แบงก์คาด กนง. มติไม่เอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ลุ้นบาทอ่อนแตะ 38 บาท/ดอลลาร์

เงิน-หุ้น

แบงก์ประเมินกรอบค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่า 37.20-37.90 บาทต่อดอลลาร์ จับตา ประชุม กนง.คาดมติไม่เอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% พร้อมตัวเลขนำเข้า-ส่งออกหนุนดุลบัญชีขาดดุลน้อยลง เฟดปรับมุมมองเร่งขึ้นดอกเบี้ย ประเมินฟันด์โฟลว์ทรงตัว หลังเทขายไปก่อนหน้าเด้งรับบอนด์ยีลด์พุ่ง 

วันที่ 25 กันยายน 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 26-30 กันยายน 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 37.20-37.75 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามและมีผลกับตลาดค่อนข้างมากจะเป็นการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แม้ว่าตลาดจะมองว่า กนง.ควรปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี) ถึง 0.50% ต่อปี แต่เชื่อว่า กนง.จะปรับขึ้นเพียง 0.25% ต่อปี 

นอกจากนี้ จะมีประกาศตัวเลขนำเข้าและส่งออกของไทย ซึ่งประเมินกันว่าการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่การนำเข้าน้อยลง ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยลง 

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศจะมีตัวเลขเงินเฟ้อ PPE ของสหรัฐ เดือนสิงหาคม แม้ว่าตัวเลขจะออกมาดีหรือแย่อาจจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยตลาดติดตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดถึงท่าทีต่อรายงานการคาดการณ์นโยบายการเงิน (Dot Plot) ว่าจะมีมิศทางอย่างไร จะยังคงเร่งขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ 

และตัวเลขเงินเฟ้อของยูโรโซนเดือนกันยายน แม้ว่าตัวเลขจะออกมาสูง แต่ตลาดได้รับรู้ไปพอสมควรแล้ว โดยคาดการณ์ว่าจะทำให้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 3% จากเดิมที่คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 2.5% ขณะที่ประเทศจีนจะมีตัวเลขดัชนีภาคการผลิต PMI จะฟื้นตัวหรือไม่ ซึ่งหากภาพสะท้อนการฟื้นตัว จะช่วยหนุนค่าเงินหยวนได้ และส่งผลดีต่อค่าเงินบาท เนื่องจากเงินบาทมีความสัมพันธ์กับค่าเงินหยวนสูงถึง 77% 

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า นักลงทุนขายหุ้นสิทธิ 1,600 ล้านบาท และตลาดพันธบัตร (บอนด์) ขายสุทธิ 7,900 ล้านบาท ซึ่งเป็นแรงเทขายบอนด์ตัวยาวค่อนข้างเยอะ ส่วนหนึ่งมาจากผลตอบแทน (Yield) ปรับเพิ่มขึ้น โดยมองไปข้างหน้าคาดว่านักลงทุนต่างชาติจะเทขายเล็กน้อยทั้งตลาดหุ้นและบอนด์ประมาณ 1,000 ล้านบาท 

“แนวโน้มค่าเงินบาทที่มีโอกาสทดสอบ 38 บาทต่อดอลลาร์ก็มีถึง แต่จะมาจากปัจจัย Risk of Sentiment ซึ่งไม่ใช่เรื่องของเฟดแล้ว แต่จะมาจากสถานการณ์ของรัสเซียและยูเครน รวมถึงอียูจะมีการ Sanction เพิ่มเติมหรือไม่ และเลือกตั้งกลางเทอมในอิตาลียังมีแรงกดดันค่าเงินยูโร ทำให้เงินบาทมีโอกาสไปต่อได้ ส่วนฟันด์โฟลว์ค่อนข้างนิ่ง เพราะสัญญาณไม่ชัดเจนว่าฝรั่งจะเอาอย่างไรกับประเทศไทย หลังจากก่อนหน้าเทขายค่อนข้างเยอะแล้ว”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับกรอบเคลื่อนไหวค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 37.30-37.90 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทมีแนวโน้มยังคงอ่อนค่า ขณะที่ตลาดทบทวนคาดการณ์นโยบายธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สู่การขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับสูงขึ้นและตรึงไว้ที่ราว 4.6% ในปี’66 ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) สหรัฐ พุ่งขึ้นและหนุนค่าเงินดอลลาร์

ทั้งนี้ ธนาคารคาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จากระดับ 0.75% ในการประชุมวันที่ 28 กันยายนนี้ ด้วยมติไม่เป็นเอกฉันท์ โดยมีเสียงส่วนน้อยให้ปรับขึ้น 0.5% 

“ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนสุดรอบ 16 ปีหยวนจีน รอบ 2 ปี เปโซฟิลิปปินส์ และรูปีอินเดีย แตะระดับอ่อนค่าสุดเป็นประวัติการณ์ ปอนด์อังกฤษ 37 ปี ยูโรกว่า 20 ปี ท่ามกลางการโยกเงินออกจากทุกสินทรัพย์และเข้าพักในดอลลาร์ ซึ่งมีความเสี่ยงเรื่องกระแสเงินทุนไหลออกจากภูมิภาคตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย ขณะตลาดกังวลเรื่องภาวะตลาดการเงินตึงตัวมากขึ้นจากนโยบายเฟด”