ชำแหละ พ.ร.บ.แข่งขันฯ “ติดดาบ” 7 อรหันต์ “อิสระ” ปลอดการเมือง-

ในการเสวนาหัวข้อ “ก้าวสู่ยุคใหม่การแข่งขันทางการค้ากับพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 (ฉบับใหม่)” ซึ่งกรมการค้าภายในได้จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 ตุลาคม 2560 แทน พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ฉบับปัจจุบัน โดยกฎหมายฉบับใหม่จะมี 6 หมวด ได้แก่ หมวด 1 คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า หมวด 2 สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า หมวด 3 การป้องกันการผูกขาดและการค้าที่ไม่เป็นธรรม หมวด 4 พนักงานเจ้าหน้าที่ หมวด 5 การฟ้องร้องคดีเรียกค่าเสียหาย และหมวด 6 บทลงโทษ รวมทั้งหมด 92 มาตรา แต่จะไม่ใช้บังคับกับส่วนราชการ-รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ หรือชุมนุมสหกรณ์ หรือธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะดูแล

7 อรหันต์มาจากการสรรหา

หมวด 1 คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า มี 7 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการอื่น ๆ อีก 5 คน มาจากการ “สรรหา” โดยคณะกรรมการสรรหา ทั้งนี้ “กรรมการ” ต้องไม่ดำรงตำแหน่งใดในองค์กรธุรกิจ หรือเป็นหุ้นส่วนที่มีอำนาจบริหาร หรือมีหุ้นเกินกว่า 5% ของบริษัท, ไม่เป็นข้าราชการ-พนักงาน-ลูกจ้างรัฐราชการส่วนท้องถิ่น ไม่เป็นที่ปรึกษา ไม่ดำรงตำแหน่งในสถาบัน หรือสมาคมภาคเอกชนใด ๆ ขณะที่มาตรา 16 ของ พ.ร.บ. ยังห้ามไม่ให้ผู้พ้นจากตำแหน่งกรรมการ ไม่ถึง 2 ปี ไปรับตำแหน่งในบริษัทเอกชนอีกด้วย

ในมาตรา 17 กำหนดอำนาจหน้าที่ให้คณะกรรมการ สามารถเสนอแนะรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง และระเบียบ รวมถึงแนวทางปฏิบัติ เพื่อกำกับดูแลธุรกิจให้แข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม การพิจารณาเรื่องร้องเรียนและสอบสวน การพิจารณาให้คำวินิจฉัย และวางระเบียบการสืบสวนและสอบสวนของคณะอนุกรรมการสอบสวน ประกาศแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ ดำเนินคดีอาญาตามที่ผู้เสียหายร้อง กำหนดโทษปรับทางปกครอง เชิญบุคคลมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบายหรือความเห็น เป็นต้น

หมวด 2 สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นหน่วยงานของรัฐ เพื่อรับผิดชอบงานด้านธุรกิจของคณะกรรมการแข่งขันฯ และดำเนินการด้านต่าง ๆ การติดตามสถานการณ์การแข่งขัน โดยให้มี “เลขาธิการ” เป็นผู้รับผิดชอบงานของสำนักงานมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี

5 พฤติกรรมผูกขาดการค้า

หมวด 3 การป้องกันการผูกขาดและการค้าไม่เป็นธรรม ซึ่งมีพฤติกรรมด้านการประกอบธุรกิจ 5 ด้าน ตามมาตรา 50 ห้ามไม่ให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาด (เบื้องต้นยึดเกณฑ์ตามกฎหมายเดิม) หมายถึง ผู้ประกอบการ 1 รายที่มีส่วนแบ่งตลาด 50% และมีรายได้ 1,000 ล้านบาท หรือตลาดที่มีผู้ประกอบการ 3 ราย ที่มีส่วนแบ่งรวมกัน 75% และมีรายได้ 1,000 ล้านบาท มีพฤติกรรม 1) กำหนดราคาซื้อขายสินค้าร่วมกัน 2) กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมกระทบต่อการแข่งขัน 3) ระงับหรือลดหรือจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อ และจำหน่าย 4) แทรกแซงการประกอบธุรกิจคนอื่นโดยไม่มีเหตุผล

