ธปท.เผยอุปสงค์ในประเทศ-ท่องเที่ยวฟื้นหนุนเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 โต

ดัชนีท่องเที่ยว
ภาพจาก Jack TAYLOR / AFP

ธปท.เผยแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 3 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์-ท่องเที่ยวปรับดีขึ้น ด้านเศรษฐกิจเดือนส.ค. การบริโภค-การลงทุนปรับดีขึ้น แม้การส่งออกลดลงจากเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว ส่วนเงินบาทพลิกจาก ”แข็งค่า” มาเป็น “อ่อนค่า” ในเดือน ก.ย. หลังดอลลาร์แข็งค่า-เฟดส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงิน

วันที่ 30 กันยายน 2565 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 คาดว่าจะยังเป็นภาพของการฟื้นตัวต่อเนื่อง จากครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามที่ ธปท.เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ว่าเศรษฐกิจไทยจะเห็นการฟื้นตัวต่อเนื่องได้ในครึ่งหลังของปีนี้ โดยปัจจัยอุปสงค์ที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและภาคการท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจ ดังนั้นแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวมากขึ้น

ชญาวดี ชัยอนันต์
ชญาวดี ชัยอนันต์

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจและการเงินในเดือนสิงหาคม 2565 ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ขยายตัวได้ 16% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งขยายตัวในทุกหมวดสินค้าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้และการจ้างงานปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีแรงกดดันด้านค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นในบางหมาวดสินค้า

ขณะที่ภาคบริการ โรงแรม ภัตตาคาร และขนส่งปรับดีขึ้น สะท้อนจากอัตราการเข้าพักโรงแรมที่สูงขึ้น แม้ว่านักท่องเที่ยวไทยจะลดลงจากเดือน ก.ค. ที่มีวันหยุดพิเศษเยอะ และมาตรการเที่ยวด้วยกัน อย่างไรก็ดี หากดูนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงมีจำนวนที่สูง 1.2 ล้านคน มาจากการผ่อนคลายมาตรการท่องเที่ยวและการเดินทางมากขึ้น โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังคงเข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งนับจากต้นปี-ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 4.4 ล้านคน

ด้านตลาดแรงงงานฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ โดยดูจากจำนวนผู้ประกันตนมาตรการ 33 ทยอยเพิ่มขึ้นกลับมาใกล้เคียงก่อนเกิดโควิด-19 เป็นสัญญาณที่ดีขึ้น รวมถึงอัตราการว่างงานของกลุ่มเด็กจบใหม่และระยะยาวปรับลดลง โดยจากการสำรวจอาชีพอิสระพบว่าสัญญาณเป็นบวกสะท้อนความเชื่อมั่นตลาดแรงงานที่ดีขึ้น

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ 1.9% ทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์และการก่อสร้าง ส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้าสินค้าทุนและยอดรถยนต์จดทะเบียนรถบรรทุกปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัว และยอดขายสินค้าหมวดก่อสร้างปรับตัวดีขึ้น สะท้อนไปยังความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและการผลิตทยอยปรับเฉลี่ยเหนือระดับ 50 แต่เป็นการปรับลดลงเนื่องจากมีความกังวลในเรื่องของโลหะที่คาดว่าจีนจะลงมาดัมพ์ราคา อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้า 3 เดือนความเชื่อมั่นปรับดีขึ้นทั้งภาคการผลิตและการลงทุน

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐปรับดีขึ้นเล็กน้อย ทั้งจากรายจ่ายประจำและการลงทุน โดยการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำมาจากเรื่องของสวัสดิการและเบี้ยบำเหน็จบำนาญ ขณะที่รายจ่ายการลงทุนมาจากคมนาคมและขนส่งสาธารณะ และรัฐวิสาหกิจลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและพลังงาน

