รับเหมาเร่งเต็มสูบ “สายสีเขียว” BTS ปรับแผนเปิดหวูดต้นปี’62-

รอลุ้นรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยาย “หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” ระยะทาง 18.7 กม. ปักหมุด 16 สถานี ที่วิ่งเชื่อมต่อพื้นที่ชานเมืองกรุงเทพฯ-ปทุมธานี มีแนวโน้มจะเปิดใช้เร็วขึ้นจากแผนกลางปี 2563

หลังงานก่อสร้าง ณ เดือน ก.ย.มีความก้าวหน้า 43.62% เร็วกว่าแผน 1.34%

มีเสียงยืนยันจาก “สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” บอสใหญ่ “บีทีเอสซี-บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ” จะใช้กลยุทธ์ทยอยเปิดหวูดที่ละสถานีเหมือนสายสีเขียวใต้ “แบริ่ง-สมุทรปราการ” ที่ปัจจุบันเปิดบริการจากแบริ่ง-สำโรง

“เราหารือเบื้องต้นกับกรุงเทพมหานคร ที่เป็นคู่สัญญา จะพยายามเปิดบริการสายสีเขียวเหนือ 1 สถานีจากหมอชิต-สถานีห้าแยกลาดพร้าว ภายในไตรมาสแรกของปี 2562 เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนและเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณแยกลาดพร้าว”

สำหรับสถานีอื่น ๆ ที่เหลือ “บิ๊กบีทีเอส” ระบุว่า มีแนวโน้มจะทยอยเปิดบริการตามความก้าวหน้าของงานก่อสร้าง ขึ้นอยู่กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเร่งงานก่อสร้างได้มากน้อยแค่ไหน ในส่วนของบีทีเอสมีความพร้อม เนื่องจากปี 2561 รถขบวนใหม่ที่สั่งซื้อจะเริ่มนำมาวิ่งบริการแล้ว คาดว่าจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นได้

ด้านความก้าวหน้างานก่อสร้าง “สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข” ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า งานก่อสร้างโดยรวมทั้งโครงการ แบ่งเป็น 4 สัญญา ถึงวันที่ 15 ก.ย. สร้างเร็วกว่าแผนอยู่ 1.34%

“สัญญาที่ 1” งานก่อสร้างโครงสร้างโยธาช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 12 กม. จำนวน 12 สถานี วงเงิน 15,279 ล้านบาท ของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ มีความก้าวหน้า 43.60% ช้ากว่าแผน 3%

เนื่องจากบริษัทมีงานก่อสร้างในมือจำนวนมาก เช่น มอเตอร์เวย์ ทางคู่ สนามบิน จึงทำให้ประสบปัญหาเรื่องแรงงานไม่เพียงพอ ขณะนี้กำลังโยกคนงานจากโครงการอื่นที่งานก่อสร้างจะแล้วเสร็จมาแทน

“สัญญาที่ 2” งานก่อสร้างโครงสร้างโยธา ช่วงสะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 7 กม. จำนวน 4 สถานี วงเงิน 6,729 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า UN-SH-CH (บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น, บจ.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น และ บจ.ไชน่า อาร์เบอร์) เป็นผู้ก่อสร้าง มีความก้าวหน้า 44.60% เร็วกว่าแผน 4.60%

“สัญญาที่ 3” งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงเเละอาคารจอดแล้วจร ประกอบด้วย งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง โรงซ่อมบำรุง ศูนย์ควบคุมการเดินรถ โรงจอดรถไฟฟ้าและอาคารจอดแล้วจร วงเงิน 4,042 ล้านบาท ของกิจการร่วมค้า STEC-AS (บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บจ.เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอ็นจิเนียริ่ง) มีความก้าวหน้า 37.35% เร็วกว่าแผน 0.7%

เช่นเดียวกับ “สัญญาที่ 4” งานออกแบบควบคู่ก่อสร้างงานระบบราง ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต วงเงิน 2,869 ล้านบาท ผู้รับจ้าง กิจการร่วมค้า STEC-AS (บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บจ.เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอ็นจิเนียริ่ง) ทำผลงานรุดหน้า 50.32% เร็วกว่าแผน 6.84%

ทั้งโครงการคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จเดือน ก.พ. 2562 พร้อมเปิดบริการกลางปี 2563

เป็นความก้าวหน้าของรถไฟฟ้าอีก 1 สายทางที่กำลังจะมาหา อยู่ที่ “กทม.” จะสามารถเคลียร์ปัญหาหนี้กว่า 6 หมื่นล้านบาทได้ทันเวลา จนทำให้ “บีทีเอส” ผู้รับจ้างเดินรถสามารถเปิดหวูดได้ดั่งหวังหรือไม่

เพราะถ้าหนี้ยังไม่เคลียร์ “รฟม.” คงไม่เปิดไฟเขียวให้ง่าย ๆ