คว้าโอกาสลงทุนใน “เมียนมา” เข้าใจ “ความต่าง-กม.ซับซ้อน”-

“เมียนมา” ได้รับคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวต่อเนื่องทุกปีด้วยจีดีพี 8% ไม่แปลกที่จะเป็นเป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลก รวมถึงจากไทย แต่ด้วยความที่เพิ่งเปิดประเทศ ปัญหาและอุปสรรคยังคงปรากฏให้เห็น สมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมาได้จัดงาน “Myanmar Insight 2017” แชร์ประสบการณ์และเทคนิคการลงทุนในเมียนมาให้ประสบความสำเร็จ

เข้าใจ “เมียนมา” ในหลากมิติ

“ณัฐวิน พงษ์เภตรารัตน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท Tharaphu Decor จำกัด ผู้บุกเบิกการลงทุนในเมียนมาและรองนายกสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมากล่าวว่า การทำธุรกิจเมียนมาไม่สามารถยกกิจการไปในไซซ์เดียวและราคาเดียวกันจากประเทศไทยไปขายได้ ชาวเมียนมายังมีความต่างจากเราหลายเรื่อง การปิดประเทศ 50 ปีส่งผลอย่างมากต่อการศึกษาและความเป็นอยู่ของคนในประเทศ ตอนนี้เมียนมาอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ทั้งยังมีประเด็นเรื่องภาษา เชื้อชาติ วัฒนธรรม และชนกลุ่มน้อยมากกว่า 130 ชนเผ่า เป็นโจทย์สำคัญในการที่จะศึกษาก่อนลงทุน

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่าชาวเมียนมามีความภักดีกับแบรนด์สินค้ามาก เช่น แบรนด์เครื่องครัวตราม้าจะได้รับความนิยมอย่างยิ่ง แบรนด์ไทยจะได้ชื่อว่าคุณภาพดี นี่เป็นจุดแข็งสำหรับสินค้าไทย จึงแนะนำว่า การทำตลาดในเมียนมาจะต้องสร้าง “Brand Loyalty” ขึ้นมาให้ได้

ณัฐวินเสริมว่า ปัจจุบันชาวพม่ากว่า 40 ล้านคน จากประชากร 53 ล้านคน มีโทรศัพท์มือถือใช้ และกว่า 60% เป็นสมาร์ทโฟน “พักกลางวันในบางโรงงาน ชาวเมียนมาก็จะเปิดเฟซบุ๊ก ซื้อสินค้าออนไลน์ เพราะการเดินทางในเมียนมายังลำบาก รถติด ของไม่ได้หาซื้อง่าย ๆ เหมือนในไทย และเฟซบุ๊กคือโซเชียลมีเดียอันดับหนึ่งของเมียนมา มีการแชร์กันเร็วมาก”

นี่เป็นหนึ่งในโอกาสของไทย หากต้องการลงทุนในเมียนมาที่เป็นตลาดใหม่ การทำการตลาดแบบใช้เงินเยอะ ๆ ไม่ง่าย แต่เฟซบุ๊กจะช่วยได้ในการโฟกัสกลุ่มเป้าหมายและใช้งบฯการตลาดไม่มาก

เทคนิคทำธุรกิจกับชาวเมียนมา

สำหรับเรื่อง “คน” ณัฐวินเสนอแนะว่า ให้ลองมองหาชาวเมียนมาที่ทำงานในบริษัทไทยก่อน ส่งกลับไปเป็นหัวหน้างานในประเทศตัวเอง เนื่องจากเป็นคนชาติเดียวกันจะสามารถถ่ายทอดความรู้ได้ดีกว่าในภาษาท้องถิ่น ขณะที่มีความเข้าใจในระบบงานของบริษัทไทยมากกว่า

“การเข้าหาชาวเมียนมาเพื่อทำธุรกิจ ต้องเข้าใจนิสัยและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ เช่น ชาวเมียนมาจะกินข้าวที่บ้าน กลางวันจะหิ้วปิ่นโตไปทาน ตอนเย็นกลับมากินข้าวกันพร้อมหน้าพร้อมตา ดังนั้นการจะชวนคู่ค้าหรือผู้ที่ติดต่อไปกินข้าว ถ้าเป็นมื้อกลางวันน่าจะเหมาะสมกว่า” ณัฐวินกล่าวและว่า

แม้สังคมเมียนมาจะเปลี่ยนไปเป็นสังคมชนชั้นกลางมากขึ้น ใช้จ่ายมากขึ้น แต่ส่วนมากยังคงให้ความสำคัญกับระบบอาวุโสและการเข้าวัดทำบุญในวันพระหรือวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส เขาจะเข้าวัดกันมากกว่าไปเดินห้าง

หรือการติดต่อหน่วยงานรัฐเพื่อเริ่มทำธุรกิจ แนะนำว่าให้หาบริษัทกฎหมายที่ไว้วางใจช่วยดูแล เพราะค่าดำเนินการ ค่าเช่าในเมียนมาสำหรับต่างชาตินั้นสูงมาก หากเราเริ่มต้นดี มีฐานที่แข็งแรงในตอนแรก อาจจ่ายแพงหน่อยแต่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อ ๆ ไปได้

รับมือ “กฎหมาย” ที่ซับซ้อน

จากที่เมียนมาเพิ่งเปิดประเทศไม่นาน การปฏิรูปทุกมิติจึงเกิดขึ้นรวมถึงด้านกฎหมาย “ยุวดี เทียนงาม” เลขาธิการสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมาและในฐานะที่ปรึกษาการลงทุนในเมียนมากล่าวว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ยังมองว่ากฎหมายเมียนมามีความซับซ้อน ล่าช้า และเปลี่ยนแปลงบ่อย แต่ที่เปลี่ยนแปลงบ่อยนั้นเพราะประเทศเมียนมาต้องการพัฒนากฎหมายให้เทียบกับนานาประเทศ จึงยังมีการพัฒนาปรับปรุงตลอด

การทำธุรกิจในเมียนมาควรจะเริ่มต้นโดยมีวัตถุประสงค์ชัดเจน เนื่องจากข้อจำกัดมีอยู่มาก เพื่อที่จะทำให้ศึกษากฎหมายเกี่ยวข้องได้ง่ายขึ้น เช่น หากต้องการตั้งโรงงานก็ให้ดูกฎหมายเกี่ยวกับการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม และควรติดตามประกาศจากกระทรวง เนื่องจากเมียนมามีประกาศค่อนข้างเยอะเพื่อซัพพอร์ตกฎหมายหลัก

ขณะที่ “โธมัส คลอทซ์” ผู้อำนวยการบริษัท Roland Berger ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์ ซึ่งได้เข้าไปรับงานที่ปรึกษาหลาย ๆ โครงการจากรัฐบาลเมียนมาให้คำแนะนำว่า ความสำเร็จในการทำธุรกิจในเมียนมาเกิดขึ้นได้จาก 5 ปัจจัย คือ 1.การรักษาชื่อเสียงในด้านบวก 2.การเข้าหาและรักษาความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล 3.ความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจในต่างแดน 4.ลงทุนเทรนนิ่งเซ็นเตอร์เพื่อช่วยฝึกฝนแรงงานไร้ทักษะ และเป็นหนึ่งในกำลังการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเมียนมา และ 5.การปรับใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ธุรกิจ

“บริษัทยุโรปจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จในเมียนมาเกิดขึ้นจากที่พวกเขานำเทคโนโลยีมาปรับใช้” คลอทซ์กล่าว