ปลุก 28 สนามบินดึงเอกชนร่วมทุน PPP ให้สิทธิพัฒนาเชิงพาณิชย์บูมท่องเที่ยวหัวเมืองรอง-

กรมท่าอากาศยานปลุก 28 สนามบินภูมิภาค รับผู้โดยสารและท่องเที่ยวโต ดึงเอกชนมืออาชีพบริหารสนามบินเล็ก พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ นำร่อง “อุบลราชธานี” เตรียมสร้างเพิ่ม 3 แห่ง พังงา ลำพูน มุกดาหาร ผุดสนามบินส่วนตัวรับนักธุรกิจ เล็งที่ดินราชบุรี-นครปฐม ดีเดย์ ม.ค.ปีหน้าเปิดใช้อาคารหลังใหม่แม่สอด “นกแอร์” ประเดิมบินย่างกุ้ง “หัวหิน” เนื้อหอม แอร์เอเชียมาเลย์บินตรงหัวหิน-กัวลาลัมเปอร์

นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า กรมจะต้องปรับบทบาทหน้าที่คิดแบบเอกชนมากขึ้น เพื่อรองรับตลาดธุรกิจการบินเติบโตต่อเนื่องทุกปี จากสถิติในปี 2560 มีผู้โดยสารใช้บริการสนามบิน 28 แห่งในความดูแลของกรมอยู่ที่ 18.6 ล้านคน เพิ่มจากปี 2559 อยู่ที่ 17 ล้านคน คาดว่าในปี 2561 จะเติบโต 7%

โลว์คอสต์ดันผู้โดยสารพุ่ง 7%

“เราเป็นแอร์พอร์ตโอเปอเรเตอร์ ต้องคิดแบบเอกชน เพื่อให้แอร์พอร์ตของเรามีคนมาใช้ให้มากที่สุด เพราะคนใช้เยอะจะเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจอื่น ๆ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประเทศและท้องถิ่น ซึ่งปี 2561 กรมได้รับงบฯ 6,000 ล้านบาท พัฒนาและขยายสนามบิน และปี 2562 จะได้อีก 12,000 ล้านบาท ส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมปี 2560 อยู่ที่ 1,400 ล้านบาท มีกำไร 600 ล้านบาท”

สำหรับงบประมาณแต่ละปีที่กรมได้รับเพิ่มขึ้นเท่าตัวเนื่องจากเป็นการลงทุนรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญโหมดการเดินทางทางอากาศ จากปรากฏการณ์เติบโตของโลว์คอสต์แอร์ไลน์ (สายการบินต้นทุนต่ำ) ที่เทรนด์มาทางนี้หมดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้สนามบินของ ทย.มาช่วยบินเมืองรองข้ามภูมิภาคหรือต่างประเทศเพื่อลดความแออัดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ และอีก 5-10 ปีข้างหน้าการบินเอเชีย-แปซิฟิกจะโตเกิน 7%

เปิดเอกชนบริหารสนามบินเล็ก

“ขณะเดียวกันสนามบินที่เล็กและไม่ active ไม่มีเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ แต่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว จะอาศัยเอกชนมีประสบการณ์มาช่วยในการสร้างสนามบิน หรือบริหาร โดยอาจจะลงทุนเพิ่มด้านโครงสร้างพื้นฐาน ใช้ความรู้มาบริหารให้เกิดการใช้สนามบินให้มากขึ้น เช่น เพชรบูรณ์ ชุมพร ตาก ปัตตานี โคราช” นายดรุณกล่าวและว่า

ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปรายละเอียดให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 ให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาถึงแนวทางที่ชัดเจน จะให้ บมจ.ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) หรือจะให้เอกชนที่มีประสบการณ์มาบริหาร หากได้รับอนุมัติจะเริ่มศึกษาการร่วมทุนจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน เช่น รูปแบบ ระยะเวลาสัมปทาน 10 ปี 20 ปี 30 ปี ส่วนแบ่งรายได้ที่รัฐจะได้รับ คาดว่าปลายปี 2561 จะเปิดประมูล

“กรมเคยเปิดทดสอบความสนใจหรือ market souding มีสถาบันการเงินต่างประเทศและนักลงทุนจากจีนให้ความสนใจ หากจะเข้าร่วมจริง ๆ ก็ต้องร่วมกับบริษัทไทยสัดส่วน 51:49 เพราะเราจะเปิดประมูลแบบนานาชาติ”

จีบ 6 แอร์ไลน์เพิ่มเที่ยวบิน

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการใช้พื้นที่สนามบินให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะดึงสายการบินขยายเส้นทางบินในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เชิญ 6 สายการบิน ได้แก่ นกแอร์ การบินไทย ไทยไลอ้อนแอร์ ไทยแอร์เอเชีย ไทยสมายล์ บางกอกแอร์เวย์ส ให้รับทราบข้อมูลแผนพัฒนาของแต่ละสนามบิน28 แห่ง รวมเบตงที่กำลังจะวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างวันที่ 10 พ.ย.นี้

“จะจีบแอร์ไลน์ต่าง ๆ ว่าเรามีแผนการตลาดแบบนี้ ซึ่งแต่ละสนามบินทาง กพท.อนุมัติให้บินได้ไม่เกิน 3 สายการบิน ให้ข้อมูลแต่ละสายบินถึงสิทธิประโยชน์ เช่น ส่วนลดค่าธรรมเนียมการจอด ค่าเช่าออฟฟิศ และเปิดโอกาสให้แต่ละแอร์ไลน์ยื่นข้อเสนอต่าง ๆ หลังจากนี้สายการบินจะกลับไปทำแผนธุรกิจ ส่วนกรมก็ต้องทำข้อมูลผู้โดยสารให้แต่ละแห่งมีดีมานด์แค่ไหนทั้งคนไทยและต่างชาติ”

