ซิตี้แบงก์ ชี้เงินเฟ้อสหรัฐส่อลากยาว อาจใช้เวลา 10 ปีกลับจุดเดิม

ซิตี้แบงก์ อัพเดตเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลัง เผชิญความเสี่ยงสภาพคล่องทั่วโลก ทั้งเงินเฟ้อพุ่ง-ราคาพลังงานกดดัน-ความไม่สมดุลของห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทาน นักวิเคราะห์ซิตี้มองเงินเฟ้อของสหรัฐลากยาว ชี้อาจใช้เวลาถึง 10 ปี กว่าจะกลับไปยังจุดเดิมก่อนเกิดสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน คาดจีดีพีไทยโตได้ 3.5% จากท่องเที่ยวเริ่มกลับมา พร้อมคงคาดการณ์ กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% 3 ครั้งภายในปีนี้-ปีหน้า แนะลงทุนกระจายความเสี่ยงรับภาวะตลาดผันผวน-ดอกเบี้ยขาขึ้น

วันที่ 9 สิงหาคม 2565 นายเคน เพ็ง นักยุทธศาสตร์การลงทุนประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิกฟิก ธนาคารซิตี้แบงก์ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 นักวิเคราะห์ซิตี้คาดการณ์ว่าทั่วโลกยังต้องเผชิญกับสภาวะสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังสูงในหลายประเทศ ปัญหาห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทานที่ไม่สมดุล นโยบายและมาตรการด้านการเงินและธนาคารของแต่ละประเทศที่เข้มงวดขึ้น ปัญหาราคาพลังงานจากเหตุการณ์รัสเซีย-ยูเครน เป็นต้น

ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจ นำโดยสหรัฐ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังพบอุปสรรคจากทั้งปัญหาเงินเฟ้อยังคงพุ่งขึ้นต่อเนื่อง อัตราการว่างงานและการปรับขึ้นค่าจ้าง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ยกเว้นก๊าซธรรมชาติ รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ และภาคบริการ

ตลอดจนการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เดินหน้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายเชิงรุกเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ทำให้นักวิเคราะห์ซิตี้มองว่ากว่าสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐจะกลับไปยังจุดเดิมก่อนเกิดสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน อาจใช้ระยะเวลาถึง 10 ปี

ในขณะที่ประเทศจีนแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจ แม้ยังได้รับแรงกดดันจากนโยบายควบคุมโควิดเป็นศูนย์ (Zero COVID Policy) โดยพบว่าดัชนี PMI ภาคบริการมีการดีดตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงการที่รัฐบาลจีนได้เตรียมออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของตลาดทุน โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจประเทศ

จากข้อมูลข้างต้นทำให้ภาพรวมตลาดการลงทุนยังคงเผชิญความท้าทายต่อเนื่อง จากความผันผวนของตลาดหุ้นและพันธบัตรรัฐบาล แต่นักวิเคราะห์ซิตี้มีมุมมองบวกต่อตราสารหนี้คุณภาพสูงที่ได้ผลประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่อัตราผลตอบแทนคงที่ได้เพิ่มขึ้นถึงระดับที่พันธบัตรสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับพอร์ตการลงทุนโดยรวม นอกเหนือจากการถือครองเงินสดเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจกดดันตลาดเพิ่มเติมได้ เช่น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้น นักลงทุนควรจับตาประเด็นสำคัญของสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิด เพื่อกระจายความเสี่ยงและรักษาผลประโยชน์พอร์ตลงทุนในระยะยาว พร้อมกันนี้ได้แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 ได้แก่

– Bonds are Back ! – ยังแนะนำให้ลดการถือเงินสดด้วยการลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้ระยะยาวที่คาดการณ์ว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดี เช่น ตั๋วเงินคลัง (Treasury bill) พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี (10-year US Treasuries) เป็นต้น

– Long term leaders – การลงทุนในผู้นำอุตสาหกรรมระยะยาว เพื่อแสวงหาผลตอบแทนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ มีรายได้สม่ำเสมอและมีโอกาสเติบโตสูงในระยะยาว โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มที่จ่ายปันผลและมีการเติบโตของการจ่ายปันผลอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพลังงานสะอาด กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า กลุ่มเทคโนโลยีดิจิทัลไลเซชั่น ฟินเทค กลุ่มการดูแลสุขภาพและเภสัชกรรม ตลอดจนกลุ่มเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

– Alternative Investments in Uncertain Times – การลงทุนทางเลือกนอกเหนือจากสินทรัพย์หลักในช่วงตลาดผันผวนเพื่อป้องกันความเสี่ยงในระยะยาว เช่น กองทุนบริหารความเสี่ยง หรือในสินทรัพย์ตราสารทุนนอกตลาด หรือหุ้นนอกตลาด (Private Equity) เป็นต้น

นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ซิตี้คาดหวังถึงการมาของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 และในปี 2566 จากปัจจัยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยที่แสดงให้เห็นถึงแข็งแกร่งกว่าที่คาด อันเป็นผลจากการที่ภาครัฐยกเลิกข้อจำกัดการเดินทาง รวมถึงการที่ประเทศเพื่อนบ้านกลับมาเปิดพรมแดนอีกครั้ง ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดซิตี้มองว่ามีแนวโน้มที่จะยังคงขาดดุลในปี 2565 สืบเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงและการใช้จ่ายในภาคค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น

แต่ในปี 2566 มองว่าการเกินดุลจะเริ่มทยอยสูงขึ้นจากรายได้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่กลับมา โดยซิตี้ได้ปรับคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีไทยในปี 2565 ลดลงเล็กน้อยที่ 3.5% (จากเดิม 3.6%) และปี 2566 อยู่ที่ 4.5% (จากเดิม 4.8%) เนื่องด้วยสถานการณ์การใช้จ่ายภาครัฐ และการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัว รวมถึงซิตี้ยังคงความคาดการณ์ว่า กนง.จะเตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สามครั้ง โดยครั้งแรกคือในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 และอีกสองครั้งภายในช่วงครึ่งปีแรก 2566 ตามที่ได้คาดการณ์ไว้ที่ก่อนหน้านี้เช่นเดิม

ด้านนางสาวเจน โอเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 ซิตี้แบงก์ได้เตรียมนำเสนอกองทุนใหม่ ๆ ให้ลูกค้าซิตี้โกลด์ รวมถึงซิตี้ไพรออริตี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่การเติบโตด้านการลงทุน ล่าสุดกับการจับมือ เวลลิงตัน แมเนจเมนต์ (Wellington Management) บริษัทชั้นนำด้านบริหารกองทุนในสหรัฐ นำเสนอ 2 กองทุนเปิดใหม่ล่าสุด

ได้แก่ เวลลิงตัน โกลบอล เฮลท์ แคร์ อิควิตี้ ฟันด์ (Wellington Global Health Care Equity Fund) ที่มีนโยบายการลงทุนในบริษัทในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพทั่วโลก และเวลลิงตัน เอเชีย เทคโนโลยี ฟันด์ (Wellington Asia Technology Fund) ที่มีนโยบายการลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งปัจจุบันทั้งสองกองทุนเป็นกระแสการลงทุนที่น่าจับตามอง