ทั้งนี้ ในส่วนภาคต่างประเทศด้านการส่งออกชะลอลดลงจากเดือนก่อนหน้า 3.9% มาจากอุปสงค์ต่างประเทศชะลอตัวลงจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอ โดยหมวดที่ปรับลดลงจะเป็นสินค้าที่เคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน และสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่มีผลผลิตที่น้อยลง ด้านภาคผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว 2.4% มาจากการผลิตรถยนต์นั่งหลังจากปัญหาขาดแคลนชิปเริ่มคลี่คลาย

ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล แต่เป็นการขาดดุลที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นผลมาจากดุลบริการและเงินโอนปรับลดลง ซึ่งมาจากบริษัทต่างชาติส่งเงินกลับประเทศน้อยลง ทั้งนี้ หากนับตั้งแต่ต้นปี-ปัจจุบันขาดดุลบัญชีเดินสะพัดราว 1.83 หมื่นล้านดอลลาร์

“ภาพรวมเศรษฐกิจเดือนสิงหาคมถือว่ายังมีทิศทางการฟื้นตัวมาจากอุปสงค์ในประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งสอดคล้องกับตลาดแรงงานที่ปรับดีขึ้น แม้ว่าส่งออกจะปรับลดลงตามอุปสงค์ ขณะที่เดือนกันยายนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง”

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเดือน ส.ค. เฉลี่ยแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์ จากการที่ตลาดเงิน เปลี่ยนมาเป็นภาวะ Risk on หรือเปิดรับความเสี่ยงในการลงทุนมากขึ้น จากการที่ตัวเลขเงินเฟ้อออกมาชะลอลง ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจไม่เข้มงวดในการขึ้นดอกเบี้ย ประกอบกับเดือน ส.ค. เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ดี ทำให้เงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้น จากคู่ค้าคู่แข่ง ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER)ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย

แต่ภาพอัตราแลกเปลี่ยนเดือนตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. ถึง 22 ก.ย. เงินบาทอ่อนค่าลง หลัก ๆ มาจากดอลลาร์ที่กลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง หลังเฟดมีการส่งสัญญาณจะทำดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ แม้เงินเฟ้อ ส.ค.จะออกไม่มากนัก แต่ยังสูงกว่าที่ตลาดคาด อีกทั้งหลายธนาคารกลางหลักหลายประเทศ ยังมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาท และค่าเงินภูมิภาคอ่อนค่ามากขึ้น

นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ออกมาไม่ดี ทำให้เป็นแรงส่งต่อค่าเงินอ่อนค่าลง ดังนั้นเงินบาทอ่อนค่ามากขึ้น หากเทียบกับเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา

ส่วนภาพเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ส.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 7.86% จากอาหารสด ตามราคาผักและผลไม้เป็นหลัก ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 3.15% จาก 2.99% ทั้งจากหมวดอาหาร และที่ไม่ใช่อาหาร ตามการขึ้นของราคาอาหารสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ปีก่อนมีการลดค่าธรรมเนียมการศึกษาจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ฐานเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ระดับต่ำ

ส่วนการดำเนินนโยบายการเงิน จากการขึ้นดอกเบี้ยนั้น จะกระทบต่อเงินเฟ้อ และผู้กู้หรือไม่นั้น มองว่าที่ผ่านมา ธปท.มีการพิจารณาช่วงเวลา หรือไทม์มิ่งที่เหมาะสม ในการปรับนโยบายการเงิน ดังนั้นแม้จะมีการขึ้นดอกเบี้ย จะมีผลกระทบต่อภาระหนี้ผู้กู้เพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกัน เงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูง หากยังสูงต่อเนื่อง อาจส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชนมากกว่า ดังนั้นก็ต้องดูแลผลจากการขึ้นดอกเบี้ย ผ่านการหารือกับเจ้าหนี้ ให้มีการออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้กู้

“การเข้าไปดูแลปัญหาหลัก คือการดูแลเงินเฟ้อ ไม่ให้เครื่องยนต์ติด เพราะหากติดแล้วดับยาก เพราะเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น จะกระทบต่อค่าครองชีพของทุกคน ทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ที่จะได้รับผลกระทบทั้งหมด”