ต้นปีหน้าอวดโฉมแม่สอด

นายดรุณกล่าวอีกว่า หลังกรมขยายสนามบินแม่สอด โดยสร้างอาคารหลังใหม่ พร้อมขยายรันเวย์เพิ่ม สามารถรองรับเครื่องบินขนาด 737 เตรียมจะเปิดใช้อย่างไม่เป็นทางการภายในเดือน ม.ค. 2561 และเปิดเต็มรูปแบบในปี 2562 จะรองรับเที่ยวบินในประเทศและต่างประเทศ ล่าสุดนกแอร์ขอเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศจากแม่สอด-ย่างกุ้งอีกครั้งหลังหยุดไป 2 ปี

“นกแอร์ปัจจุบันบินจากกรุงเทพฯไปกลับแม่สอดวันละ 10 เที่ยวบิน และวันที่ 29 ต.ค.นี้ จะกลับมาบินแม่สอด-ย่างกุ้งอีกครั้ง 3 เที่ยว/สัปดาห์ จากผลตอบรับของนกแอร์ครั้งนี้กรมจึงจะขยายตลาดเพิ่ม”

หัวหินกลับมาคึกมาเลย์ขอบินตรง

ล่าสุดที่สนามบินหัวหินหลังไม่ได้เปิดบินระหว่างประเทศมาตั้งแต่ต้นปี 2560 ขณะนี้มีสายการบินมาเลเซียแอร์เอเชีย ขอเปิดเส้นทางบินหัวหิน-กัวลาลัมเปอร์ แบบประจำทุกวัน คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 50,000 คนต่อปี เตรียมลงนามบันทึกข้อตกลง MOU กับกรมในเดือน ต.ค.นี้ และเริ่มเปิดบริการต้นปี 2561 ขณะที่ทางไทยแอร์เอเชียกำลังตัดสินใจจะเปิดเส้นทางบินตรงรับผู้โดยสารกลุ่มนี้จากหัวหินไปยังจังหวัดในภูมิภาค เช่น อุดรธานี เชียงใหม่

“หลังจากคณะกรรมการการบินพลเรือน หรือ กบร. มีมติให้ส่วนลดสายการบินที่มาใช้สนามบินหัวหินแบบขั้นบันได 3 ปี ค่าธรรมเนียมการจอด เส้นทางบินใหม่ ในปีแรก 80% ปีที่สอง 65% ปีที่สาม 50% และลดค่าเช่าสำนักงาน 50% กรมจะขยายสิทธิ์ไปยังสนามบินอื่น ๆ ด้วย”

เล็งพังงา-ลำพูน-มุกดาหาร

นายดรุณกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันกรมเตรียมจะสร้างสนามบินแห่งใหม่เพิ่มเติม ต่อจากสนามบินเบตงซึ่งเป็นสนามบินแห่งที่ 29 จะมีที่ จ.พังงา เพื่อบรรเทาความแออัดของสนามบินภูเก็ต และกระบี่ ซึ่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ศึกษาและมีข้อสรุปแถบทะเลอันดามันซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวมีนักเดินทางจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นทุกปี ควรจะมีสนามบินแห่งที่ 3 ที่พังงา รวมถึงสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 ที่ จ.ลำพูน และ จ.มุกดาหารรองรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยกรมขอจัดสรรงบประมาณปี 2561 ศึกษาความเป็นไปได้แล้ว จะใช้เวลา 1 ปี

อีกทั้งกรมกำลังศึกษารายละเอียดการก่อสร้างสนามบินสำหรับเที่ยวบินส่วนตัว (private jet airport) เนื่องจากปัจจุบันตลาดการบินรูปแบบนี้เติบโตขึ้นมาก ดูจากสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิที่ปัจจุบันมีเที่ยวบินแออัด และประเทศไทยมีศักยภาพที่จะลงทุนสร้างสนามบินเพิ่ม

ปักหมุดราชบุรีไพรเวตแอร์พอร์ต

ผลศึกษาที่ออกมาในเบื้องต้นระบุควรมีสนามบินสำหรับเที่ยวบินส่วนตัวเพิ่ม ทางด้านทิศตะวันตก ยังไม่ระบุพื้นที่ เช่น จ.ราชบุรี นครปฐม เนื่องจากเป็นพื้นที่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม สามารถเดินทางเข้ากรุงเทพฯไม่เกิน 1 ชั่วโมง และห้วงทางเดินอากาศเพียงพอที่จะจัดสรรเส้นทางบินได้ ส่วนการลงทุนนั้นมีแนวโน้มที่จะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน PPP หรือเอกชนจะลงทุนทั้งหมดก็ได้ โดยกรมอาจจะจัดหาพื้นที่ให้


และกรมกำลังศึกษากฎระเบียบให้เอกชนรับสิทธิบริหารหรือพัฒนาพื้นที่ส่วนการพัฒนาเชิงพาณิชย์ภายในสนามบิน เช่น ร้านค้า ร้านกาแฟ แลกเปลี่ยนเงิน เป็นต้น เหมือนกับสนามบินอุดรธานีที่ให้สิทธิ ปตท. จะเริ่มจากสนามบินที่กำลังหมดสัญญาเช่าพื้นที่ เช่น อุบลราชธานี อาคารสนามบินแม่สอดหลังใหม่ จะเปิดประมูลในปี 2561