชลบุรี วงเงิน 200 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดมูลฝอย จ.ฉะเชิงเทรา วงเงิน 146 ล้านบาท

กับกลุ่มที่ 2 เตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมและการฟื้นคืนทรัพยากรธรรมชาติในอนาคต เน้นการศึกษา วิเคราะห์ตามประเมินผลเพื่อปรับปรุงเกณฑ์ค่ามาตรฐานเพื่อส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น รวมทั้งจัดกิจกรรมฟื้นฟู ฟื้นคืน อนุรักษ์ ประกอบด้วย 6 โครงการ วงเงินรวม 325 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้ (งบประมาณปี 2561) จะเริ่มโครงการแรกคือ โครงการเสริมสร้างการท่องเที่ยวทางทะเลระยองเชิงอนุรักษ์อย่างเป็นระบบและการรองรับพัฒนาใน EEC พื้นที่ชายฝั่ง อ.แกลง อ.เมือง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง วงเงิน 128 ล้านบาท โดยจะใช้เงินที่ได้จากปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 32 ล้านบาท ดำเนินการก่อน

โครงการพัฒนาป่าชุมชนเมืองเพื่อลดสภาวะโลกร้อน จ.ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา สระแก้ว สมุทรปราการ วงเงิน 5 ล้านบาท โดยจะใช้เงินที่ได้จากปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 1 ล้านบาท ดำเนินการก่อน

จากนั้นในปีงบประมาณ 2562 จะเริ่มอีก 4 โครงการที่เหลือ คือ โครงการยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ เขาแหลมหญ้า หมู่เกาะเสม็ด เขาชะเมา เขาวง จ.ระยอง วงเงิน 100 ล้านบาท โครงการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพื้นที่ EEC จ.ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา วงเงิน 72 ล้านบาท, โครงการจัดทำการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ในพื้นที่ EEC วงเงิน 60 ล้านบาท, โครงการการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเขตพื้นที่ EEC วงเงิน 20 ล้านบาท

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือสแกน QR Code