ผู้ว่า ธปท.ยันทุนสำรองฯ ลดจากดอลลาร์แข็งค่า รับเข้าดูแลแค่ช่วงผันผวนสูง

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ผู้ว่า ธปท.ชี้เป้าหมายหลักทำให้เงินเฟ้อกรอบเข้าเป้าหมาย 1-3% ไม่ได้กำหนดดอกเบี้ยในภาวะปกติ ต้องอยู่ระดับใด ยันระยะยาวดอกเบี้ยแท้จริงต้องบวก เพื่อสร้างแรงจูงใจการออม พร้อมสร้างกันชน รับความไม่แน่นอน ย้ำไม่กังวล ทุนสำรองลดลง แจงเป็นผลมาจากดอลลาร์แข็งค่า ไม่ได้เข้าไปสู้เพื่อพยุงค่าเงินบาท

วันที่ 1 ตุลาคม 2565 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยจะเข้าสู่ระดับภาวะปกติ (normalization) ได้เมื่อไร และจะไปอยู่ในอัตราที่เท่าไรนั้น มองว่า สิ่งที่ ธปท.ดูจะเป็นเรื่องของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น (Outcome) เป็นหลัก คือ อัตราเงินเฟ้อเข้ากรอบเป้าหมาย 1-3% ซึ่งจะเน้นมากกว่าการกำหนดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุด (Terminal Rate) ว่าจะอยู่ตรงไหน เพราะธนาคารกลางหลายแห่งที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยสูง เนื่องจากเศรษฐกิจร้อนแรง จึงจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยให้สูงกว่าระดับดอกเบี้ยสมดุล (Neutral Rate) จึงแตกต่างจากบริบทของไทย

และในท้ายที่สุดเมื่อเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพมีการสูบฉีดเต็มที่ขยายตัวได้ 4-5% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Rate) จะต้องเป็นบวก เพื่อสร้างแรงจูงใจในการออม เพราะถ้าอัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบในระยะยาวจะสร้างแรงจูงใจให้ผิดเพี้ยน

ขณะเดียวกัน การถอนคันเร่งเข้าสู่ภาวะปกติ normalization นอกจากจะสร้างเสถียรภาพการเงิน และยังสร้างความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) เพราะถ้า ธปท.ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะเป็นห่วงคนเป็นหนี้ และเงินเฟ้อปรับลง ซึ่งระยะต่อไปหากเกิดอะไรขึ้น ธปท.จะไม่มีช่องทางในการทำอะไรได้เลย ดังนั้น โจทย์หลักคือการสร้างกันชน (Buffer) ซึ่งจะประกอบด้วยอัตราดอกเบี้ย ทุนสำรองที่เพียงพอ หนี้ต่างประเทศระยะสั้น หนี้ครัวเรือนที่ไม่สูงจนเกินไป ถือเป็น Buffer สำคัญ และมีความจำเป็นที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพ เนื่องจากวันนี้เราเจอความไม่แน่นอนและผันผวนสูง

“คณะกรรมการฯ จะดูไปข้างหน้าแนวนโยบายการเงินสอดคล้องจะเป็นอย่างไร โดยจะต้องชั่งน้ำหนัก 3 ด้าน เสถียรภาพราคา เสถียรภาพระบบการเงิน และเสถียรภาพเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน Terminal Rate ไม่ได้มีตรรกะ เพราะตอนนี้เศรษฐกิจไม่ได้อยู่ในดุลยภาพของมัน เพราะมันไม่นิ่ง เราจึงต้องค่อย ๆ ขึ้นเพื่อให้เกิดสมดุลในแต่ละด้าน ซึ่งด้าน Policy space ไม่ใช่แค่การขึ้นดอกเบี้ย แต่เป็นการสร้าง Buffer ให้เพียงพอ”

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งวันนี้มีคำถามว่า ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยช้าและน้อยเกินไป ส่งผลให้บาทอ่อนค่านั้น หากดูการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่านมา ธปท.ได้ปรับดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.00% ต่อปี

และหากดูเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ของไทย พบว่าวันนี้ยังคงไหลเข้าสุทธิอยู่ที่ 3-4 พันล้านดอลลาร์ แม้ว่าจะส่วนต่างดอกเบี้ยกับสหรัฐมาก และหากเทียบประเทศเกาหลี ปัจจุบันดอกเบี้ยสูงกว่าไทยที่ 2.5%

แต่จะเห็นว่าเงินวอนอ่อนค่ากว่าไทยมาก ดังนั้น สะท้อนว่าการขึ้นดอกเบี้ยไปก็ไม่ได้ช่วยทำให้เงินอ่อนค่าน้อยลง ดังนั้น จะดูเฉพาะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูตัวอื่นประกอบด้วย

“การดูแลเงินบาท เป้าหมายหลักของ ธปท.คือดูแลความผันผวน ไม่ให้นำกว่าภูมิภาคหรือประเทศเกิดใหม่ ซึ่งหากดูอัตราแลกเปลี่ยนของไทยวันนี้ ถือว่าอ่อนค่าไม่ได้มากนัก หากเทียบกับประเทศอื่น”

สำหรับเรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศที่ปรับลดลงนั้น นายเมธีกล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศปรับลดลงมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ประกอบกับในตระกร้าของทุนสำรองฯ ธปท. มีการกระจายความเสี่ยงไปในหลายสกุล ดังนั้น เมื่อดอลลาร์แข็งค่าส่งผลให้ทุนสำรองฯ ของ ธปท.จึงลดลงตามการอ่อนค่าของเงินสกุลต่างๆ เทียบกับดอลลาร์

นอกจากนี้ หากดูทุนสำรองฯ ของไทยในปัจจุบันไม่ได้ปรับลดลงจนน่าตกใจ หรือต่ำกว่าเพื่อนบ้าน เพราะหากดูทุนสำรองของไทยวันนี้ ถือว่ายังสูงกว่าหลายประเทศอยู่ที่ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ สูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และสูงเป็นอันดับ 6 เมื่อเทียบกับจีดีพี ซึ่งสูงกว่าสหรัฐและยุโรป และในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้น ทุนสำรองที่ลดลงไม่ได้น่ากลัว และหากประเมินความมั่นคงด้านต่างประเทศ ถือว่าไทยยังแข็งแกร่งมากในด้านเสถียรภาพด้านต่างประเทศ จึงไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าห่วง


“ทุนสำรองที่ลดลงไม่ได้มาจากการสู้ค่าเงินบาท ซึ่งมีบ้างที่ ธปท.เข้าไปเพื่อเข้าไปดูแลลดความผันผวนของเงินบาท ซึ่งไม่เหมือนบางประเทศที่ประกาศเข้าไปดูแลค่าเงินทุกวัน“