ผู้ว่าฯ ธปท. รับดูแลค่าเงินบาทบางช่วง ลั่น 38 บาทไม่กระทบเสถียรภาพ

ผู้ว่าแบงก์ชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย ค่าเงินบาท
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ธปท.ย้ำเศรษฐกิจไทยปี’66 ฟื้นตัวต่อเนื่องและทั่วถึงมากขึ้น ขยายตัวได้ 3.8% อานิสงส์บริโภค-ท่องเที่ยว ยัน “เงินบาทอ่อนค่า” มาจากดอลลาร์แข็งค่า 18% ไม่สามารถคุมได้ รับเข้าไปดูแลเงินบาทบางจังหวะที่ผันผวนเร็ว-แรงเกินไป ชี้ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ ไม่ได้กระทบเสถียรภาพประเทศ

วันที่ 4 ตุลาคม 2565 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “นโยบายการเงินกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน” ว่า โจทย์นโยบายการเงินของ ธปท.ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องแบบ Smooth Take Off คาดว่าปีนี้จะขยายตัว 3.3% และปี 2566 ขยายตัว 3.8%

ซึ่งการฟื้นตัวหลัก ๆ มาจากแรงขับเคลื่อนการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ทำให้รายได้ครัวเรือนและภาคเกษตรดีขึ้น และการท่องเที่ยวที่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง จึงปรับประมาณตัวเลขนักท่องเที่ยวจาก 6 ล้านคน เป็น 9.5 ล้านคน และในปี 2566 จะอยู่ที่ 21 ล้านคน

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับสูงเกือบ 7% และสูงกว่ากรอบเป้าหมาย 1-3% แต่คาดว่าภายในปี 2566 จะเริ่มคลี่คลาย และกลับสู่เป้าหมายได้ โดยสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 6.3% และปี 2566 จะอยู่ที่ 2.6% อย่างไรก็ดี สิ่งที่ ธปท.จับตาจะเป็นตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานที่หากสะท้อนเครื่องยนต์เงินเฟ้ออาจติดได้ หากมีสัญญาณวิ่งเร็วขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่าปีนี้เงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 2.6% และปี 2566 จะอยู่ที่ 2.4% แต่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

“ภาพรวมเศรษฐกิจปี’66 ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องและทั่วถึงมากขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว ซึ่งการเติบโตได้ 3.8% เรา Take เรื่องเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงไปแล้ว ซึ่งแรงส่งสำคัญเป็นอุปสงค์ในประเทศและการท่องเที่ยว ซึ่งเรามั่นใจว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจยังมีเสถียรภาพ แม้เศรษฐกิจโลกชะลอและตลาดการเงินยังคงมีความผันผวนอยู่ และการฟื้นตัวจะไม่สะดุด”

สำหรับกรณีที่มีคำถามว่า “ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสูงทำให้เงินบาทอ่อนค่าหรือไม่” นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่า หลัก ๆ มาจากการแข็งค่าของดอลลาร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท.ไม่สามารถควบคุม (Control) ได้ จึงเป็นเหตุผลทำให้เงินบาทอ่อนค่า ไม่ได้มาจากเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) หรือเงินทุนไหลออก แต่มาจากการแข็งค่าของดอลลาร์ 17-18% ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าไป 12% ถือว่าอยู่ระดับกลาง ๆ หากเทียบกับภูมิภาค

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าค่าเงินบาทไม่ได้เคลื่อนไหวผิดเพี้ยนจากภูมิภาค เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ระดับกลาง ๆ ค่อนไปทางอ่อนค่า

ขณะที่ส่วนต่างดอกเบี้ยทำให้เงินบาทอ่อนค่า จากเงินทุนไหลออกหรือไม่ ตอบเลยว่าไม่ เพราะปัจจุบันยังไม่เห็นเงินทุนไหลออกอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งปัจจุบันเงินทุนไหลเข้าไทยรวมแล้วอยู่ที่ 3.5 พันล้านดอลลาร์ แม้ว่าในเดือนกันยายนจะมีเงินไหลออกบ้างราวกว่า 600 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่ได้เป็นการไหลออกที่น่ากังวล หรือเป็นนัยสำคัญ

ขณะเดียวกัน ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่ลดลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 2.3-2.4 แสนล้านดอลลาร์ พบว่ามาจากการที่สกุลอื่น ๆ ในทุนสำรอง และเมื่อเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจะทำให้มูลค่าสินทรัพย์เหล่านี้ลดลง แต่ยอมรับว่า ธปท.มีการเข้าไปดูแลค่าเงินบาทในบางจังหวะ

เพราะ ธปท.ไม่ต้องการเห็นความผันผวนแรงเกินไป เร็วเกินไป แต่การเข้าไปไม่ได้เข้าไปเพื่อไปฝืนตลาด หรือยันให้อยู่ระดับที่ ธปท.ต้องการ เพราะรู้ดีว่าทำไม่ได้ เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินบาทมาจากการแข็งค่าของดอลลาร์เป็นหลัก และไทยก็มีบทเรียนจากปี’40 ชัดเจน ว่าอะไรที่ไปฝืนตลาดมาก ๆ จะทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น

“หากถามว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าไปสู่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ หมายถึงประเทศไทยขาดเสถียรภาพหรือไม่ ตอบว่าไม่ เพราะเงินบาทที่อ่อนค่าหลัก ๆ มาจากดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น และหากดูด้านเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยถือว่าแข็งแกร่ง มีเงินทุนสำรองต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.2 เท่า แม้ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้จะขาดดุล แต่ปีหน้าคาดว่าจะกลับมาเกินดุลได้

และหากดูเงินทุนสำรอง 2.3 แสนล้านดอลลาร์ ถือเป็นอันดับ 12 ของโลก รองจากประเทศเยอรมนี แต่สูงกว่าสหรัฐ และอิตาลี-อังกฤษ เทียบในอาเซียนรองสิงคโปร์เท่านั้น สะท้อนว่าเรามีเสถียรภาพ”