มาตรา 51 เรื่องการ “ควบรวม” หมายถึง ทั้งการควบรวมบริษัท A+B เป็นบริษัท C, การรวมบริษัท A+B เป็น A หรือ B, หรือบริษัท A บริษัท B เป็น A B C (พฤติกรรมการลงทุนไขว้ การครอบงำกิจการ การเข้าครองทรัพย์สินหรือหุ้น, บริษัทผู้ถือหุ้นรายใหญ่ การร่วมทุน การเป็นกรรมการร่วมในกลุ่มบริษัท) หากรวมแล้วมีผลต่อการแข่งขัน มีอำนาจเหนือตลาด ต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการ หากควบรวมโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิด แต่หากรวมแล้วไม่มีผลต่อการแข่งขันก็สามารถแจ้งภายใน 7 วันหลังควบรวม

มาตรา 54 ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการร่วมกันกระทำเพื่อ “จำกัดการแข่งขัน” หรือทำให้เกิด “การผูกขาด” แบบ “ฮั้วรุนแรง (Cartel Hardcore)” 4 ด้าน คือ กำหนดราคาขาย-ปริมาณการขาย-สมรู้กันในการประมูล (ฮั้วประมูล)-กำหนดแบ่งพื้นที่ ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค มีโทษอาญารุนแรง

มาตรา 55 ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการร่วมกันจำกัดการแข่งขัน หรือ “ฮั้วแบบอ่อน” เช่น ลดคุณภาพสินค้า แต่งตั้งผู้แทนจำหน่าย กำหนดเงื่อนไขการรับซื้อ เป็นต้น แต่ “ยกเว้น” ผู้ประกอบการที่ร่วมกันกระทำ ตามมาตรา 56 ได้แก่ 1) ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทแม่-ลูกที่มีนโยบายหรืออำนาจสั่งการเหมือนกัน 2) ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง 3) ธุรกิจแฟรนไชส์ 4) ลักษณะข้อตกลงที่กำหนดตามกฎกระทรวง

และมาตรา 57 ห้ามผู้ประกอบการดำเนินการกระทำใด ๆ ที่ “ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม” มาตรานี้มีความหมายที่ “กว้างมาก” หากมีเพียงพฤติกรรมกีดกันการแข่งขัน, ใช้อำนาจเหนือตลาดที่มีอยู่อย่างไม่เป็นธรรม, กำหนดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ ก็เข้าข่ายความผิดมาตรานี้ทั้งหมด และมาตรา 58 ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการในประเทศ “ทำสัญญากับผู้ประกอบการในต่างประเทศอย่างไม่มีเหตุผลสมควร” ทำให้เกิดการผูกขาด ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและผู้บริโภค

พนักงานมีอำนาจครอบจักรวาล

หมวด 4 พนักงานเจ้าหน้าที่มี “อำนาจ” เรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ เอกสารหลักฐาน หรือเข้าไปตรวจสอบในสถานที่ทำการ ที่ผลิต หรือจำหน่าย เก็บสินค้าตัวอย่างไปตรวจสอบ อำนาจเทียบเท่า “พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ”

หมวด 5 การฟ้องร้องคดีและเรียกค่าเสียหาย กำหนดให้ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ โดยผ่านคณะกรรมการ/สมาคม/มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค โดยความผิดอาญาผ่านศาลทรัพย์สินทางปัญญา ความผิดทางปกครองผ่านศาลปกครอง

นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่เน้นการให้ “อิสระ” ในการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า “ไม่ให้ถูกครอบงำโดยใคร” การขยายความครอบคลุมถึงรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นไปตามระบบที่สากล แต่มีข้อ “ยกเว้น” ให้กับรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายเฉพาะดูแล หรือ่มีเงื่อนไขบางประเภท

การปรับบทลงโทษจากเดิมมีโทษอาญาทั้งฉบับ มาเป็นโทษทางอาญาโดยผ่านศาลทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องธุรกิจมากที่สุด และมีบทลงโทษทางปกครองโดยศาลปกครอง จึงมั่นใจว่าจะช่วยลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจได้